fbpx
Search
Close this search box.

ทุเรียนไทย เจอคู่แข่งเดือด หลังปีนี้ตั้งเป้าส่งออก 1.3 แสนล้านบาท

ราชาแห่งผลไม้ไทย ทุเรียน ที่ทำแชมป์ผลไม้ส่งออกสร้างรายได้มหาศาลให้กับไทย ในปีนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดว่าจะส่งออกทุเรียนไทยทะลุ 1.3 แสนล้านบาท แต่ถึงอย่างนั้น การส่งออกทุเรียนไทยในช่วงไตรมาสแรกชะลอตัว จากภัยแล้งในประเทศและการแข่งขันของทุเรียนประเทศเพื่อนบ้าน

เนื้อหา

"ทุเรียนไทย" ตั้งเป้าส่งออก 1.3 แสนล้านบาท

สำหรับการส่งออกในปีที่ผ่านมา ทุเรียนไทยได้ครองส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีนถึงร้อยละ 65.15 ด้วยปริมาณการนำเข้า 928,976 ตัน และพบว่าแม้ว่าทุเรียนไทยจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกทุเรียนของไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และมูลค่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้

โดยเป้าหมายในปี 2567 นี้ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้นมีนโยบายในการควบคุมคุณภาพผลไม้ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งผลผลิตตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ เพื่อให้การส่งออกทุเรียนไทยในปีนี้ทะลุ 1.3 แสนล้านบาท

"ทุเรียนไทย" กับคู่แข่ง เวียดนาม ฟิลิปปินส์

เกิดการแข่งขันส่งออก “ทุเรียน” ของหลายชาติ นอกจากไทยที่เคยเป็นผู้นำในเรื่องทุเรียนแล้ว สถานะนี้อาจสั่นคลอนโดยประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม-ฟิลิปปินส์-มาเลเซีย 

สำหรับในไตรมาสแรกนี้ ประเทศจีนได้มีการนำเข้าทุเรียนจากไทยเพียง 13,000 ตัน ลดลง 59% เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 570 ล้านหยวน (ราว 2.85 พันล้านบาท) ถือว่ามูลค่าลดลง 63.5% เทียบกับไตรมาสแรกปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากทุเรียนไทยเข้าสู่ตลาดจีนล่าช้ากว่าปกติ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศในท้องถิ่นไทยส่งผลกระทบต่อผลผลิตทุเรียนลดลง

ขณะที่นำเข้าทุเรียนเวียดนามถึง 35,000 ตัน เพิ่มขึ้น 48.1% เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1.28 พันล้านหยวน (ราว 6.4 พันล้านบาท) นอกจากนี้ยังมีประเทศฟิลิปปินส์ที่ส่งทุเรียนทางอากาศ ไปที่ประเทศจีนเฉลี่ยราว 4 ตันต่อเที่ยวบิน และประเทศมาเลเซียที่ส่งออกทุเรียนมาเลเซียแช่แข็งสู่จีน

"ทุเรียนไทย" กับภัยแล้งที่เกษตกรต้องรับมือ

จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เริ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน สร้างการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและเกิดภัยแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย อากาศที่ร้อนจัดและแล้งจัดนี้เอง ส่งผลให้สวนลูกทุเรียนในหลายพื้นที่ร่วงหล่นเสียหาย และยืนต้นตายจำนวนมาก แม้จะพยายามให้น้ำทั้งเช้าทั้งเย็น แต่ก็สู้สภาพอากาศที่ร้อนจัดไม่ไหว

สำนักงานเกษตรอำเภอครบุรี ระบุว่า พื้นที่ อ.ครบุรี มีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนกว่า 3,000 ไร่ เกษตรกรผู้เพาะปลูกประมาณ 322 ราย สร้างเม็ดเงินเข้าพื้นที่ปีละกว่า 100 ล้านบาท แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัดในปีนี้ คาดว่า ผลผลิตทุเรียนจะลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ซึ่งอาจจะทำให้เม็ดเงินที่ควรจะได้จากการจำหน่ายทุเรียนปีนี้ หายไปเกือบ 50 ล้านบาทเลยทีเดียว

ซึ่งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้เอง ถือเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนไทยต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ชาวสวนทุเรียนยังต้องรับมือกับปัญหาเพลี้ยและแมลงศัตรูของทุเรียน บุกเข้าทำลายต้นทุเรียนเสียหาย

อ้างอิงจาก

ผู้เขียน

Picture of ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่