fbpx
Search
Close this search box.

โครงการแก้หนี้ครัวเรือน ‘คุณสู้ เราช่วย’ เริ่มลงทะเบียน 12 ธ.ค.นี้

“คุณสู้ เราช่วย” โครงการแก้หนี้รายย่อย 2.1 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ 1.9 ล้านราย และมียอดหนี้รวมราว 8.9 แสนล้านบาท ได้รับการเห็นชอบจากครม.ในการแก้หนี้ ช่วยเหลือลูกหนี้ รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ภายใต้การร่วมมือของกระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาพัฒน์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เนื้อหา

โดยรายละเอียดโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่

มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์”

เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและพักภาระดอกเบี้ย ได้แก่

  •   โดยลูกหนี้ชำระค่างวดขั้นต่ำที่ 50% 70% และ 90% ของค่างวดเดิมในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ตามลำดับ ซึ่งค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด
  •   พักดอกเบี้ยไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี โดยดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับยกเว้นทั้งหมด หากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขตลอดระยะเวลามาตรการ (ชำระเงินตรงเวลาและไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกของการเข้าโครงการฯ)

สำหรับคุณสมบัติลูกหนี้ ที่เข้าร่วมมาตรการนี้ “จ่ายตรง คงทรัพย์

  1. มีวงเงินสินเชื่อรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกินที่กำหนด โดยพิจารณาแยกวงเงินตามประเภทสินเชื่อต่อสถาบันการเงิน ดังนี้
  •   สินเชื่อบ้าน / บ้านแลกเงิน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
  •   สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินไม่เกิน 8 แสนบาท
  •   สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท
  •   สินเชื่อธุรกิจ SMEs วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
  •   กรณีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต หากมีหนี้บ้านหรือรถที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น สามารถพิจารณาเข้ามาตรการรวมหนี้ได้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่สถาบันการเงินรับได้ โดยวงเงินเมื่อรวมแล้วไม่เกินเงื่อนไขที่กำหนด
  1. เป็นสินเชื่อที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567
  2. มีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
  •   เป็นหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน
  •   เป็นหนี้ที่ไม่ค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 30 วัน แต่เคยมีประวัติการค้างชำระเกิน 30 วัน และได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565

เงื่อนไขของการเข้าร่วมมาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์”

  1. ลูกหนี้ไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ ยกเว้นกรณีสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง เจ้าหนี้สามารถให้สินเชื่อเพิ่มเติมได้โดยจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามความเหมาะสม
  2. ลูกหนี้รับทราบว่า จะมีการรายงานข้อมูลต่อเครดิตบูโร (NCB) ถึงการเข้าร่วมมาตรการ
  3. หากลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระค่างวดขั้นต่ำได้ตามที่มาตรการกำหนด หรือไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ได้ เช่น ลูกหนี้ก่อหนี้ใหม่ก่อนระยะเวลา 12 เดือน ลูกหนี้จะต้องออกจากมาตรการและชำระดอกเบี้ยที่ได้รับการพักไว้ในระหว่างที่เข้ามาตรการ
  4. หากสัญญาสินเชื่อมีผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันต้องให้ความยินยอมในการเข้าร่วมมาตรการและลงนามในสัญญาค้ำประกันใหม่

มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ”

เป็นการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสีย(สถานะ NPL) แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) โดยลูกหนี้จะต้องเข้ามาเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้บางส่วน ซึ่งมาตรการนี้ช่วยลูกหนี้ เปลี่ยนจาก “หนี้เสีย” เป็น “ปิดจบหนี้” และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น

ในช่วงเริ่มต้น โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จะครอบคลุมลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไปผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Non-bank อื่น ๆ จะมีความช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม โดยขณะนี้กำลังหารือเรื่องที่มาของแหล่ง คาดว่าจะเห็นความคืบหน้าอย่างช้าในต้นปี 2568

ลูกหนี้ประเภทไหน เข้าร่วมโครงการได้บ้าง

สำหรับคุณสมบัติลูกหนี้ ที่เข้าร่วมมาตรการนี้ “จ่าย ปิด จบ”

  1. ลูกหนี้บุคคลธรรมดา ที่มีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (NPL) ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567
  2. มีภาระหนี้ต่อบัญชี ไม่เกิน 5,000 บาท โดยไม่จำกัดประเภทสินเชื่อ (สามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี)

ในอนาคต คาดว่าผู้ประกอบการในธุรกิจที่เป็น Non-Bank อื่น ๆ จะทยอยออกมาตรการช่วยเหลือที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันไป เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้มีความครอบคลุมและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้สินให้กับลูกหนี้ในวงกว้าง

สถาบันการเงินไหนเข้าร่วมมาตรการทั้งสองนี้บ้าง?

  •   ธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์
  •  สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)

ลงทะเบียนโครงการแก้หนี้ได้ที่ไหน?

ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการ ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” สามารถศึกษารายละเอียดของมาตรการและสมัครเข้าร่วมได้ที่ เว็บไซต์ BOT โดยเปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 8.30 น. ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 23.59 น.

ผู้เขียน

Picture of ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่