fbpx
Search
Close this search box.

สภาพัฒน์ จับตา หลังจำนวนผู้ว่างงานยาวเกิน 1 ปี พุ่งถึง 16.2% เด็กจบใหม่หางานยากขึ้น

สภาพัฒน์ เผย ไตรมาส 3/2567 จำนวนผู้ที่ว่างงานระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น ถึง 16.2% ซึ่งจำนวน 3 ใน 4 เป็นช่วงอายุ 20-29 ปี ทำเด็กจบใหม่หางานยากขึ้น แม้จบปริญญาตรี ขณะที่แรงงานภาคเกษตรลดลง 3.4 % เหตุภัยธรรมชาติเพิ่มขึ้น

เนื้อหา

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยอัตราว่างงาน (Unemployment Rate)  ไตรมาส 3 ของปีนี้ พบว่า มีผู้ว่างงานเฉลี่ย 414,000 คน ลดลงเล็กน้อยจากผู้ว่างงานในไตรมาสก่อน 1.07% แต่สูงกว่าผู้ว่างงาน ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า 401,000 คน

สำหรับสาขาที่การจ้างงานหดตัวลง คือ สาขาการขายส่ง/ขายปลีก ซึ่งลดลง 0.8% และสาขาการผลิตลดลง 1.4% โดยเฉพาะในสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งพ่วง ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีผลผลิต ที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 

จากสาเหตุของอุทกภัย ทำให้อัตราการจ้างงานภาคเกษตรหดตัวต่อเนื่องที่ 3.4% ส่วนสาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวได้ที่ 1.4% โดยสาขาการขนส่งและเก็บสินค้าขยายตัวได้มากที่สุดที่ 14% และสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่ 6.1%

นอกจากนี้ได้มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานทั้งสิ้น 74,000 คน ซึ่งกว่า 95% เป็นแรงงานในภาคการผลิต

เด็กจบใหม่หางานยากขึ้น 1 ปีก็ยังหางานไม่ได้ พุ่ง 16.2%

นอกจากนี้ ผู้ว่างงานระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าสูงถึง 16.2% หรือมีจำนวน 81,000 คน โดยกว่า 65% ระบุสาเหตุว่า หางานไม่ได้ ขณะที่ 71.3% ไม่เคยทำงานมาก่อน ซึ่งในจำนวนนี้ 3 ใน 4 นั้นอยู่ในช่วงอายุ 20 – 29 ปี (คนรุ่นใหม่ Gen Y – Z) 

แบ่งอัตราว่างงานตามระดับการศึกษาดังนี้

แรงงานระดับอุดมศึกษาว่างงาน 150,600 คน (อัตราว่างงาน 2.14%)

แรงงานระดับการศึกษามัธยมต้น 67,200 คน (อัตราว่างงาน 0.91%)

แรงงานระดับการศึกษามัธยมปลาย (สายสามัญ) 65,000 คน (อัตราว่างงาน 1.00%)

แรงงานระดับการศึกษาประถมและต่ำกว่า 59,200 คน (อัตราว่างงาน 0.38%)

แรงงานระดับการศึกษาวิชาชีพชั้นสูง 51,400 คน (อัตราว่างงาน 2.01%)

แรงงานระดับการศึกษาอาชีวศึกษา 20,500 คน (อัตราว่างงาน 1.32%)

จากข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่าแรงงานที่จบมหาวิทยาลัยมีอัตราว่างงานมากที่สุด 2.14% ซึ่งสูงกว่าแรงงานที่จบการศึกษาต่ำกว่า 

3 ประเด็นด้านแรงงานที่ต้องติดตาม และให้ความสำคัญ

  1. การส่งเสริมการปรับตัวของแรงงานในอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมให้เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ 

โดยปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้โครงสร้างการผลิตแบบเดิมไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงาน ทั้งการเลิกจ้าง การลด OT การใช้มาตรา 75 ในการจ่ายค่าจ้างในอัตราที่ต่ำลง การเปิดโครงการสมัครใจลาออก และการเกษียณก่อนกำหนด

เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ควรมีนโยบายที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับตัวเข้ากับระบบการผลิตใหม่ หรือเปลี่ยนไปผลิตสิ่งอื่น นอกจากนี้ ยังต้องมีการฝึกทักษะใหม่ (upskill) และพัฒนาทักษะใหม่ (reskill) ให้แก่แรงงาน เพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวหรือเปลี่ยนอาชีพได้ง่ายขึ้น

  1. การเตรียมความพร้อมด้านทักษะแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเพิ่มส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ และอาจจ้างแรงงานไทยประมาณ 170,000 คน ทุกภาคส่วนต้องเร่งการผลิต และพัฒนาทักษะของแรงงานไทยอย่างจริงจัง โดยเฉพาะด้าน STEM ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อจำกัดทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เพื่อเตรียมพร้อมให้แรงงานไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าว

  1. ผลกระทบต่อค่าครองชีพจากสถานการณ์อุทกภัยที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น

โดยสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายมากกว่า 7.7 แสนไร่ใน 53 จังหวัด ทำให้ในระยะถัดไป อาจส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของคนไทย เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะพืชระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้น และกลายเป็นการซ้ำเติมภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นผู้ประสบปัญหาน้ำท่วมโดยตรง

ผู้เขียน

Picture of ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่