เป็นช่วงระยะหลายทศวรรษ ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องรู้จัก และเผชิญกับคำว่า นโยบายจีนเดียว One china policy ที่ต้องใช้ความเข้าใจ และความระมัดระวังเป็นอย่างมากเพื่อไม่ให้เกิดผลที่ตามมา และนโยบายจีนเดียวคืออะไร และมีความเป็นมาอย่างไร
บีบีซีเล่าว่า นโยบายนี้มีที่มาย้อนกลับไปในปี 1949 และการสิ้นสุดลงของสงครามกลางเมืองในจีน ฝ่ายชาตินิยมที่พ่ายแพ้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ก๊กมินตั๋ง (Kuomintang) ล่าถอยไปอยู่เกาะไต้หวัน และตั้งรัฐบาลขึ้นที่นั่น ขณะที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่คว้าชัยชนะได้เริ่มปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งมีชื่อทางการว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China) ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่า ตัวเองเป็นตัวแทนจีนทั้งหมด
นับจากนั้น พรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองจีน ได้ขู่ว่า จะใช้กำลังถ้าไต้หวันประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ แต่จีนก็มีช่องทางติดต่อทางการทูตกับไต้หวันในช่วงไม่กี่ปีนี้เช่นกัน
ในตอนแรก รัฐบาลหลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ ยอมรับไต้หวัน เพราะต้องการหลบเลี่ยงจีนที่เป็นคอมมิวนิสต์ แต่กระแสลมทางการทูตได้เปลี่ยนทิศทาง เมื่อจีนและสหรัฐฯ เริ่มเห็นถึงความจำเป็นร่วมกันในการพัฒนาความสัมพันธ์ที่เริ่มขึ้นในยุคทศวรรษ 1970 ซึ่งสหรัฐฯ และประเทศต่าง ๆ เริ่มตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลไต้หวันและยอมรับรัฐบาลจีนแทน
แต่หลายประเทศก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับไต้หวันไว้ ผ่านสำนักงานการค้าหรือสถาบันวัฒนธรรม ส่วนสหรัฐฯ ยังคงเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน
นโยบายนี้เป็นการยอมรับจุดยืนของจีนทางการทูตว่า มีรัฐบาลจีนเพียงรัฐบาลเดียว ภายใต้นโยบายนี้ สหรัฐฯ ยอมรับและมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับจีน แทนที่จะเป็นเกาะไต้หวัน ซึ่งจีนเห็นว่า เป็นมณฑลที่แยกตัวออกไป และจะต้องกลับมารวมประเทศกับจีนในสักวันหนึ่ง
นโยบายจีนเดียวเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ และยังเป็นรากฐานทางการทูตและการทำนโยบายของจีนด้วย อย่างไรก็ตาม มันแตกต่างอย่างชัดเจนจาก “หลักการจีนเดียว” (One China principle) ซึ่งจีนยืนกรานว่า ไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้และจะต้องกลับมารวมกันในสักวันหนึ่ง
นโยบายของสหรัฐฯ ไม่ใช่การยอมรับจุดยืนของรัฐบาลจีน และรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงรักษาความสัมพันธ์ “อย่างไม่เป็นทางการที่เหนียวแน่น” กับไต้หวัน รวมถึงการขายอาวุธให้กับไต้หวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไต้หวันใช้ป้องกันตัวเองได้
แม้ว่ารัฐบาลไต้หวันอ้างว่า ไต้หวันเป็นประเทศเอกราช และมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สาธารณรัฐจีน” (Republic of China) แต่ประเทศใดที่ต้องการมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ต้องยุติความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับรัฐบาลไต้หวัน
เรื่องนี้ส่งผลให้ไต้หวันเผชิญกับการโดดเดี่ยวทางการทูตจากประชาคมโลก
หลังพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมานานหลายปี สหรัฐฯ ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลจีนในปี 1979 ในสมัยของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์
แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง สหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ซึ่งรับประกันการสนับสนุนไต้หวัน โดยกฎหมายนี้บัญญัติว่า สหรัฐฯ ต้องช่วยเหลือไต้หวันในการป้องกันตัวเอง ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไมสหรัฐฯ จึงขายอาวุธให้ไต้หวันอย่างต่อเนื่อง
สหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่า สหรัฐฯ สนับสนุนทางออกอย่างสันติระหว่างความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย และสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่าย “เจรจากันอย่างสร้างสรรค์”
สหรัฐฯ ยังคงรักษาความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับไต้หวันผ่านทางสถาบันอเมริกาในไต้หวัน (American Institute in Taiwan) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่จัดกิจกรรมทางการทูตต่าง ๆ
เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลจีนได้ผลประโยชน์มากที่สุดจากนโยบายนี้ ซึ่งทำให้ไต้หวันต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวทางการทูต
ประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่ยอมรับไต้หวันว่า เป็นประเทศเอกราช รวมถึงองค์การสหประชาชาติด้วย ไต้หวันต้องใช้ชื่ออื่นในการเข้าร่วมงานสำคัญและสถาบันต่าง ๆ อย่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games) และองค์การการค้าโลก (World Trade Organization)
แม้โดดเดี่ยว ไต้หวันก็ไม่ได้สูญเสียไปทั้งหมด
ไต้หวันได้ว่าจ้างกลุ่มนักเจรจาต่อรองที่ทรงอิทธิพลในกรุงวอชิงตัน รวมถึงอดีตวุฒิสมาชิกบ็อบ โดล ซึ่งสื่อสหรัฐฯ รายงานว่า เขาได้ช่วยจัดการติดต่อที่ส่งผลให้มีการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน
สหรัฐฯ ก็ได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับจีน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต่างชาติรายใหญ่ที่สุดและเป็นคู่ค้ามูลค่าสูงสุด ขณะที่ก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับไต้หวันต่อไป
สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายจีนเดียวได้อย่างสมดุลในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ยังต้องรอดูต่อไปว่าสหรัฐฯ จะรักษาสมดุลนี้ได้นานแค่ไหน
ที่มา : bbc
Cookie | Duration | Description |
---|---|---|
cookielawinfo-checkbox-analytics | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Analytics". |
cookielawinfo-checkbox-functional | 11 months | The cookie is set by GDPR cookie consent to record the user consent for the cookies in the category "Functional" |
cookielawinfo-checkbox-necessary | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookies is used to store the user consent for the cookies in the category "Necessary". |
cookielawinfo-checkbox-others | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Other". |
cookielawinfo-checkbox-performance | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Performance". |
viewed_cookie_policy | 11 months | The cookie is set by the GDPR Cookie Consent plugin and is used to store whether or not user has consented to the use of cookies. It does not store any personal data. |