fbpx
Search
Close this search box.

รวม 5 สูตรทำขนมไทยยอดฮิต

สูตรทำขนมไทย

      เอกลักษณ์อีกสิ่งหนึ่งของไทยนอกจากการไหว้ และรอยยิ้มแล้ว คือขนมไทยที่มีรสชาติ และหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่ พอได้ลองแล้ว ก็ต้องชอบทุกคน วันนี้เราจึงรวม 5 สูตรขนมไทยยอดฮิต สามารถทำได้ง่ายๆ มาแบ่งปันทุกคนกัน มีอะไรบ้างมาดูกันเลย

1. บัวลอยไข่หวาน

บัวลอยไข่หวาน

          บัวลอยเป็นขนมไทยที่รับความนิยมมายาวนาน เพราะด้วยรสชาติ และหน้าตาที่น่ากิน ไม่ว่าวัยไหนก็ถูกอกถูกใจ ด้วยเนื้อบัวลอยแบบเหนียวนุ่มและสีสันที่สวยงาม

ส่วนผสมตัวแป้งบัวลอยบัวลอยไข่หวาน

  1. แป้งข้าวเหนียว 100 กรัม
  2. แป้งมัน 10 กรัม
  3. สีผสมอาหาร
  4. น้ำเปล่า

ส่วนผสมน้ำกะทิบัวลอยบัวลอยไข่หวาน

  1. หางกะทิ 2 ถ้วย 
  2. หัวกะทิ 2 ถ้วย
  3. น้ำตาลปี๊บ 100 กรัม
  4. น้ำตาลทราย 80 กรัม
  5. เกลือป่น 1/4 ช้อนโต๊ะ
  6. ไข่ไก่

วิธีทำบัวลอยไข่หวาน

  1. เริ่มกันที่ทำแป้งบัวลอย ใส่แป้งข้าวเหนียวลงในชามผสม ตามด้วยแป้งมัน และสีผสมอาหาร ในขั้นตอนนี้หากใครต้องการทำแป้งบัวลอยหลายสี สามารถแยกชามผสมและแบ่งเทสีผสมอาหารตามที่ต้องการได้เลยค่ะ
  2. หลังจากนั้นค่อยๆ เติมน้ำเปล่าลงไป พร้อมกับนวดแป้งไปด้วย ใส่จนครบ 8 ช้อนโต๊ะ หรือจนรู้สึกว่าเนื้อแป้งมีความเนียนนุ่ม
  3. นำแป้งมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขนาดประมาณ 1 ซม. ไม่ควรปั้นขนาดใหญ่มาก เพราะเมื่อแป้งสุกตัวแป้งจะขยายใหญ่ขึ้นอยู่แล้ว หลังจากนั้นนำไปต้มในน้ำที่เดือดจัด เมื่อแป้งลอยตัวขึ้นมาให้ช้อนแป้งขึ้นมาพักไว้ในน้ำเย็น
  4. เตรียมทำน้ำกะทิ โดยนำหางกะทิขึ้นตั้งเตาโดยใช้ไฟกลาง ตามด้วยใส่น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย และเกลือ คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน
  5. ใส่ไข่ลงในกะทิทีละฟอง ระวังอย่าให้ไข่แตก เมื่อไข่สุกแล้วตักขึ้นมาพักทิ้งไว้
  6. เติมหัวกะทิลงไปในน้ำกะทิที่เราต้มเอาไว้แล้ว คนทั้งหมดให้เข้ากัน หลังจากนั้นจึงนำแป้งบัวลอยใส่ลงไปในน้ำกะทิ พร้อมกับต้มทิ้งไว้ให้น้ำกะทิซึมเข้าไปในแป้งบัวลอยให้มีความหวานมันมากขึ้น ประมาณ 15 นาที (หากอยากให้แป้งมีความเข้มข้นสามารถพักทิ้งไว้นานกว่านี้ได้)
  7. นำบัวลอยพร้อมกับน้ำกะทิตักขึ้นใส่ถ้วย พร้อมกับใส่ไข่หวาน และจัดเสิร์ฟได้เลย 

2. ขนมเทียน

ขนมเทียน

      ขนมเทียน เป็นขนมไทยดั้งเดิมที่เข้าใจว่าดัดแปลงมาจากขนมเข่งของชาวจีนเชื้อสายไทยที่นิยมทำในวันสารทจีน แต่จะห่อด้วยใบตองเป็นรูปสาเหลี่ยม และยัดด้วยไส้ต่างๆ ส่วนชาวอีสานจะเรียกขนมเทียนนี้ว่า ขนมหมก ที่นิยมทำกันในช่วงเทศกาลงานบุญ โดยเนื้อขนมถุกห่อด้วยใบตองเป็นรูปสามเหลี่ยม เนื้อขนมเหนียว ยัดไส้ด้วยรสหวานมัน

ส่วนผสม แป้งขนมเทียน

  1. แป้งข้าวเหนียว หรือแป้งข้าวเหนียวดำ 500 กรัม
  2. น้ำตาลปี๊บ 200-300 กรัม
  3. น้ำเปล่า 350 มิลลิลิตร

ส่วนผสม ไส้ขนมเทียน

  1. ถั่วเขียวซีกเราะเปลือก 1 กิโลกรัม
  2. กระเทียม
  3. พริกไทย
  4. น้ำมันพืช (สำหรับผัด)
  5. เกลือป่น (สำหรับปรุงรส)
  6. น้ำตาลทราย (สำหรับปรุงรส)

วิธีทำไส้เค็มขนมเทียน

  1. ล้างถั่วเขียวซีกเราะเปลือกให้สะอาด แช่ทิ้งไว้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง หรือข้ามคืน จากนั้นนำไปนึ่งจนสุก พักทิ้งไว้จนเย็นสนิท
  2. โขลกกระเทียมกับพริกไทยเข้าด้วยกันจนละเอียด ใส่ถั่วเขียวนึ่งลงโขลกพอหยาบ
  3. ใส่น้ำมันพืชลงในกระทะ ใส่ส่วนผสมไส้ลงผัดจนหอม ปรุงรสด้วยเกลือป่นและน้ำตาลทราย ชิมรสตามชอบ ให้มีรสหวาน เค็ม เผ็ด ปิดไฟ ยกลงจากเตา พักทิ้งไว้จนเย็น ปั้นเป็นก้อนกลม เตรียมไว้

วิธีทำขนมเทียน

  1. ผสมแป้ง และน้ำตาลปี๊ป น้ำให้เข้ากัน โดยสาามารถปรับปริมาณน้ำตาลปี๊ปได้หากไม่ต้องรสที่หวานมาก
  2. เตรียมใบตองสำหรับห่อขนม ล้างน้ำให้สะอาด
  3. จับใบตองให้เป็นทรงกรวย ใส่ไส้ที่ปั้นไว้ลงไป ตักส่วนผสมแป้งใส่ จากนั้นห่อให้สวยงาม เรียงลงในชุดนึ่ง
  4. นำขนมไปนึ่งด้วยไฟแรงที่มีน้ำเดือดพล่าน นึ่งนานประมาณ 30 นาที จนขนมสุก ปิดไฟ นำออกจากชุดนึ่ง 

3. ขนมเปียกปูน

ขนมเปียกปูน

      ขนมเปียกปูน ขนมไทยเนื้อเหนียวนุ่ม โดดเด่นที่สีสันและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะขนมเปียกปูนสีดำที่ได้จากกาบมะพร้าวเผา สีเขียวได้จากใบเตยกลิ่นหอม ๆ โรยมะพร้าวขูดลงไปอีกสักหน่อย คอขนมไทยคงจะฟินกันถ้วนหน้า วันนี้เราเลยนำวิธีทำขนมเปียกปูนใบเตย เผื่อใครที่จะอยากลองทำตามากฝากกันครับ

ส่วนผสม ขนมเปียกปูน

  1. แป้งข้าวเจ้า 500 กรัม
  2. แป้งเท้ายายม่อม (หรือแป้งมัน) 150 กรัม
  3. น้ำปูนใส
  4. น้ำตาลปี๊บ 1 1/2 กิโลกรัม (ปรับเพิ่ม-ลดความหวานได้ตามชอบ)
  5. น้ำใบเตยคั้นเข้มข้น
  6. มะพร้าวทึนทึกขูดเป็นเส้น สำหรับโรยหน้า

วิธีทำขนมเปียกปูน

  1.  ผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งเท้ายายม่อม และน้ำปูนใสเล็กน้อยพอให้เหลว ๆ คนให้ละลายเข้าด้วยกัน
  2. ใส่น้ำใบเตยลงไปคนให้เข้ากัน ตามด้วยน้ำตาลปี๊บคนให้ละลาย จากนั้นนำน้ำนำไปกรองผ่านกระชอน
  3. เทส่วนผสมลงในกระทะทองเหลืองหรือกระทะเทฟลอน นำขึ้นตั้งกวนด้วยไฟแรงจนส่วนผสมงวดและแห้งเหนียว
  4.  ตักส่วนผสมใส่พิมพ์ พักทิ้งไว้จนส่วนผสมเซตตัว ตัดเป็นชิ้น ๆ โรยมะพร้าวขูด พร้อมเสิร์ฟ

4. ลอดช่อง สิงคโปร์

ลอดช่องสิงคโปร์

       ลอดช่อง คือ ขนมพื้นบ้านที่ทำโดยใช้แป้งข้าวเจ้าเป็นวัตถุดิบหลัก เชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากอินโดนีเซียก่อนแพร่หลายไปยังมาเลเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม และสิงคโปร์ นิยมกินในวันที่อากาศร้อนเพื่อเติมความสดชื่นให้ร่างกาย ต่อมาในประเทศไทยช่วงพ.ศ. 2504 ได้เกิดขนมลอดช่องสิงคโปร์ขึ้น โดยไทยเราจะใช้แป้งมันสำปะหลังแทนแป้งข้าวเจ้าแบบดั้งเดิม และที่มาของชื่อก็ไม่ได้มาจากประเทศสิงคโปร์นะคะแต่มาจากร้าน “สิงคโปร์โภชนา” ที่ถนนเยาวราชซึ่งเป็นผู้คิดสูตรนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อลอดช่องสิงคโปร์

ส่วนผสมตัวลอดช่องสิงคโปร์

  1. แป้งมัน 250 กรัม
  2. ใบเตย 700 กรัม
  3. น้ำ 300 กรัม

ส่วนผสมน้ำเชื่อมลอดช่องสิงคโปร์

  1. น้ำตาลทราย 500 กรัม
  2. น้ำ 500 กรัม
  3. ใบเตย 50 กรัม

ส่วนผสมน้ำกระทิลอดช่องสิงคโปร์

  1. กะทิถุงพาสเจอร์ไรส์ 500 กรัม
  2. เกลือ 2/3 ช้อนชา

ส่วนผสมเครื่องเคียง

  1. วุ้นมะพร้าว 
  2. ขนุน
  3. ข้าวโพดต้ม
  4. เผือกต้ม
  5. ทับทิมกรอบ ฯลฯ

วิธีทำลอดช่องสิงคโปร์

  1. นำใบเตยล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย แล้วนำไปปั่น เติมน้ำเปล่าลงไปเล็กน้อย ปั่นให้ละเอียดดี จากนั้นนำมากรองเอาแต่น้ำ พักไว้
  2. นำน้ำตาลทราย น้ำเปล่า และใบเตยเพื่อเพิ่มความหอม ไปตั้งไฟ ใช้ไฟกลางค่อนไปแรง เคี่ยวไปเรื่อยๆ จนน้ำตาลละลายเข้ากันดี ใบเตยส่งกลิ่นหอม จากนั้นลดไฟให้อ่อนลง เคี่ยวต่ออีก 5-10 นาที จากนั้นนำไปพักให้เย็น
  3. เทกะทิถุงพาสเจอร์ไรส์ เกลือ และนำไปตั้งไฟด้วยไฟกลางค่อนอ่อน หมั่นคนไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้กะทิแตกมัน พอกะทิร้อนจัดให้ยกขึ้นจากเตาพักไว้
  4. นำน้ำใบเตยที่คั้นไว้ในตอนแรกมาตั้งไฟให้เดือด จากนั้นนำมาผสมกับแป้งมันทันที ค่อยๆ ใส่น้ำลงไปทีละนิด นวดแป้งให้เข้ากับน้ำใบเตยดี ใช้เวลาประมาณ 10 นาที
  5. จากนั้นนำแป้งที่นวดได้ที่ มาคลึงให้แบน ตัดให้เป็นเส้นๆ ขนาดตามชอบ นำไปต้มในน้ำเดือดจัด ต้มจนสุกดี สังเกตว่าเส้นเริ่มใส ถือว่าใช้ได้ ช้อนมาใส่ในน้ำเย็นจัด ล้างหลายๆ น้ำให้แป้งสะอาดดี ตักพักไว้ในชาม
  6. ตักน้ำเชื่อมที่ต้มไว้ผสมในชามแป้งลอดช่องเล็กน้อย เพื่อไม่ให้แป้งอืดและดูดน้ำเข้าไปเพิ่ม 
  7. ตักเสิร์ฟ เริ่มด้วยขนุน เส้นลอดช่อง น้ำเชื่อม หัวกะทิเคี่ยว น้ำแข็ง ท็อปปิ้งด้วยวุ้นมะพร้าว ตามชอบ เป็นอันเสร็จ

เทคนิคการทำเส้นลอดช่องให้เหนียวหนึบนาน

  1. ตอนนวดแป้งลอดช่อง ให้ใช้น้ำใบเตยที่ต้มเดือดจัด ผสมลงในแป้งทันที เพราะจะทำให้แป้งสุกบางส่วน และเกาะตัวกันเป็นก้อนเร็ว ทำให้เหนียวหนึบนาน
  2. เมื่อต้มเส้นลอดช่องสุกได้ที่แล้ว ควรน็อคด้วยน้ำเย็นจัดทันที
  3. เส้นลอดช่องที่พักไว้ในชาม ควรผสมด้วยน้ำเชื่อมที่ต้มทิ้งไว้ เพราะน้ำเชื่อมจะไม่ทำให้ลอดช่องดูดน้ำเข้าไปเพิ่ม ทำให้เส้นไม่อืดและเหนียวหนึบนาน

5. ทับทิมกรอบ

ทับทิมกรอบ

      ทับทิมกรอบ จัดเป็นขนมหวานแบบไทยๆ อย่างทับทิมกรอบตักใส่ถ้วยเสิร์ฟเย็น ๆ แต่ถ้าหากซื้อตามร้านขายขนมทั่วไปเราก็มันจะได้ทานเพียงแค่ทับทิมกรอบอย่างเดียว ถ้าหากเราลองทำเองดูละคงจะใส่เครื่องอะไรลงไปก็ได้ตามใจชอบ เช่น วุ้นมะพร้าว เฉาก๊วย มันแกว ขนุน หรือข้าวโพด เป็นต้น ว่าแล้วมาดูขั้นตอนและวัตถุดิบที่ต้องเตรียมทำทับทิมกรอบ

ส่วนผสมทำเม็ดทับทิมกรอบ

  1. แห้วดิบ 400 กรัม
  2. แป้งมันฝรั่ง 1 ถ้วยตวง
  3. สีผสมอาหารสีแดง

ส่วนผสมทำน้ำเชื่อมทับทิมกรอบ

  1. น้ำตาลทราย 2 ถ้วยตวง
  2. น้ำลอยดอกมะลิ 1 ถ้วยตวง
  3. ใบเตยมัด 5 ใบ

ส่วนผสมทำน้ำกะทิทับทิมกรอบ

  1. หัวกระทิ 1 1/2  ถ้วยตวง
  2. เกลือประมาณ 1 ช้อนชา

ส่วนผสมเพิ่มเติม

  1. วุ้นมะพร้าว
  2. เฉาก๊วย
  3. ข้าวโพด
  4. ขนุน
  5. มันแกว

วิธีทําทับทิมกรอบ

  1. ทำน้ำเชื่อมก่อนเป็นอันดับแรก โดยนำน้ำลอยมะลิมาตั้งไฟให้เดือด จากนั้นใส่ใบเตยและน้ำตาลทรายลงไป ต้มจนใบเตยส่งกลิ่นหอมและน้ำเชื่อมเริ่มมีความเหนียวปิดไฟ แล้วทิ้งไว้ให้เย็น
  2. ทำกะทิสำหรับราดโดยจะใช้เป็นกะทิสด เพราะจะมีความหอมและอร่อยกว่ากะทิกล่อง นำมาผสมกับเกลือ คนให้เข้ากัน
  3. นำแห้วมาล้าง ปอกเปลือกแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำมาล้างน้ำสะอาดอีกรอบ จากนั้นนำแห้วที่หั่นแล้วมาใส่ตะแกรงผึ่งลมทิ้งไว้ให้แห้ง เพราะเวลาย้อมสีจะทำให้สีติดง่ายขึ้น
  4. นำสีผสมอาหารแบบน้ำมาผสมกับน้ำเปล่า ส่วนความเข้มข้นของสีนั้นแล้วแต่ความชอบเลยค่ะ อยากได้สีเข้มก็ใส่สีผสมอาหารเย็นหน่อยแต่ถ้าหากอยากได้สีอ่อน ๆ ก็ใส่เพียงเล็กน้อยก็พอค่ะ เสร็จแล้วก็ตัวสีผสมอาหารลงบนแห้ว คลุกให้สีติดทั่วแห้ว
  5. ร่อนแป้ง 1 ครั้ง แล้วตกลงไปคลุกกับแห้ว ทำไปเรื่อย ๆ จนแป้งไม่ติดกับเม็ดแห้วก็ใช้ได้ ทิ้งไว้สักพักให้แป้งเกาะตัวกันดีแล้วค่อยนำแป้งมาร่อนส่วนเกินออก จากนั้นนำไปต้มในน้ำให้เดือด คนเบา ๆ เพื่อไม่ให้แป้งติดก้นหม้อ เมื่อได้ที่แล้วขนมจะลอยขึ้นมา ต้มต่ออีกสักพัก เมื่อได้แล้วตักขนมมาใส่น้ำเย็นจัด แช่น้ำแข็งให้ขนมคลายความร้อนกันขนมติดกัน
  6. จากนั้นตักทับทิมกรอบใส่ถ้วย ตามด้วยน้ำเชื่อมเล็กน้อย พร้อมใสเครื่องที่เตรียมไว้ เช่น วุ้นมะพร้าว, ขนุน, เฉาก๊วย และข้าวโพด ราดด้วยน้ำกะทิ พร้อมเสิร์ฟ

          แต่ละอย่างน่ากินทั้งนั้นเลย อย่างไรก็ตามสูตรที่นำมา สามารถที่จะปรับเปลี่ยน หรือดัดแปลงเพิ่มเติมได้ตามความชอบของแต่ละคน ชอบเมนูไหนอย่าลืมคอนเมนต์บอกกันะครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆสามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่