fbpx
Search
Close this search box.

อัปเดต 2022 เทรนโลกหลังเปิดประเทศเป็นอย่างไรบ้าง

อัปเดต-2022-เทรนโลกหลังเปิดประเทศเป็นอย่างไรบ้าง1200x6300
สารบัญ

         สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วงกว่าสองปีที่ผ่านมา คร่าชีวิตประชากรทั่วโลกไปแล้วกว่า 6.3 ล้านคน[1] มาตรการต่าง ๆ ที่แต่ละประเทศนำมาใช้บริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์ประเทศแบบโควิดเป็นศูนย์ การล็อกดาวน์แบบผ่อนคลาย การจำกัดเคอร์ฟิว การจำกัดการเดินทางออกนอกพื้นที่  ล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของคนทั่วโลกแตกต่างกันไป จนเมื่อคนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น สถานการณ์ความรุนแรงของโรคเริ่มคลี่คลาย ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจึงเริ่มทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

          จากการวิเคราะห์ของ Statista Q บริษัทวิจัยตลาดในเยอรมนี ชี้ว่าการท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2565 จะกลับมามากถึง 80% ของการท่องเที่ยวก่อนเกิดโควิด 19 และประมาณการว่าในปี 2565 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 353 ล้านยูโร ซึ่งสูงกว่าปี 2564 ที่มีมูลค่า 260 ล้านยูโร โดยคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ในปี 2567

การทยอยเปิดประเทศปี 2565

           ปีที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศ เช่น กรีซ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และสหรัฐอเมริกา โดยความพร้อมของแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับศักยภาพในการจัดการกับโควิด 19 และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน สำหรับปี 2565 แม้จะเริ่มด้วยการระบาดของโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนตั้งแต่ต้นปี แต่ก็มีหลายประเทศที่ทยอยเปิดบ้านต้อนรับชาวต่างชาติ

          ประเทศแรกที่น่าสนใจคือออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีนโยบายควบคุมโควิด 19 ที่เข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมาตลอดสองปี ได้ประกาศเปิดประเทศต้อนรับผู้ถือวีซาออสเตรเลียทุกคนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ครบ 2 โดสแล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 โดยรัฐบาลออสเตรเลียพยายามดึงนักท่องเที่ยวกลับมาด้วยการเปิดตัวแคมเปญโฆษณามูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (28.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้เริ่มมีเที่ยวบินระหว่างประเทศกลับมาให้บริการ แม้จะยังมีจำนวนเที่ยวบินน้อยกว่าก่อนเกิดโรคระบาด

    ตามมาด้วยสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสเข้าประเทศได้แบบไม่ต้องกักตัวและไม่ต้องตรวจเชื้อตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป ต่างกันตรงที่มาเลเซียกำหนดให้ผู้เดินทางจะต้องทำประกันภัยการเดินทางครอบคลุมการรักษาโควิด 19 ไม่ต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐด้วย ส่วนสิงคโปร์ยังไม่อนุญาตให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบโดสเดินทางเข้าประเทศ

          ประเทศยอดฮิตอีกแห่งคือเกาหลีใต้ ประกาศเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 โดยอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศที่ฉีดวัคซีนตามที่กำหนดแล้ว สามารถเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ได้โดยไม่ต้องขอวีซาและไม่ต้องกักตัว

          ต่อด้วยประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประกาศเพิ่มเพดานรับคนเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิม 10,000 คนต่อวัน เป็น 20,000 คนต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 และตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2565 เปิดรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศสีน้ำเงิน[2] ที่มาเป็นกลุ่มทัวร์และมีไกด์ เพื่อจะได้ทราบถึงเส้นทางและจำนวนนักท่องเที่ยวที่แน่นอน โดยจะต้องทำประกันให้ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลโควิด 19 และต้องฉีดวัคซีนครบ 3 โดสด้วย ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะรวมอยู่ในโควตาขาเข้า 20,000 คนต่อวันด้วยเช่นกัน และคาดว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่ใช่กลุ่มทัวร์น่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร เนื่องจากยังคงมีความกังวลถึงการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด 19 อีกครั้ง

     ส่วนประเทศนิวซีแลนด์ก็ประกาศขยับเวลาเปิดประเทศให้เร็วขึ้น จากเดิมที่วางแผนไว้เดือนตุลาคม 2565 แต่เมื่อพิจารณาประเด็นการขาดแรงงานทักษะทั่วประเทศอย่างฉับพลัน รัฐบาลจึงตัดสินใจเลื่อนการเปิดประเทศเป็นเดือนกรกฎาคม 2565 โดยเปิดรับคนที่มีวีซาทุกประเภทที่ได้รับวัคซีนแล้ว สามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว

          สุดท้ายคือประเทศไทยที่รัฐบาลประกาศยกเลิกระบบ Test & Go และเริ่มต้นเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบสำหรับผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวกว่า 4 แสนคนเดินทางเข้าไทยในเดือนพฤษภาคม และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็นอย่างน้อยเดือนละ 9 แสนคนหลังจากประกาศยกเลิกการลงทะเบียน Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 และตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยว 5-15 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้

ผ่อนปรนการใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ

         อีกประเด็นที่นักท่องเที่ยวต้องรู้คือการใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ผ่อนปรนการใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะบ้างแล้ว เนื่องจากประชาชนได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้น เช่น นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ อิตาลี อังกฤษ เดนมาร์ก (ยกเว้นการขนส่งสาธารณะ) ฝรั่งเศส (ยกเว้นสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน) เกาหลีใต้ (ยกเว้นในสถานที่ที่รวมตัวกันเกิน 50 คน) สิงคโปร์ มาเลเซียและกัมพูชา (ยกเว้นภายในอาคารหรือระบบขนส่งมวลชน) และประเทศไทย (ยกเว้นสถานที่แออัด)

          แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่มีการถกเถียงกันมาก ก็ได้มีการออกมาประกาศยกเลิกกฎการสวมหน้ากากอนามัยระหว่างการใช้ระบบขนส่งสาธารณะโดยผู้พิพากษารัฐบาลกลางแห่งรัฐฟลอริดา ทำให้สายการบินหลายสาย เช่น Delta, American, Southwest, Alaska และ JetBlue สนามบิน ระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงบริษัทบริการเรียกรถรับส่งผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Uber และ Lyft ประกาศยกเลิกการบังคับใส่หน้ากากอนามัยแล้ว

          อย่างไรก็ดี ประเทศที่ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยอยู่แม้จะเปิดประเทศแล้ว คือ ญี่ปุ่น โดยกลุ่มทัวร์นักท่องเที่ยวจะต้องมีผู้ติดตามหรือมัคคุเทศก์จากบริษัทนำเที่ยวตลอดเวลาที่อยู่ในญี่ปุ่น เพื่อคอยดูแลให้นักท่องเที่ยวสวมหน้ากากอนามัย และอีกประเทศที่ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ คือมาเลเซีย

[1] ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 จากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO)

[2] ญี่ปุ่นแบ่งนักท่องเที่ยวตามระดับความเสี่ยงออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสีแดง (เสี่ยงสูง) เช่น แอลเบเนีย ฟีจี ปากีสถาน ซึ่งต้องมีการตรวจเชื้อและกักตัว กลุ่มสีเหลือง (เสี่ยงปานกลาง) เช่น ภูฏาน คิวบา บรูไน อินเดีย เวียดนาม โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ยี่ห้อที่ญี่ปุ่นยอมรับครบ 3 โดสจะไม่ต้องตรวจเชื้อและไม่ต้องกักตัว และกลุ่มสีน้ำเงิน (เสี่ยงต่ำ) เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งไม่ต้องตรวจเชื้อและไม่ต้องกักตัว

[3] ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ปัญหาด้านแรงงานอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ของ TDRI

ที่มา : bot

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆสามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่