fbpx
Search
Close this search box.

​เสถียรภาพการเงินไทย ใครเป็นคนดูแล และสำคัญอย่างไรกับเราบ้าง?

      คำว่า “เสถียรภาพระบบการเงิน” หรือ “Financial Stability” เป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายใน 10 ปีที่ผ่านมานี้ โดยเฉพาะหลังจากเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ซึ่งมีต้นเหตุมาจากทางการสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ดูแลเสถียรภาพระบบการเงินให้ดีเท่าที่ควร ทำให้ความเสี่ยงสะสมใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งระเบิดขึ้นในตลาดสินเชื่อบ้านของสหรัฐฯ และลุกลามกลายเป็นความเสี่ยงต่อทั้งระบบการเงิน (Systemic Risk) รวมทั้งส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลกในปี 2008 

     จะเห็นได้ว่าเสถียรภาพระบบการเงินนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากในระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งคำว่าเป็นเสถียรภาพระบบการเงินเป็นคำที่มีความหมายกว้าง ซึ่งเสถียรภาพการเงิน คือภาวะที่ระบบการเงินสามารถทนทานต่อแรงกดดันต่าง ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศได้ รวมทั้งทำหน้าที่ให้บริการทางการเงิน และสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนได้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

       ระบบการเงินนี้ครอบคลุมหลายองค์ประกอบ เช่น สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ผู้เล่นในตลาดเงินตลาดทุน เป็นต้น คำถามคือ แล้วใครกันคือผู้กำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่เป็นภาครัฐของไทย(Regulator)

เสถียรภาพการเงินไทย ใครเป็นคนดูแล ?

3 หน่วยงานหลักๆ ที่ช่วยกันดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน

1. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

        สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุน โดยกำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และผู้ประกอบธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าถึงข้อมูล และตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจในภาคธุรกิจที่ระดมทุน และประกอบธุรกิจในตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม โดยมีการบริหารความเสี่ยงเพื่อไม่ให้ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง

2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

        สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีหน้าที่กำกับดูแลตลาดประกันภัย โดยกำกับดูแลบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยมีความเข้มแข็งมั่นคง คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนไทย

3. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

       ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหลายบทบาทหน้าที่ หนึ่งในนั้นคือการกำกับดูแลตลาดสินเชื่อ โดยกำกับดูแลสถาบันการเงินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อ อาทิเช่น ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ รวมถึงผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน Non-bank ที่ ธปท. กำกับดูแล เช่น บริษัทบัตรเครดิต บริษัทบัตรกดเงินสด e-Wallet ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ และระบบการเงินมีความยืดหยุ่นรองรับความเปลี่ยนแปลงได้ดี (Resilient)

          ซึ่ง Regulator ทั้ง 3 หน่วยงาน มีอำนาจชัดเจนตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่ด้วยความซับซ้อนของระบบการเงินที่เชื่อมโยงกันในหลายมิติ ก.ล.ต. คปภ. และ ธปท. จึงทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด โดยมีการประชุมระหว่าง 3 หน่วยงานเป็นประจำทุกไตรมาส ที่เรียกว่า “3 Regulators Meeting” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองต่าง ๆ ตลอดจนหารือนโยบายเพื่อป้องกันความเสี่ยงและดูแลให้ระบบการเงินไทยมีเสถียรภาพ

        ผู้ที่มีหน้าที่บริหารของ Regulators ทั้ง 3 หน่วยงาน จะนั่งอยู่ในคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกด้วย โดย กนส. มีหน้าที่กำหนดนโยบายระบบสถาบันการเงินอย่างเหมาะสมเพื่อให้ระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพมั่นคง 

         กฎหมายกำหนดให้กรรมการ กนส. มาจาก เลขาธิการ ก.ล.ต. เลขาธิการ คปภ. ผู้ว่าการ ธปท. รองผู้ว่าการ ธปท. 2 ท่าน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 ท่าน รวมทั้งสิ้น 11 ท่าน จะเห็นได้ว่านอกจาก Regulators ทั้ง 3 หน่วยงานแล้ว ใน กนส. ยังมีตัวแทนจากกระทรวงการคลังและกรรมการอิสระจากภายนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญอีกด้วย

      หลายๆคนที่ติดตามเศรษฐกิจไทย คงคุ้นเคยกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่เป็นคณะกรรมการหลักอีกชุดหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยมีเป้าหมาย 3 อย่าง ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน จะเห็นว่าเสถียรภาพระบบการเงินเป็นหนึ่งในเป้าหมายของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญและมีผลกระทบเชื่อมโยงต่อทุก ๆ คนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ

         ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน และ คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน จะมีการประชุมร่วมกัน (Joint Meeting) ปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมิถุนายนและธันวาคม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองเกี่ยวกับเสถียรภาพระบบการเงิน ตลอดจนหารือในเชิงนโยบายที่แต่ละ Regulator จะดำเนินการและประสานงานกันเพื่อสร้างเสถียรภาพระบบการเงินไทยให้เข้มแข็ง โดยจะออกแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุม Joint Meeting ทุกครั้ง เพื่อสื่อสารสถานการณ์ล่าสุดและประเด็นความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินไทยให้สาธารณชนได้รับทราบ

         นอกจาก 3 หน่วยงานหลักที่กล่าวมาแล้ว ประเทศไทยยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ช่วยกันดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ทั้งในภาพรวมและเฉพาะด้าน เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ที่ดูแลภาพรวมด้านการคลัง การเงิน และเศรษฐกิจ รวมถึงกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินบางประเภท เช่น พิโคไฟแนนซ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ (กตส.) ที่กำกับดูแลสหกรณ์ทุกประเภท รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากในระบบการเงินไทย

เสถียรภาพการเงินสำคัญยังไง ?

ความสำคัญของเสถียรภาพระบบการเงิน

       ความสำคัญของเสถียรภาพระบบการเงินก็เปรียบเสมือนสุขภาพของคนเรา ช่วงที่เรามีสุขภาพดี ดำเนินชีวิตได้อย่างปกติราบรื่น อาจทำให้เราละเลยการรักษาสุขภาพ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ เพราะสร้างความเหน็ดเหนื่อยและความไม่รื่นรมย์ในชีวิต แต่เมื่อใดก็ตามที่เรามีปัญหาสุขภาพ ก็จะนึกเสียใจว่าควรทำหลาย ๆ เรื่องในช่วงก่อนหน้า เช่นเดียวกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน การตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอก็เปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพตามกำหนด และการฟังคำแนะนำจากหมอเพื่อรักษาสุขภาพให้ดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อทุก ๆ คนที่มีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจการเงินไทย และต่อตัวเราเองด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามเพื่อนๆก็อย่าลืมรักษาเสถียรภาพของเงินของตัวเราเองด้วยนะครับ 

Referrence : ธนาคารแห่งประเทศไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่