fbpx
Search
Close this search box.

เคาะ Easy E-Receipt 2568 ช้อปลดหย่อนภาษี 5 หมื่น เริ่ม 15 ม.ค. 68

ครม.อนุมัติมาตรการของขวัญปีใหม่ Easy E-Receipt 2.0 ช้อปลดหย่อนภาษี 2568 สูงสุด 50,000 บาท เริ่ม 15 มกราคม 2568 นี้ เช็กเงื่อนไขสินค้าที่เข้าร่วม-ไม่ร่วมโครงการ

เนื้อหา

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการของขวัญปีใหม่ 2568 เพื่อช่วยในการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน คือโครงการ Easy E-Receipt 2.0 เพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายตามเงื่อนไขโครงการ และสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท 

Easy E-Receipt 2.0 คืออะไร

สำหรับโครงการ Easy E-Receipt นี้ เป็นมาตรการลดหย่อนภาษีรูปแบบใหม่ที่กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยและวิสาหกิจชุมชน สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เฉพาะที่ได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น โดยสามารถนำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2568

Easy E-Receipt 2.0 เริ่มเมื่อไหร่

ระยะเวลาดำเนินการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2568 ระยะเวลารวม 45 วัน ครอบคลุมช่วงเทศกาลตรุษจีนและวันวาเลนไทน์

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข Easy E-Receipt 2.0

โดยสำหรับการใช้จ่ายผ่านโครงการ Easy E-Receipt นี้ ต้องซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt วงเงิน 50,000 บาท ในวงเงิน 50,000 บาท โดยแบ่งการใช้จ่ายเป็น 2 ส่วน  

  1. วงเงิน 30,000 บาท ใช้จ่ายสำหรับซื้อสินค้าและบริการที่กำหนด และขยายสิทธิให้ซื้อแพคเกจทัวร์ โรงแรม ที่พัก รถเช่าได้ด้วย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
  2. วงเงิน 20,000 บาท ใช้จ่ายสำหรับร้านวิสาหกิจชุมชน SMEs และร้านค้า OTOP ที่อยู่ในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์

การขอ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ที่ถูกต้อง

e-Tax Invoice และ e-Receipt ต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย

เงื่อนไขก่อนใช้สิทธิ Easy E-Receipt

  1. ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมี E-TAX INVOICE แบบเต็มรูปเป็นหลักฐาน
  2. ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากร้านค้าที่ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการดังต่อไปนี้ และมี E-RECEIPT เป็นหลักฐาน
  • ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร รวมถึงที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (E-BOOK)
  • ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับ กรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
  • ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อ กรมส่งเสริมการเกษตร
  • ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

สินค้าที่ไม่เข้าร่วมมาตรการ Easy E-Receipt

  1. สุรา
  2. เบียร์
  3. ไวน์
  4. ยาสูบ
  5. รถยนต์
  6. รถจักรยานยนต์
  7. เรือ
  8. ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
  9. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 16 มกราคม 2568 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2568 – 28 กุมภาพันธ์ 2568 ก็ตาม

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 70,000 ล้านบาท และทำให้รัฐสูญเสียการจัดเก็บรายได้ราว 10,000 ล้านบาท และจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ หรือเข้าสู่ระบบภาษีเพิ่มราว 20% จากปีก่อน 

ผู้เขียน

Picture of ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand E-Wallet ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่