fbpx
Search
Close this search box.

DeFi คืออะไร? ส่งผลกระทบต่อโลกการเงินอย่างไร?

         ในอนาคตคาดว่า DeFi จะเข้ามามีผลกระทบอย่างมากกับวงการสินทรัพย์ดิจิตอลและวงการการเงินของโลก เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง และเป็นการกระจายจุดศูนย์กลางสามารถตรวจสอบได้ จะมีผลกระทบ และจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างมาดูกัน

สารบัญ

DeFi คืออะไร

          DeFi (Decentralized Finance) คือบริการทางการเงินที่สามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่ผ่านตัวกลาง ซึ่ง DeFi ที่เราพบเห็นกันทั่วไปมักอยู่ในรูปแบบของแอปพลิเคชันที่ไม่รวมศูนย์ หรือ DApp (Decentralized Application) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) โดยธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบน DeFi มักจะเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) เป็นหลัก DeFi ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน ได้แก่

1. DeFi protocol

            DeFi protocol หรือข้อกำหนดของ DeFi คือข้อตกลงหรือภาษากลางทางคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในการสร้างบริหารจัดการ ดำเนินการ ตรวจสอบข้อมูล รวมไปถึงแปลงสินทรัพย์ในโลกจริงให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลโดยอัตโนมัติ เพื่อเป็นฐานสำคัญในบริการอื่นๆ ของ DeFi ต่อไป

2. DeFi service

             DeFi service หรือบริการของ DeFi ที่ดำเนินการอยู่บน DeFi protocol เพื่อสร้างบริการทางการเงินและฟังก์ชั่นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบจัดการเบื้องหลัง (Backend หรือ “หลังบ้าน”) เช่น การกำหนดค่าสัมประสิทธิ์ความเสี่ยงของปัจจัยต่างๆ (Risk parameters) และอัตราดอกเบี้ย เป็นต้นรวมไปถึงบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้งาน (“หน้าบ้าน” หรือFrontend) โดยตรง เช่นกระเป๋าเงิน (wallet) ที่ผู้ใช้งานสามารถจัดเก็บสินทรัพย์ รวมไปถึงโอนและจัดการสินทรัพย์ระหว่างกันได้ นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบและเงื่อนไขทางด้านบริการทางการเงินต่างๆ ของ DeFi ในองค์ประกอบนี้อีกด้วย

3. DeFi users

            หรือผู้ใช้งาน DeFi คือบุคคลที่สามารถเข้าถึง DeFi serviceเพื่อทำธุรกรรมต่างๆ เนื่องจากระบบของธุรกรรมการเงินในปัจจุบันมีลักษณะแบบรวมศูนย์ (Centralized Finance: CeFi) กล่าวคือ รวมศูนย์อำนาจบริหารจัดการไว้ที่ส่วนกลาง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ ธนาคาร ที่ทำหน้าที่ตัวกลางทางการเงินและตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีข้อดี คือ ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานได้มาก แต่จุดอ่อนคือหากเกิดปัญหากับตัวกลางจะกระทบต่อผู้ใช้งานทั้งหมด ขณะที่ระบบกระจายศูนย์ (Decentralized) เป็นแนวคิดที่ให้ผู้ใช้งานทุกคนมาดูแลระบบร่วมกัน หรือตรวจสอบแต่ละธุรกรรมร่วมกัน ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ทำให้ผู้ใช้แต่ละคนสามารถเก็บ และเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ทุกคนได้ โดยมีหลักการทำงานคร่าวๆคือเมื่อมีธุรกรรมการโอนเกิดขึ้น ระบบก็จะตรวจสอบข้อมูลที่อยู่ในมือของผู้ใช้ทุกคนที่เปรียบเสมือนสมุดจดรายการในกล่องแต่ละกล่อง (Block) และเมื่อเกิดความเคลื่อนไหวบนบัญชีนั้นๆ ก็จะมีการเขียนข้อมูลบนกล่องใบใหม่มาต่อจากอันเดิมเป็นสาย (Chain) ดังนั้นจึงสามารถป้องกันการถูกโจรกรรมข้อมูลและการแก้ไขบัญชีข้อมูลได้ ทั้งในแง่ข้อมูลบัญชีในอดีตและปัจจุบัน

ตัวอย่าง DeFi 4 หมวดที่ส่งผลกระทบต่อการเงินในระดับโลกได้

1. การซื้อขายแลกเปลี่ยน (DefiExchange:DEX)

          DeFi จะเข้ามาแก้จุดอ่อนหลัก (Painpoint) ของธนาคารในมิติด้านต้นทุนการบริหารและค่าธรรมเนียมที่สูงในการโอนย้ายเงินระหว่างประเทศ รวมถึงระยะเวลาในการอนุมัติการโอนเงินข้ามพรมแดนที่นานเนื่องจากระบบการดำเนินงานในปัจจุบันยังเป็นแบบรวมศูนย์ แต่ด้วยรูปแบบการทำงานของ DeFi ที่หลายฝ่ายสามารถเข้าร่วมอนุมัติธุรกรรมได้พร้อมกัน การดำเนินกิจกรรมแลกเปลี่ยนจึงสามารถทำได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลงและระยะเวลาที่เร็วขึ้น อีกทั้ง DeFi ยังไม่มีความเสี่ยงจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber attacks) เหมือนระบบการเงินแบบรวมศูนย์ที่มีข้อมูลรวมไว้ที่ส่วนกลางเพียงแหล่งเดียว จึงทำให้ DeFi ในหมวดนี้เป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาเขย่าวงการการเงินในช่วงต้น ผลกระทบของ DeFi ในหมวดนี้ต่อภาคการเงินการธนาคารจึงอาจมีนัยสำคัญ (Potentially Significant impacts) ในระยะเวลาอันใกล้เนื่องจากปัจจุบันเริ่มผู้ใช้งาน DeFi รูปแบบนี้บ้างแล้ว อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ใช้บริการทางการเงินแบบดั้งเดิมซึ่งยังคงเป็นคนส่วนใหญ่อาจยังไม่เชื่อมั่นใน DeFi มากนัก จึงอาจต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวเองต่อไป

2. การกู้ยืม (Borrowing and Lending)

            จะกระทบกับภาคธนาคารโดยตรง โดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้แก่ SMEs และธุรกิจรูปแบบใหม่ เช่น Start-Ups ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงิน หรือได้รับบริการที่ยังไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มักไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงพอ หรืออาจมีสินทรัพย์ในรูปแบบที่ธนาคารยังไม่นิยมใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืม นอกจากนี้ แบบจำลองในการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของธนาคารอาจจะยังไม่รองรับธุรกิจรูปแบบใหม่เหล่านี้ ส่งผลให้ผู้กู้อาจไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อเหล่านั้นได้ หรือหากได้รับอนุมัติสินเชื่อก็จำต้องเผชิญกับดอกเบี้ยที่สูง นอกจากนี้ การนำข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้ในการประเมินสินเชื่ออาจมีความเสี่ยง ทั้งด้านข้อมูลรั่วไหลและอาจทำให้เกิดความลำเอียงในการพิจารณาสินเชื่ออีกด้วยซึ่ง DeFi อาจเป็นทางออกแก่ทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยสามารถเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงให้กับผู้ที่นำเงินมาฝากเนื่องจากไม่มีตัวกลางที่ต้องแบ่งกำไรให้ และยังเปิดโอกาสให้ผู้กู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินรูปแบบดั้งเดิมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ดังนั้น สำหรับภาคการเงินและธนาคารนั้น ผลกระทบของ DeFi ในหมวดนี้จึงอาจเกิดอย่างมีนัยสำคัญ

            อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมผ่าน DeFi อาจยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการพัฒนารูปแบบการบริการให้เหมาะสมยิ่งขึ้นโดยคาดว่าจะใช้เวลาราว 3-7 ปี เนื่องจากปัจจุบันการกู้ยืมบน DeFi มักอยู่ในรูปแบบของการแลกเหรียญเพื่อนำไปลงทุนและเก็งกำไรในระยะเวลาอันสั้นในลักษณะคล้ายคลึงกับการจำนำมากกว่า ซึ่งมีความเสี่ยงสูง ผู้ให้กู้จึงกำหนดให้ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันที่สูง (Overcollateralization) ส่งผลให้การเข้าถึงสินเชื่อนี้ของธุรกิจขนาดเล็ก และก็ยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก โดยบางแพลตฟอร์มมีการกำหนดให้วางหลักทรัพย์ที่สูงกว่ามูลค่าปัจจุบันถึงร้อยละ 150 เช่น MakerDAO ที่กำหนดให้ต้องวางหลักประกันในอัตรา1.5 เท่า อย่างไรก็ดี บางแพลตฟอร์มยังมีความพยายามพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อของธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะ เช่น ShutterOne จากประเทศสิงคโปร์ ที่ให้บริการด้านการปล่อยกู้แก่ SMEs ในภูมิภาคอาเซียนกว่า 4,000 รายแล้ว

3. การชำระเงิน ( Payment )

           เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่มีการใช้งานค่อนข้างมากเพราะภาคการเงินแบบดั้งเดิมอาจไม่ตอบโจทย์ในการชำระเงินที่มีจำนวนธุรกรรมปริมาณมากได้รวดเร็วเพียงพอและอาจเกิดปัญหาระบบล่มในบางครั้ง เนื่องจากระบบจำต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเข้าศูนย์กลางเพื่อตรวจสอบก่อน นอกจากนี้ ในบางประเทศ ผู้บริโภคบางคนอาจไม่สามารถใช้ภาคการเงินรูปแบบดั้งเดิมในการทำธุรกรรมชำระเงินได้เนื่องจากขาดบัตรประชาชนหรือเอกสารยืนยันตัวตนที่ออกโดยทางการ (Official Identification) จึงไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันรวมถึงการทำธุรกรรมชำระเงิน ซึ่ง DeFi ในบางแพลตฟอร์มสามารถแก้ Pain point ทั้งสองจุดได้ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารยืนยันตัวตนของภาครัฐเพื่อเข้าใช้งาน นอกจากนี้ การทำงานแบบกระจายศูนย์ยังช่วยแก้ปัญหาระบบล่มได้ด้วย

             ดังนั้น สำหรับภาคการเงินและธนาคารนั้น ผลกระทบของ DeFi ต่อภาคนี้จึงอาจมีนัยสำคัญเพียงในบางประเทศหรือบางกลุ่มเท่านั้น เช่น ในประเทศที่ประชาชนบางกลุ่มเข้าถึงเอกสารยืนยันตัวตนได้ไม่สะดวกนัก แต่หากมองในภาพรวมแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นน่าจะอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง นอกจากนี้ ธนาคารกลางในหลายประเทศเริ่มสนใจและผลักดันการพัฒนาเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currencies: CBDC) ความสำคัญของ DeFi ในรูปแบบนี้จึงอาจลดลงได้อีก

4. การประกัน (Insurance)

          เป็นหนึ่งในบริการทางการเงินที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงจาก DeFi จึงมีการศึกษากันมาก เนื่องจากในปัจจุบันบริษัทประกันยังต้องรับความเสี่ยงเองเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ขั้นตอนการหาลูกค้า ประเมินความเสี่ยง จนถึงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่างๆ ที่ถึงแม้จะมีธุรกิจรับประกันภัยต่อ (Reinsurer) แต่ก็ยังมีส่วนที่บริษัทประกันต้องรับความเสี่ยงไว้เอง (Retention) ซึ่ง DeFi สามารถเข้ามาช่วยให้บริษัทเหล่านั้นโดยโอนความเสี่ยงบางส่วนให้กับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงเหล่านี้เพื่อแลกกับผลตอบแทนที่สูงได้ อย่างไรก็ดี ผลกระทบของ DeFi รูปแบบนี้ต่อภาคการเงินยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากแพลตฟอร์มยังอยู่ระหว่างการพัฒนา จึงยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานจริง อีกทั้งยังขาดกฎระเบียบที่จะเข้ามาดูแลนักลงทุนกลุ่มนี้อีกด้วย

ที่มา : thaipublica

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆสามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่