fbpx
Search
Close this search box.

“Dunning-Kruger Effect” ทำไมบางครั้งคนที่รู้น้อยถึงคิดว่าตัวเองฉลาดนักหนา

Dunning-Kruger Effect ถือเป็นขั้วตรงข้ามของ Imposter Syndrome ที่คนจะคิดว่าตัวเองไม่เก่งตลอดเวลา เพราะ Dunning-Kruger Effect คือภาวะที่คนมักจะอวดฉลาดในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้รู้จริง ซึ่งสิ่งนี้เกิดจากอะไร เอซียู เพย์ จะพามาทำความรู้จักกัน

เนื้อหา

Dunning-Kruger Effect คืออะไร ?

Dunning-Kruger Effect นักจิตวิทยากล่าวว่าสิ่งนี้มันจะอยู่ภายในจิตใจของผู้พูด ว่าตัวเองมีความสามารถและเก่ง ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น หรือพูดง่าย ๆ คือ ตัวเองไม่ได้เก่ง แต่คิดว่าฉลาดนั่นเอง

ในปี 1999 นักจิตวิทยาชื่อ David Dunning และ Justin Kruger ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับแนวคิดนี้ โดยที่นักวิทยาศาสตร์ได้ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองประเมินผลการทดสอบของตัวเองออกมาตามความคิด โดยผลปรากฏว่าผู้ที่เข้าร่วมที่มีผลคะแนนต่ำ มักจะประเมินผลการทดสอบของตัวเองสูงกว่าความเป็นจริง ในทางกลับกัน คนอีกกลุ่มที่มีการประเมินตัวเองต่ำกว่ามาก แต่ความจริงแล้วพวกเขากลับได้คะแนนที่สูงกว่าที่ประเมินไว้เองด้วย

เพื่อยืนยันข้อสันนิษฐานนี้ Dunning และ Kruger จึงให้ผู้ร่วมการทดลองทั้งสองกลุ่มที่มีคะแนนสูงและต่ำสลับทำข้อสอบของอีกฝ่ายดูอีกครั้ง เพื่อดูความแตกต่างของคำตอบ ผลปรากฏว่ากลุ่มที่มีคะแนนต่ำแทนที่จะให้คะแนนตัวตามความเป็นจริง แต่พวกเขากลับให้คะแนนตัวเองสูงเหมือนเดิม เพราะยิ่งมีความมั่นใจว่าสิ่งที่ตัวเองตอบมันถูกและยังประเมินผลตามเดิม

จึงได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจาก อคติทางการรับรู้ (Cognitive Bias) ที่ทำให้พวกเขาเชื่อว่าพวกเขารู้ทุกอย่าง และฉลาดที่สุด จนกระทั่งผลทดสอบออกมา ต่อให้ความจริงจะปรากฏว่าพวกเขาได้คะแนนน้อยกว่า แต่พวกเขาก็จะยังเชื่อสิ่งที่ตัวเองคิดและยึดถือตัวเองอยู่ตลอดเสมอ

โดยนักจิตวิทยาจะเปรียบเทียบกราฟแสดงการแปรผันของความรู้และความมั่นใจเป็น

กำแพงแห่งความไม่รู้

ในช่วงแรกคนจะเต็มไปด้วยความอยากรู้ ความสงสัย แต่ยังไม่มีความมั่นใจ ทำให้มีความกระตือรือร้นในการหาคำตอบ และเมื่อได้ลองทำจึงรู้ว่าไม่ยากอย่างที่คิด จึงมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ความจริงแล้วมันจะเป็นเรื่องพื้นฐานก็ตาม

ยอดเขาแห่งความโง่

หลังจากที่ได้เรียนรู้ไปแล้วคนเราก็จะคิดว่าตัวเองนั้นเรียนรู้เกือบหมดทุกอย่างแล้ว มักรู้สึกว่ารู้มากกว่าคนอื่นและเรื่องนี้เป็นเรื่องง่าย ทำให้พวกเขาอาจจะแสดงออกในเชิงโอ้อวดมากกว่าคนอื่น

ทางลาดแห่งการรับรู้

หลังจากได้เรียนรู้มาแล้วระดับหนึ่งแล้ว เมื่อได้รับข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อนหรือมีคนมาถามเกี่ยวกับรายละเอียดในสิ่งที่เรียนมาแต่กลับตอบไม่ได้ ก็อาจจะรู้สึกว่าตัวเองรู้สิ่งนี้มากพอหรือยัง และอาจจะทำให้รู้สึกถึงการขาดความมั่นใจลงได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

หุบเหวแห่งความสิ้นหวัง

หลังจากที่จะรู้สึกว่าตัวเรานั้นรู้ไม่ดีพอ หรือแทบจะไม่รู้อะไรเลย บางคนอาจล้มเลิกและยอมกลับไปที่ยอดเขาแห่งความโง่อีกครั้ง แต่ถ้ากลับใจได้ คน ๆ นั้นก็เป็นคนที่เปิดใจจากการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และลุยต่อ

ทางลาดแห่งการตื่นรู้

หลังจากที่ได้ยอมรับว่าตัวเองมีความรู้น้อย มันจะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ให้อยากเรียนรู้และทำตัวมากยิ่งขึ้น สิ่งนี้จะทำให้มีความกระตือรือร้นในการศึกษาและเป็นคนไม่โอ้อวดในความรู้ที่มี

ที่ราบแห่งความยั่งยืน

เมื่อเราผ่านจุดนั้นมาได้และยังศึกษาต่อเรื่อย ๆ ก็จะเป็นคนที่มีความมั่นใจในระดับที่พอดี แม้จะเป็นคนที่มีความมั่นใจมากแค่ไหน แต่ก็ยังคงมั่นที่จะศึกษาหาความรู้ต่อไป และอัปเดตสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวอย่างไม่มีสิ้นสุด

สำหรับคนที่เป็นแล้วก็ยังสามารถแก้ได้โดยที่ยอมรับและเรียนรู้ว่าเราไม่มีทางที่จะรู้ทุกอย่างบนโลกนี้ เพราะฉะนั้นทุกคนสามารถปรับตัวและเปิดรับสิ่งใหม่ที่ผ่านเข้ามาได้ ก็จะทำให้เราเป็นคนที่มีทัศนคติที่ดีและเป็นคนที่มีความรู้โดยแท้จริง

อ้างอิง

ผู้เขียน

Picture of ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่