fbpx
Search
Close this search box.
เงินเฟ้อไทยพุ่งสูง

เงินเฟ้อไทยพุ่งสูง 7.1% ในรอบ 13 ปี ธปท. คาดการณ์ว่าอย่างไรบ้าง

           เงินเฟ้อไทยถูกเร่งตัวขึ้นเป็นอย่างมาก ปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นแบบไม่หยุดไม่หย่อน จนได้รับผลกระทบอย่างมาก และเริ่มจะกระจายเป็นวงกว้างไปสู่ราคาสินค้ามากมายหลายอย่าง

           ล่าสุดมีรายงานว่าดัชนีเงินเฟ้อทั่วไป เดือน พ.ค. 2565 เท่ากับ 106.62 เทียบกับ เม.ย. 2565 เพิ่มขึ้น 1.40% เทียบกับเดือน พ.ค. 2564 เพิ่มขึ้น 7.10% เป็นการเพิ่มขึ้นสูงกว่าตัวเลขเดือน เม.ย. 2565 และสูงกว่าเดือน ก.พ.และ มี.ค. ที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก ดัชนีเงินเฟ้ออยู่ที่ 102.74 เพิ่มขึ้น 0.17% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. 2565 และเพิ่มขึ้น 2.28% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2564 และเฉลี่ย 5 เดือนเพิ่มขึ้น 1.72%

สารบัญ

ภาวะเงินเฟ้อสูงไปถึงเมื่อไหร่

         ธปท. คาดว่าเงินเฟ้อไทยจะอยู่ในระดับสูงในปีนี้ ก่อนจะลดเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ในปี 2023 เนื่องจากเงินเฟ้อไทยครั้งนี้ล้วนเกิดจากปัจจัยด้านอุปทาน (cost-push inflation) ที่ส่งผลจำกัดอยู่ในหมวดอาหารและพลังงานเป็นส่วนใหญ่ หากเราพิจารณาข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ในเดือนที่ผ่านมา จะพบว่ามีราคาสินค้าและบริการเพียง 14% จากทั้งหมด 430 รายการที่มีการขึ้นราคาสูงกว่าปกติ เงินเฟ้อประเภทนี้ มักคลี่คลายได้เองตามกลไกของตลาด เห็นได้จากราคาเนื้อหมูที่เริ่มลดลงตั้งแต่เดือน กพ. จากปัญหาโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ทุเลาลง และถึงแม้ว่าราคาอาหารสำเร็จรูปจะแพงขึ้นตามไปบ้างแล้ว แต่การส่งผ่านของต้นทุนนี้ไม่น่าจะทำได้มาก เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่วนราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้นมากตามปัจจัยโลก ก็มีแนวโน้มลดลงในช่วงปลายปีนี้ หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนคลี่คลาย และอุปทานน้ำมันเพิ่มขึ้นตามการระบายน้ำมันดิบจำนวนมากออกมาจากคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์

ธปอ.จะสามารถช่วยบรรเทาเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ไหม? และเพราะอะไรถึงยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย

         เมื่อเงินเฟ้อเกิดจากฝั่งอุปทานและเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว บทบาทของธนาคารกลางในการรับมือกับเงินเฟ้อประเภทนี้จึงมีอยู่จำกัด การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องอุปทานได้ มิหนำซ้ำ อาจทำให้ภาวะการเงินตึงตัวเร็วไปจนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุดลง โดยเฉพาะไปซ้ำเติมกลุ่มคนมีรายได้น้อยที่อาจมีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนสูงอยู่แต่เดิม และยังต้องแบกรับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากกว่าคนกลุ่มอื่น (กลุ่มคนรายได้น้อยมีสัดส่วนการบริโภคอาหารและน้ำมันสูงกว่ากลุ่มคนรายได้สูงประมาณ 17%)

              ถามว่าเมื่อไหร่ที่นโยบายการเงิน ควรมีบทบาทในการช่วยลดทอนเงินเฟ้อ? หากเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วและเงินเฟ้อสูงขึ้นตามความต้องการบริโภค (demand-pull inflation) การขึ้นดอกเบี้ยถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีของประเทศสหรัฐฯ ที่เผชิญ pent-up demand และตลาดแรงงานตึงตัวมาก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าข่ายเงินเฟ้อในลักษณะนี้ เพราะไทยจะฟื้นตัวจากวิกฤตเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และการใช้มาตรการเฉพาะจุดโดยภาครัฐเพื่อดูแลปัญหาค่าครองชีพ เช่น การอุดหนุนราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม จึงยังจำเป็นเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

สถานการณ์เงินเฟ้อตอนนี้ เรียกได้ว่าน่ากังวลแล้วหรือยัง?

         เงินเฟ้อที่มาจาก cost-push และ demand-pull ไม่ได้นับว่าเป็นเงินเฟ้อที่น่ากังวล เพราะเกิดขึ้นได้เป็นปกติจากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน แต่หากมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันในลักษณะ Perfect storm เช่น เงินบาทอ่อนค่า ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นแรง มาตรการภาครัฐไม่สามารถช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม และปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ได้แล้ว ต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบย่อมปรับสูงขึ้นมาก อีกทั้งหากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาเป็นจำนวนมากจนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้นตัว ผู้ประกอบการก็จะสามารถส่งผ่านต้นทุนได้ง่ายขึ้น ทำให้ราคาสินค้าและบริการปรับเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง ในกรณีนี้ ธปท. อาจต้องปรับน้ำหนักที่ให้ระหว่างเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยเพิ่มน้ำหนักที่ให้กับการดูแลเสถียรภาพราคาในระยะยาว และพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในจังหวะที่เหมาะสม

          แต่หากสถานการณ์ที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ เงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่องจนทำให้ครัวเรือนกับภาคธุรกิจเริ่มปรับเงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectations) สูงขึ้น จนส่งผลต่อพฤติกรรมการกำหนดราคาสินค้าและค่าจ้างของผู้ประกอบการ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในวิกฤตน้ำมันแพงช่วงปี 1970 ที่นำไปสู่ปัญหา wage-price spiral ตามมา นั่นคือ แรงงานไปต่อรองให้ค่าจ้างของตนสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุด ก็ย้อนกลับมากระทบค่าครองชีพอีกครั้ง

           เงินเฟ้อในลักษณะนี้ถึงแม้มีโอกาสเกิดค่อนข้างน้อย เนื่องจากตลาดแรงงานต้องตึงตัวมาก ประกอบกับอำนาจการต่อรองของแรงงานไทยยังมีน้อย แต่หากเกิดขึ้นแล้ว จะส่งผลให้เงินเฟ้อค้างสูงเป็นเวลานาน เนื่องจากเป็นเงินเฟ้อที่ฝังลึกเข้าไปในการคาดการณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมของประชาชน ยากที่จะคลี่คลายเองได้ ดังนั้น ในกรณีนี้ นโยบายการเงินอาจต้องใช้ยาแรงเพื่อดึงให้เงินเฟ้อปรับลดลงมาอีกครั้ง

          เพื่อนๆ อาจจะสงสัยเกี่ยวกับเงินเฟ้อว่าคืออะไร ลองอ่านบทความนี้ได้นะครับ เทียบอัตราเงินเฟ้อ กับเบอร์เกอร์ Bigmac เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจครับ

ที่มา :bot , prachachat

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆสามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่