fbpx
Search
Close this search box.

เคลียร์ 11 ข้อสงสัยเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล (CBDC) ของแบงก์ชาติ

        Central Bank Digital Currency คือเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้น ๆ พูดง่าย ๆ ก็คือถ้าธนาคารกลางของไทยออกสกุลเงินดิจิทัล ก็เหมือนเงินบาทหรือธนบัตรที่ออกโดยแบงก์ชาติ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบ “ดิจิทัล” ซึ่งมีมูลค่าเป็น 1:1 อย่างไรก็ตามหลายๆ คนอาจสงสัยว่าเมื่อใช้งานจริงๆ แล้วจะเป็นอย่างไร วันนี้เรารวบรวมคำถาม และคำตอบจากแบงก์ชาติมาให้ลองดูกันครับ

สารบัญ

ภาครัฐ และแบงก์ชาติจะเห็นข้อมูลการใช้ CBDC ในชีวิตประจำวันของเราและเรียกเก็บภาษีหรือไม่

แบงก์ชาติให้คำตอบว่า การออกแบบ CBDC ของแบงก์ชาติคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ในขณะเดียวกันต้องมีกลไกการตรวจสอบธุรกรรมผิดกฎหมายด้วย ทั้งนี้การใช้ CBDC ต้องปฏิบัติตามกฎหมายภาษี e-Payment เช่นกันเดียวกับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่น

CBDC ต้องมี e-Wallet เหมือนกับ e-Money หรือไม่ และใครเป็นผู้ดูแล

แบงก์ชาติให้คำตอบว่า ต้อง Wallet ในการเก็บ CBDC โดยแบ่ง Wallet เป็น 2 รูปแบบ

    1. รูปแบบของแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ โดยธนาคารหรือผู้ให้บริการทางการเงินที่ได้รับอนุญาตจากแบงก์ชาติจะเป็นผู้ดูแล
    2. รูปแบบของการ์ด ซึ่งการ์ดนี้เจ้าของจะต้องดูแลรักษา และรับผิดชอบเสมือนกับกระเป๋าสตางค์ส่วนตัว

ถ้าไม่มีโทรศัพท์มือถือจะสามารถใช้ CBDC ได้หรือไม่ จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นหรือไม่

แบงก์ชาติให้คำตอบว่า แบงก์ชาติได้พัฒนา Wallet ในรูปแบบการ์ดเพื่อใช้ในการเก็บ CBDC คนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือก็สามารถใช้การ์ดในการเก็บ CBDC และทำธุรกรรมต่างๆ เช่น ฝาก ถอน โอน จ่าย ได้ ดังนั้น จึงจะไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ

คนไทยที่ไม่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร จะใช้ CBDC ได้อย่างไร

แบงก์ชาติให้คำตอบว่า คนไทยที่ไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคารก็สามารถเข้าถึง CBDC ได้ เพียงแค่เปิด Wallet และนำเงินสดมาแลกเป็น CBDC กับธนาคารหรือผู้ให้บริการทางการเงินที่ได้รับอนุญาตจากทางแบงก์ชาติ หรือรับ CBDC จากผู้อื่น (เช่น จากการขายของ) มาเก็บไว้ใน Wallet ก็สามารถใช้ได้ CBDC ทำธุรกรรมทางการเงินได้

มีการจำกัดจำนวน CBDC ในระบบหรือไม่ ได้ดอกเบี้ยเหมือนฝากเงินที่ธนาคารหรือไม่

แบงก์ชาติให้คำตอบว่า CBDC เหมือนเป็นธนบัตรในรูปแบบดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ในรูปสกุลเงินบาทโดยการสร้าง CBDC นั้น ประชาชนต้องนำเงินสดหรือโอนเงินในบัญชีธนาคารที่มีอยู่มาแลกเป็น CBDC ด้วยอัตราแลกเปลี่ยน 1 : 1 ซึ่งเป็นการนำเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบที่มีสินทรัพย์หนุนหลังมาแลกเปลี่ยนจึงไม่ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อจากการสร้าง CBDC เพราะไม่ได้เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบ และเนื่องจาก CBDC มีคุณสมบัติคล้ายเงินสด จึงไม่มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยในการถือ CBDC 

การออก CBDC จะทำให้ธนาคารล้มหรือไม่

แบงก์ชาติให้คำตอบว่า การถือครอง CBDC ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย และมีการจำกัดวงเงินในการถือครองของแต่ละคน ดังนั้น ประชาชนจะยังคงเลือกฝากเงินกับธนาคาร ทำให้ไม่เกิดการโยกย้ายเงินอย่างรวดเร็วจึงไม่ส่งผลกระทบต่อฐานเงินฝากของธนาคารมากนัก CBDC เป็นเพียงทางเลือกในการถือเงินช่องทางหนึ่งที่สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งาน นอกจากนี้ ยังมีการจำกัดวงเงินในการถือครอง CBDC ใน Wallet ด้วย ขณะที่ไม่มีข้อจำกัดดังกล่าวสำหรับเงินฝาก

CBDC ต่างจาก Promptpay อย่างไร

แบงก์ชาติให้คำตอบว่า Promptpay ต้องใช้เงินฝากของประชาชนที่อยู่กับธนาคารพาณิชย์ขณะที่ CBDC เป็นเสมือนธนบัตรในรูปแบบดิจิทัล ดังนั้นในแง่การใช้งานจะไม่ต่างกัน คือเป็นการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือแต่ประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ใช้จ่ายในอนาคตง่ายขึ้นจากการที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาโปรแกรมสร้างนวัฒกรรมต่อยอดบน CBDC ได้

สามารถนำ CBDC ไปลงทุนเหมือนคริปโท เช่น Bitcoin ได้หรือไม่

แบงก์ชาติให้คำตอบว่า CBDC ที่ออกโดยแบงก์ชาติ มีลักษณะคล้ายกับธนบัตรแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลซึ่งกลไกลการผลิต CBDC จะมีสินทรัพย์หนุนหลังทำให้มูลค่าไม่ผันผวน และมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อไว้รองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น CBDC จึงไม่ใช่คริปโทเคอร์เรนซี อย่างเช่น Bitcoin หรือ Ether ที่มีมูลค่าผันผวนสูง และไม่มีสินทรัพย์หนุนหลังการออก และมักถูกนำมาใช้ในการลงทุนหรือเก็งกำไร

นำ CBDC ไปใช้ใน Decentralized Finance (DeFi) ทำ Yield Farming ได้หรือไม่

แบงก์ชาติให้คำตอบว่า CBDC เปรียบเสมือนเงินธนบัตรที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันจึงยังไม่มีนโยบายให้นำ CBDC ไปเชื่อมต่อกับ DeFi

ประเทศไทยพร้อมใช้ CBDC แล้วจริงหรือ

แบงก์ชาติให้คำตอบว่า แบงก์ชาติอยู่ระหว่างการนำเทคโนโลยีมาทดสอบเพื่อให้ CBDC สามารถรองรับปริมาณการทำธุรกรรมของประชาชนให้ครอบคลุมทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีกระบวนการที่เหมาะสมในการป้องกันไม่ให้เกิดการโจรกรรมข้อมูลหรือถูกโจมตีทางด้านไซเบอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆสามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่