fbpx
Search
Close this search box.

ล่าสุด!แบงก์เตรียมถอดโปรโมชันสินเชื่อบ้าน

ใครจะซื้อบ้านให้รีบตัดสินใจ ล่าสุด!แบงก์เตรียมถอดโปรโมชันสินเชื่อบ้านจาก “ดอกเบี้ยคงที่”ปล่อยเป็น “ลอยตัว” เพื่อรับมือกับการที่ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ย สิงหาคมนี้

ล่าสุด!แบงก์เตรียมถอดโปรโมชันสินเชื่อบ้าน​
สารบัญ

         ด้วยสถานการณ์เงินเฟ้อ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กว่าครึ่งปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าการประชุมของ กนง.ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมมีโอกาสสูงที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่กระทบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งคาดว่าหากมีการขึ้นดอกเบี้ยจริง จะนำไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยบ้านโดยอัตโนมัติ

ภาระผ่อนบ้านเพิ่มขึ้น 4-5% หากขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

         นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับทาง “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งมีการประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ “สินเชื่อที่อยู่อาศัย” ตามมา ซึ่งจะกระทบต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากการผ่อนชำระค่างวดที่เพิ่มขึ้น

         สำหรับลูกค้าสัญญารายใหม่ หาก กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% กรณีวงเงินสินเชื่อบ้าน 1 ล้านบาท ยอดชำระ 4,500 บาทต่อเดือน จะส่งผลให้ยอดผ่อนชำระเพิ่มขึ้น 4-5% หรือประมาณ 250 บาทต่อเดือน ทำให้ยอดผ่อนเพิ่มขึ้นเป็น 4,750 บาทต่อเดือน

          อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกค้าเดิมแม้ว่าจะมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทันที แต่จะไม่ได้รับผลกระทบในการผ่อนต่องวด เนื่องจากธนาคารมีการใส่ buffer การเคลื่อนไหวของดอกเบี้ยขึ้นและลงเข้าไปในการคำนวณดอกเบี้ยอีกราว 0.50-0.75% ไว้ตลอดอายุสัญญาอยู่แล้ว แต่ยอดในแต่ละงวดจะมีหักดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทำให้หักเงินต้นลดลง ซึ่งหมายความว่าลูกหนี้ต้องผ่อนนานขึ้น

           ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน โดยปกติจะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนใกล้กันหรือเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยน่าจะมีการปรับหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 1-2 เดือน

การถอดแคมเปญดอกเบี้ยคงที่

            นายเอกสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับลูกค้ารายใหม่ที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ยอมรับว่าจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และภาระค่างวดจะสูงขึ้น รวมถึงราคาบ้านที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้น และภายหลังจาก ธปท.ส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้น เห็นว่าสถาบันการเงินปรับลดผลิตภัณฑ์ที่เสนออัตราดอกเบี้ยคงที่ (fixed rate) เช่นเดิมที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก ก็ทยอยหายไป และเหลือเสนอดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 6-12 เดือน หรือพิจารณาเป็นรายกรณี

           “หาก กนง.ปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.25% แบงก์ก็ต้องปรับขึ้น 2 ขา ทั้งเงินกู้และเงินฝากขึ้นทั้งกระดาน การทำแคมเปญดอกเบี้ยคงที่จะน้อยลง เพราะยิ่ง fixed นานจะทำให้ต้นทุนแบงก์ยิ่งแพง ทำให้แบงก์จะเน้นปรับเป็นดกเบี้ยลอยตัว หรือ floating rate เพื่อรับกับเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น ในส่วนของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ก็ไม่ได้มีการทำแคมเปญดอกเบี้ยคงที่แล้ว”

           ขณะที่สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงสินเชื่อบ้านใหม่ เนื่องจากต้นทุนของธนาคารสูงขึ้น และแหล่งเงินทุนมาจากฐานเดียวกันคือ เงินฝาก อย่างไรก็ดี โดยปกติสินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์จะคิดอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าสินเชื่อบ้านใหม่ เฉลี่ยประมาณ 0.50%

สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์สะเทือน

           นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้แบงก์พิจารณาสินเชื่อโปรโมชันโดยเฉพาะแคมเปญอัตราดอกเบี้ยคงที่หรือฟิกซ์เรตน่าจะน้อยลง ผลกระทบที่มีต่อลูกค้าอสังหาริมทรัพย์ทำให้ภาระงวดผ่อนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น คำนวณคร่าว ๆ ดอกเบี้ยขึ้น 1% ทำให้เพิ่มภาระผ่อน 7-8% ดังนั้น ทุกครั้งที่ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% หรือ 25 สตางค์ จะมีผลต่อค่างวดเพิ่มขึ้น 2% ต่อปี รวมทั้งการขอสินเชื่อทำให้ได้วงเงินกู้น้อยลง

           “เทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2565 แม้จะขึ้นมาแค่ไหนแต่เปรียบเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็ยังต่ำกว่าดอกเบี้ยในอดีต รอบนี้ต้องค่อย ๆ ปรับตัวปรับกลยุทธ์โดยร่วมกับพันธมิตรสถาบันการเงิน และปรับจูนโปรโมชั่นสินเชื่อเพื่อช่วยลูกค้า”

           การปรับตัวของผู้ประกอบการต้องหันมาควบคุมต้นทุนพัฒนาโครงการและบริหารจัดการกระแสเงินสดให้ดี ควบคู่กับเทรนนิ่งทีมพนักงานขายในการเป็นวันสต็อปเซอร์วิส ให้คำปรึกษาลูกค้าซึ่งเป็นผู้กู้ เช่น ประกอบอาชีพอะไร เหมาะกับการขอสินเชื่อแบงก์ไหนเพื่อสร้างโอกาสให้สามารถกู้ผ่าน ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นลูกค้าลลิลฯ พันธมิตรสถาบันการเงินที่จับมือกัน 4-5 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และทหารไทย จะมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ลบ 25-75 สตางค์ ซึ่งสามารถช่วยได้เยอะ

ภาพรวมปฏิเสธการขอสินเชื่อ 50%

           ในด้านอัตราปฏิเสธสินเชื่อพบว่าภาพรวมตลาดอยู่ที่ 50% ส่วนพอร์ตลูกค้าลลิลฯ อยู่ที่ 20-25% เท่านั้น สาเหตุเพราะบริษัทมีระบบสกรีนสินเชื่อหรือพรีแอปพรูฟก่อนวางเงินจอง ดังนั้น ส่วนใหญ่ลูกค้าที่ผ่านขั้นตอนนี้จะสามารถกู้สินเชื่อผ่านและรับโอนบ้านได้

           ทั้งนี้ เทรนด์การจัดโปรโมชันสินเชื่อบ้านในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 มองว่าจะแข่งขันกันเข้มข้นมากขึ้น โดยแคมเปญการให้ดอกเบี้ยคงที่เชื่อว่าไม่หายไปจากตลาดเพราะมีผลต่อการตัดสินใจใช้สินเชื่อที่ได้ผล เพียงแต่อัตราฟิกซ์เรตอาจจะสูงกว่าเมื่อก่อน ในด้านระยะเวลาที่เคยให้ผ่อนดอกเบี้ยคงที่ยาว ๆ ก็อาจจะหดเวลาสั้นลง ยกตัวอย่าง สินเชื่อดอกเบี้ยคงที่ของลลิลฯ ไม่เคยจัด 0% แต่เลือกทำดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลาตั้งแต่ 6-12-18 เดือน

ข้อแนะนำในการกู้ซื้อ

           สำหรับคนที่ต้องการมีบ้านต้องเร่งซื้อเร่งโอนก่อนการประชุม กนง.เพราะยังมีโอกาสเลือกซื้อบ้านต้นทุนเดิม ราคาเดิม ด้านสินเชื่อก็ยังเป็นต้นทุนเดิมเช่น กันซึ่งมีกำหนดจัดการประชุมอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นำไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยบ้านโดยอัตโนมัติ

อ้างอิง: prachachat

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆสามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่