fbpx
Search
Close this search box.

ไขข้อสงสัย ทำไมมังกรเป็นสัตว์มงคลของจีน

“มังกร” เป็นสัตว์วิเศษในตำนานและอยู่กับความเชื่อของกลุ่มคนในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ แต่ความเชื่อเรื่องมังกรที่ขึ้นชื่อมากที่สุด คงหนีไม่พ้นความเชื่อในประเทศจีน โดยครั้งนี้ เอซียู เพย์ จะพามาไขข้อสงสัยว่า ทำไม “มังกร” ถึงกลายเป็นสัตว์มงคลและสัญลักษณ์แห่งอำนาจของจีน 

ที่มาและต้นกำเนิดของมังกร

ต้นกำเนิดของมังกรจีนมีประวัติย้อนกลับไปเมื่อหลายพันปีก่อน โดยมีการอ้างอิงบทความบางส่วนที่เก่าแก่ที่สุด พบในตำราจีนโบราณที่ชื่อว่า “I Ching” หรือ “Book of Changes” ตำนานเกี่ยวกับมังกรจีนนั้นจะได้รับการยกย่องให้เป็นเหมือนกับเทพเจ้า ในขณะที่ตำนานทางยุโรปจะถือว่ามังกรเป็นสัตว์อันตราย ที่ต้องมีอัศวินมาพิชิตร

ลักษณะภายนอกของมังกรจีนหรือมังกรในดินแดนเอเชียตะวันออกนั้น จัดอยู่ในประเภทสัตว์เลื้อยคลานหรืองู ไม่มีปีกแต่สามารถบินไปในอากาศได้ มังกรในตำนานจีนเป็น สัตว์ที่ผสมผสานระหว่างสัตว์ 9 ชนิด และสามารถเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกได้ ซึ่งสะท้อนถึงการเป็นพหุวัฒนธรรมที่หล่อหลอม สังคมจากชนเผ่าหลากหลายเชื้อชาติในจีนเอาไว้

ตามความเชื่อของชาวจีนโบราณ จะมีสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อยู่ 4 ชนิด คือ กิเลน หงส์ เต่า และ มังกร โดยชาวจีนจะเชื่อถือกันว่ามังกรนั้น เป็นสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้ง 4 ชนิด โดยมังกรจีนหรือที่ชาวจีนเรียกกันว่า 龙 “เล้ง-เล่ง-หลง-หลุง” ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของการออกเสียงของในแต่ละท้องถิ่น 

สัญลักษณ์และความสำคัญของมังกรกับวัฒนธรรมจีน

ชาวจีนถือว่ามังกรนั้นเป็นสัญลักษณ์ของพลัง อำนาจ ความยิ่งใหญ่ และเพศชาย ในสมัยโบราณ จักรพรรดิจีนจึงได้รับการยกย่องให้เป็น “มังกรผู้เป็นโอรสแห่งฟ้า” ซึ่งลวดลายมังกรนี้จะมีเพียงจักรพรรดิเพียงผู้เดียวที่สามารถใช้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ลวดลายมังกร 5 เล็บ จะใช้ประดับตกแต่งบนข้าวของเครื่องใช้ของจักรพรรดิและรัชทายาทลำดับที่ 1 – 2 เท่านั้น สำหรับรัชทายาทในลำดับถัดมาหรือขุนนางในระดับต่าง ๆ จะจำแนกด้วยการประดับมังกรที่มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป

นอกจากนี้มังกรยังเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับฟ้าฝนและแหล่งน้ำ โดยคนจีนโบราณจะเชื่อกันว่าน้ำลายของมังกรนั้น จะก่อให้เกิดลูกแก้ววิเศษที่เรียกกันว่า “ไข่มุกแห่งดวงจันทร์” และ “ไข่มุกแห่งความสมบูรณ์” บันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แห่งพืชพรรณธัญญาหาร และเลือดของมังกรที่ไหลออกมาจะแทรกซึมเข้าไปในแผ่นดินจีนและกลายสภาพเป็นอำพัน และเมื่อมังกรลอกคราบจะทำให้เขาของมังกรเรืองแสงได้ มีพลังในตัวเป็นอย่างมากและส่องแสงสว่างในความมืด คล้าย ๆ กับความเชื่อเรื่องยาอายุวัฒนะของต้นโสม 

ชาวจีนเลยเชื่อว่ามังกรเป็นเทพเจ้าในตำนานที่จะนำมาซึ่งอายุยืนยาว ความเจริญรุ่งเรือง โชคลาภวาสนา นั่นเอง

มังกรในงานศิลปะและสถาปัตยกรรม

นอกจากความเชื่อแล้ว มังกรจีนยังปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมจีนทุกแขนงไม่ว่าจะเป็น จิตรกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม เครื่องถ้วย หรือแม้แต่ลวดลายบนม้วนผ้าไหม อย่างที่เห็นได้ชัดคือภาพแกะสลักลวดลายมังกรที่ปรากฏใน “พระราชวังต้องห้าม” หรือ “พระราชวังกู้กง” (Gu Gong or Imperial Palace or Forbidden City) เป็นจำนวนมาก เพื่อแสดงถึงบารมีและความเป็นสิริมงคลให้กับเจ้าของและผู้อยู่อาศัยเช่นกัน

มังกรกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

มังกรนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่แล้ว ยังเป็นการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มังกรจีนเป็นสัตว์เทพเจ้าที่อยู่บนสรวงสวรรค์ตามความเชื่อของชาวจีน เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของชนชาติจีน โดยชาวจีนทั่วโลกนั้นเชื่อว่า พวกเขาต่างสืบสายเลือดมาจากมังกร (Lung Tik Chuan Ren) 

ซึ่งความเชื่อนี้จึงเกิดเป็นเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับมังกรมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เทศกาลมังกรเชิดเศียร เทศกาลที่ไหว้เทพเจ้ามังกร ผู้บันดาลให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล เพื่อเป็นเคล็ดให้พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ 

หรือการแข่งเรือมังกร กิจกรรมที่แข่งเรือที่มีมามากกว่าสองพันปี เป็นการกระชับความสัมพันธ์ของชุมชน ในการทำงานเป็นทีม และร่วมมือกัน เกิดความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น 

จะเห็นได้ว่ามังกรกับความเชื่อของคนจีนนั้นสะท้อนให้เห็นถึง บทบาทอันหลากหลายของมังกร ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อสื่อถึงอำนาจ เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม หรือแม้แต่การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กลายเป็นเสน่ห์ความเชื่อเหนือกาลเวลาที่อยู่กับคนจีนในทุกช่วงทุกสมัย

ผู้เขียน

Picture of ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่