fbpx
Search
Close this search box.

ข้อผิดพลาดด้านการเงิน ที่คนมีคู่ต้องระวัง

สำหรับคนมีคู่นอกจากเรื่องความรักแล้ว เรื่องเงินทองก็สำคัญไม่แพ้กัน แต่คู่รักส่วนใหญ่มักคิดว่าการพูดเรื่องเงินทองดูไม่ใช่เรื่องสำคัญจำเป็นอะไร แต่รู้ไม่ว่าการไม่พูดเรื่องเงินทองเลย ก็อาจนำมาซึ่งความผิดใจกัน จนเกิดการทะเลาะกันใหญ่โตได้ ครั้งนี้ ACU PAY เลยนำข้อผิดพลาดการเงินที่คู่รักหลายคนอาจกำลังเป็นอยู่โดยไม่รู้ตัว แล้วมาลองเช็กกันดูว่า คุณและคู่รักวางแผนการเงินด้วยกันมากขนาดไหน

1. ไม่รู้เรื่องการเงิน ค่าใช้จ่าย หนี้สินของกันและกัน

คุณรู้เรื่องการเงินของอีกฝ่ายมากขนาดไหน บางคู่อาจรู้ทุกเรื่อง บางคู่อยากรู้แต่ไม่กล้าถาม ความจริงแล้วการวางแผนที่จะมีชีวิตคู่ด้วยกัน การรู้เรื่องการเงินเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทั้งรู้ถึงภาระค่าใช้จ่าย หนี้สินส่วนตัว หนี้สินของครอบครัว ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อหาทางออกร่วมกัน ว่าสามารถช่วยกันแก้ไขได้หรือไม่ โดยควรเริ่มตั้งแต่ก่อนจะวางแผนชีวิตคู่หรือจดทะเบียนกัน จะได้ไม่มีปัญหากันภายหลัง

2. ไม่รู้จักนิสัยการใช้เงินของอีกฝ่าย

มนุษย์ทุกคนล้วนมีนิสัยที่แตกต่างกัน คู่รักของคุณก็เช่นกัน แล้วคุณรู้หรือไม่ว่านิสัยการใช้เงินของคู่รักคุณเป็นแบบไหน เป็นสายช้อป สายประหยัด สายขยันหาเงิน หรือสายลงทุน ถ้าคู่รักของคุณเป็นคนชอบใช้เงิน แต่คุณเป็นคนประหยัด ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ ถ้าไม่เริ่มทำความเข้าใจกันตั้งแต่ต้น ให้ลองคุยแบบเปิดใจ รับฟังกันและกัน และหาวิธีสร้างสมดุลในการเงินของทั้งสองคน 

3. ขาดการวางแผนว่าใครรับผิดชอบเงินส่วนไหน

ชีวิตคู่ของคุณตอนนี้อีกฝ่ายเป็นคนออกเงินและจัดการค่าใช้จ่ายมาตลอดหรือเปล่า แรก ๆ อาจจะไม่มีปัญหา แต่เมื่อเข้ามาอยู่ด้วยกัน ภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มักเพิ่มขึ้นตาม และเมื่อไม่มีการตกลง หรือวางแผนให้ชัดเจนตั้งแรก ภาระอาจเทไปอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเวลาเกิดปัญหาการเงินกัน ก็อาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและความสัมพันธ์ในระยะยาวได้

ทางที่ดีที่สุดคือการให้แต่ละคู่อาจแบ่งภาระหน้าที่ในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ ตามที่พึงพอใจ แต่คู่ไหนที่อีกฝ่ายยินดีจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่างก็ทำได้ แต่ต้องดูว่าทำได้จริง ๆ ไหมในระยะยาว

4. ขาดแผนระยะสั้น ในกรณีฉุกเฉิน

การเริ่มต้นชีวิตคู่ ไม่ใช่แค่วางแผนการเงินแค่ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึงแผนระยะสั้นกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน อย่างเช่น คนใดคนหนึ่งเกิดตกงาน เจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้น

โดยอาจลองทยอยแบ่ง 10% ของเงินเดือนทั้งคู่ มาเเก็บเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน ไว้ใช้ในเหตุจำเป็นเท่านั้น โดยตั้งเป้าอย่างน้อย 6 – 12 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน 

เช่น แต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ 40,000 บาท ควรมีเงินสำรองในกรณีฉุกเฉิน ที่ไม่รวมเงินเก็บสำหรับอนาคต อย่างน้อย 240,000 –  480,000 บาท เพื่อใช้จ่ายในกรณีที่ขาดรายได้กะทันหัน มีเหตุที่ต้องใช้เงินก้อนด่วน เป็นต้น

5. ขาดการลิมิตค่าใช้จ่าย

หลังจากรู้ทั้งสองคนรับรู้รายรับ-รายจ่าย สิ่งต่อมาที่ควรทำคือการสร้างงบประมาณการใช้เงิน ที่เหมาะสมกับทั้งสองคน ให้ถือว่าอีกฝ่ายเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน (ไม่ว่าคุณจะมีเงินเดือนมากน้อยเท่าไรก็ตาม) โดยทั้งคู่จึงมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องการเงิน ทั้งการจ่ายหนี้ ออมเงิน และเอาเงินไปเติมเต็มชีวิตคู่ 

ซึ่งเราอาจแบ่งเงินออกเป็น 2 กระเป๋า นั่นก็คือ เงินสำหรับส่วนรวม อาจช่วยกัน 50/50 และเงินสำหรับใช้จ่ายส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนงบประมาณและการใช้จ่ายได้ให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิต และสถานการณ์การเงินของแต่ละคู่ 

6. ไม่ตั้งเป้าหมายทางการเงินร่วมกัน

เคยกลัวคำพูดที่ว่า ‘อยู่ด้วยกันแล้วเหมือนไม่มีอนาคต’ กันหรือเปล่า ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น นั่นอาจหมายถึงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำลังรู้สึกว่าขาดความมั่นคงในชีวิต ดังนั้น นอกจากการวางแผนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเตรียมพร้อมเรื่องเงินสำรองฉุกเฉินแล้ว อีกเรื่องที่ขาดไม่ได้ในการบริหารเงิน คือ ‘วางแผนการเงินสำหรับอนาคต’ ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหญ่ และควรเกิดขึ้นทันทีที่เริ่มต้นชีวิตคู่

ลองให้คู่ของคุณตื่นเต้นไปกับอนาคตร่วมกัน อย่างการ ตั้งเป้าหมายการเงินในอนาคต ไม่ว่าจะอีก 1 ปี 5 ปี 10 ปี หรือ 15 ปี โดยให้ตั้งเป้าหมายตามหลัก SMART Goal 

ยกตัวอย่างเช่น ในอีก 5 ปี วางแผนจะซื้อบ้านในฝัน 2 ล้านบาท โดยจะต้องมีเงินเก็บ 20% ของราคาบ้าน หรือ 400,000 บาท ซึ่งการเขียนแผนการเก็บออมถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก ๆ เพื่อให้เราตรวจสอบตัวเองได้อยู่ตลอดว่า เข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้มากน้อยเท่าไรแล้ว

สุดท้ายนี้สิ่งสำคัญสำหรับคนมีคู่ นอกจากความรักแล้ว การวางแผนด้านการเงินร่วมกัน ก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่หลายคนอาจมองข้าม ทั้งนี้การวางแผนการเงินและเริ่มต้นความรักไปพร้อม ๆ กัน เป็นสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทุกคู่อยู่ด้วยกันยืนยาวมากยิ่งขึ้น

ผู้เขียน

ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่