fbpx
Search
Close this search box.

ผู้เชี่ยวชาญเผย บริโภค ‘น้ำตาล’ ไม่ต่างกับ ‘เสพสารเสพติด’

น้ำตาล

ใครชอบกินอะไรหวาน ๆ ขอให้ยกมือขึ้น แล้วเคยไหมวันไหนไม่ได้กินน้ำตาล วันนั้นจะรู้สึกไม่มีแรงทำงานเลย แถมยังอารมณ์ไม่ดี รู้สึกทำอะไรก็หงุดหงิด สมองเบลอ ไม่สดชื่นอีก ถ้ามีพฤติกรรมแบบนี้ นี่เป็นสัญญาณว่าเรากำลัง ‘เสพติดน้ำตาล’ แล้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้เราสามารถเข้าถึงน้ำตาลได้ง่ายมาก ทั้งในอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ซึ่งน้ำตาลเองก็เป็นที่ยอมรับในสังคมมากกว่าสารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ซะด้วย จึงเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงได้ยากมาก โดยนักวิจัยและนักโภชนาการหลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า น้ำตาลมีคุณสมบัติเหมือนสารเสพติด และเราควรได้รับน้ำตาลในแต่ละวันให้น้อยลงจะดีที่สุด

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา (24 กรัม) ในคนปกติ แต่จากผลสำรวจพบว่าคนไทยกลับบริโภคน้ำตาลเกินไป 3 เท่าตัว หรือ 20 ช้อนชาต่อวัน เลยทีเดียว

ทำไมเราถึงเสพติดกินน้ำตาล?

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักระบบสมองกันก่อน สมองของคนเราจะมีส่วนที่เรียกว่า ระบบรางวัลของสมอง (The Brain Reward System) หรือ คือส่วนที่จะทำให้เรารู้สึกพึงพอใจและมีความสุข พอเกิดการกระตุ้นในส่วนนี้บ่อย ๆ จะทำให้เราเกิด ความต้องการที่จะได้รับสิ่งนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งปัจจัยกระตุ้นสิ่งนี้มีทั้งสารเสพติด ความสัมพันธ์ การพนัน อาหารหรือแม้กระทั่งน้ำตาล

โดยการกินน้ำตาล จะให้กระตุ้นให้สมองในระบบ Brain Reward System หลั่งสารที่ทำให้คนเสพย์รู้สึกผ่อนคลาย มีความสุขอย่าง โอพิออยด์ (opioids) และโดปามีน (dopamine) ทำให้มีความต้องการอยากได้รับความรู้สึกแบบนี้อีกซ้ำแล้วซ้ำอีก

เคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับหนูจากวิทยาลัยคอนเนทิคัต แสดงให้เห็นว่า ‘คุกกี้โอรีโอ’ กระตุ้นเซลล์ประสาทในศูนย์รวมความสุขในสมองของหนูมากกว่า ‘โคเคน’ ซะอีก (และเหมือนกันกับคน หนูเลือกที่จะกินไส้ครีมข้างในก่อน)

เกิดอะไรขึ้นเมื่อเราเลิกน้ำตาลแบบกะทันหัน?

อย่างที่รู้กันว่าอาหารที่เรากินในปัจจุบัน มีส่วนผสมจากน้ำตาลที่เพิ่มลงไปในปริมาณที่มากกว่าจากน้ำตาลจากในอาหารธรรมชาติทั่วไป ทำให้ร่างกายคิดว่านี่เป็นสิ่งกระตุ้นที่ไม่ได้เกิดแบบปกติ สมองของเราจึงปรับตัวด้วยการลดการตอบสนองเพื่อควบคุมไม่ให้น้ำตาลออกฤทธิ์มากเกินไป 

ดังนั้นในช่วงเวลาที่ไม่ได้กินน้ำตาล หรืองดกินน้ำตาลในช่วงหนึ่ง จะรู้สึกเหนื่อยล้า เวียนหัว หงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่ดี กระวนกระวายแบบผิดปกติ ซึ่งเมื่อเกิดพฤติกรรมแบบนี้เอง ทำให้คนที่ติดน้ำตาลต้องกินในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อกระตุ้นให้สมองหลั่งสารแห่งความสุขออกมา ให้อารมณ์กลับมาเป็นปกติ หายหงุดหงิด อ่อนเพลียอีกครั้ง

นี่เลยอาจเป็นสาเหตุที่เวลาเราจะเลิกกินน้ำชงหวาน ๆ หรือขนมหวานอะไรสักอย่าง เรากลับทำไม่ได้สักที ก็เป็นเพราะสารตัวนี้แหละไปกระตุ้นให้เรารู้สึกกระวนกระวาย ขาดของหวานไม่ได้ อยากกินอีกครั้งให้ได้นั่นเอง 

ถึงอย่างนั้นเราสามารถเลิกเสพติดน้ำตาลได้ ด้วยการลองปรับพฤติกรรมการกิน อาจค่อย ๆ ลดปริมาณน้ำตาลที่จะทานลงในแต่ละวันลง ไม่ปรุงรสด้วยน้ำตาลเพิ่ม และทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของโรคอย่าง ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ และไม่ให้เราหน้าแก่ก่อนวัยอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่