fbpx
Search
Close this search box.

ระวังให้ดี เลี่ยงภาษีมีโทษ

ทุกคนอาจได้ยินเรื่องถ้าเงินเดือนถึงเกณฑ์ชำระภาษี ควรจะยื่นแบบแสดงรายการอะไรบ้าง แต่เคยสงสัยไหมว่า ถ้าจ่ายภาษีไม่ครบถ้วน ยื่นล่าช้า หรือ ไม่ยื่นภาษีเลย จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ครั้งนี้ ACU PAY จะมาเล่ารายละเอียดเบี้ยปรับตามกฎหมายและโทษทางอาญาอะไรบ้าง ถ้าไม่ชำระภาษีตามกำหนด

ไม่ชำระภาษีจะเกิดอะไรขึ้น ?

  1. กรณีเลยกำหนดเวลาชำระ จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระ นับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
  2. กรณีออกหมายเรียก และปรากฏว่า ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้ หรือ ยื่นแบบแสดงรายการไว้ แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี     
  3. กรณีไม่ยื่นแบบ แสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
  4. กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
  5. กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

มีรายได้ แต่ไม่ยื่นภาษีได้หรือไม่ ?

สามารถทำได้ ในกรณีที่รายได้เข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • มีเงินเดือนประจำเพียงช่องทางเดียว โดยที่เงินเดือนไม่เกิน 120,000 บาทต่อปี หรือ 10,000 บาทต่อเดือน
  • ตลอดทั้งปีมีรายได้ทางอื่นไม่เกิน 60,000 บาท หรือ 5,000 บาทต่อเดือน
  • หากจดทะเบียนสมรส และทั้งคู่มีรายได้ทางเดียวจากเงินเดือน รวมกันแล้วทั้งปีไม่เกิน 220,000 บาท
  • จดทะเบียนสมรสแล้ว แต่ทั้งคู่มีรายได้ทางอื่นด้วยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 120,000 บาท หรือประมาณเดือนละ 10,000 บาท
  • มีรายได้จากเงินปันผลกองทุนรวม แล้วใช้สิทธิ์ปล่อยให้ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้าย
  • มีรายได้จากดอกเบี้ยธนาคาร ดอกเบี้ยพันธมิตร ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ส่วนต่าง discount bond กำไรจากการขายตราสารหนี้ เงินปันผลของบริษัทห้างร้าน แล้วใช้สิทธิ์ปล่อยให้ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้าย
  • มีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มา โดยทางอื่นที่ไม่ได้มุ่งหากำไร แล้วใช้สิทธิ์ปล่อยให้ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้าย
  • มีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดกหรือมีคนให้มา แล้วใช้สิทธิ์ปล่อยให้ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้าย

แต่ถ้าหากคุณไม่เข้าในเงื่อนไขดังกล่าว ก็ควรจะยื่นชำระภาษีให้ถูกต้อง หากเกรงว่าจะต้องจ่ายภาษีย้อนหลังควรทำอย่างไร

  • ตรวจสอบรายการภาษีย้อนหลัง โดยเฉพาะรายได้ของแต่ละปีว่ามีรายได้ทั้งหมดเท่าไหร่ เงินที่เข้าบัญชีที่เป็นส่วนของรายได้เท่าไหร่ เพื่อไปแสดงกับกรมสรรพากร
  • กรณีมียอดเงินเข้าเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจด VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน รวมถึงเสียภาษีเงินได้ 2 รอบ คือ ครึ่งปีและปลายปี

ทำอย่างไรไม่ให้โดนภาษีย้อนหลัง

  1. ยื่นภาษีทุกปี 
    ควรยื่นภาษีทุกปีและตรวจสอบเอกสารรายรับของธุรกิจให้ถูกต้องและครบถ้วนก่อนยื่นภาษี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาได้ในภายหลัง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษี หรือซื้อกองทุน เพื่อได้เงินคืน
  2. ทำบัญชีรายเดือน
    การทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้ นอกจากเราสามารถรู้จักการใช้จ่ายของเราแล้ว ยังสามารถเก็บไว้เป็นหลักฐานการมีรายได้เพื่อใช้ประกอบการยื่นภาษีในแต่ละปีได้  บางคนมีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน ก็ต้องนำมายื่นภาษีด้วยเช่นกัน
  3. ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับภาษีอยู่เสมอ
    ควรติดตามข่าวเกี่ยวกับภาษีอยู่เสมอ เพราะว่าการยื่นภาษีในแต่ละปีมักจะมีเงื่อนไขใหม่ๆ ออกมาเสมอ ซึ่งทุกคนควรติดตามข่าวสารเรื่องภาษีอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเป็นประโยชน์ในเรื่องของการลดหย่อนภาษี สามารถเช็กรายละเอียดได้ที่นี่ www.rd.go.th

จะเห็นได้ว่าบทลงโทษจ่ายภาษีนั้น เริ่มตั้งแต่ค่าปรับไปจนถึงขั้นจำคุกเลยทีเดียว เรื่องภาษีเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามอย่างมาก ดังนั้นเราควรวางแผนคำนวณการจ่ายภาษีตั้งแต่เนิ่น ๆ ยื่นภาษีให้ครบทุกปี เพื่อป้องกันค่าปรับจากภาษีย้อนหลังที่อาจเกิดขึ้นโดยเราไม่ทันได้ตั้งตัว

ขอบคุณข้อมูลจาก สรรพากร

https://inflowaccount.co.th/tax-evasion/ 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่