fbpx
Search
Close this search box.

ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากคืออะไร ทำไมต้องจ่าย?

รู้หรือไม่ว่าฝากเงินเฉย ๆ ไว้ในธนาคารก็เสียภาษีได้เหมือนกัน ซึ่งภาษีที่ว่านั้นก็คือ “ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก” แล้วภาษีนี้ต้องมีเงินในธนาคารเท่าไหร่ ถึงจะถึงเกณฑ์จ่ายบ้าง ครั้งนี้ ACU PAY จะมาแชร์ความรู้เรื่องนี้และการฝากเงินแบบไม่เสียภาษีให้ด้วย ตามมาทำความรู้จักกับภาษีดอกเบี้ยเงินฝากกันเลย

เกณฑ์ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก

ถ้าได้รับดอกเบี้ยเงินและผลตอบแทนเงินฝากออมทรัพย์จากธนาคาร “ทุกบัญชี” รวมกันภายใน 1 ปีปฏิทิน (1 มกราคม – 31 ธันวาคม) โดยมียอดรวมทั้งหมดเกิน 20,000 บาท เราต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยจ่าย ในปีนั้นทันที ตัวอย่างเช่น

กรณีที่ 1 มีเงินฝากในบัญชีเดียว
นาย A มีเงินฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ 1 บัญชี ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากปีนี้ เท่ากับ 20,000 บาทถ้วน ซึ่งยอดดอกเบี้ยนี้ยังไม่เกิดที่กฎหมายกำหนด (20,000 บาท) ดังนั้น นาย A ไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากในปีนี้

ในทางกลับกัน นาย B มีเงินฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ 1 บัญชี ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากปีนี้ เท่ากับ 20,050 บาท ซึ่งยอดดอกเบี้ยนี้มากกว่ายอดที่กฎหมายกำหนด (20,000 บาท) ดังนั้น นาย B ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากในปีนี้

กรณีที่ 2 มีเงินฝากมากกว่า 1 บัญชี

นาย C มีเงินฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ 2 บัญชีที่ธนาคารเดียวกัน ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากแต่ละบัญชีเท่ากับ 10,500 บาทในปีนี้ โดยได้รับดอกเบี้ยรวมกัน 2 บัญชีเท่ากับ 21,000 บาท ซึ่งยอดดอกเบี้ยนี้มากกว่ายอดที่กฎหมายกำหนด (20,000 บาท) ดังนั้น นาย C ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากในปีนี้

ในปัจจุบันถ้ามีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่เราได้รับ เกิน 20,000 บาท ทางธนาคารจะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% ของดอกเบี้ยที่ได้ทันที แต่สำหรับใครที่แจ้งไม่ประสงค์ให้ธนาคารส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร เมื่อปี 62 คนนั้นจะโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% ตั้งแต่บาทแรก

ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ขอคืนได้หรือไม่

กรณีที่เราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% จากยอดดอกเบี้ยที่ได้รับนั้น เรามีสิทธิ์เลือกเอารายได้ดอกเบี้ยมายื่นภาษีประจำปี เพื่อขอคืนภาษีได้ ถ้าหากเรามีฐานภาษีไม่ถึง 15% ก็มีสิทธิได้คืนภาษี หรือถ้าหากเรามีฐานภาษีตั้งแต่ 15% ขึ้นไปก็สามารถปล่อยให้หักไป แล้วไม่ต้องเอามายื่นภาษีก็ได้

ฝากเงินแบบไหนไม่เสียภาษี

สำหรับทางเลือกของคนที่ชอบฝากเงิน และอยากได้ดอกเบี้ยเต็ม ๆ โดยที่ไม่อยากเสียภาษี แนะนำ เงินฝากเผื่อเรียกของธนาคารรัฐต่าง ๆ เช่น ออมสิน ธ.ก.ส. และฝากประจำแบบปลอดภาษี ซึ่งระยะเงินฝากมีตั้งแต่ 24 – 36 เดือน และต้องฝากเงินรวมทั้งหมดตลอดระยะเวลาไม่เกิน 600,000 บาท โดยเงื่อนไขเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร เช่น ต้องฝากเงินเป็นจำนวนเท่ากันทุกเดือน สมมุติฝากเดือนละ 2,000 บาท ทุกเดือนจนครบกำหนดระยะเวลาฝาก ถึงจะได้รับดอกเบี้ยตามเงื่อนไข ซึ่งดอกเบี้ยเงินฝากประจำแบบปลอดภาษีจะให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำทั่วไป และไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% อีกด้วย

เป็นอย่างไรกันบ้าง การฝากเงินในบัญชีก็มีเรื่องให้เราปวดหัวอยู่บ้างเหมือนกัน แต่การที่เราได้รู้ถึงหลักการเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก การขอเงินคืน และฝากเงินแบบไหนไม่เสียภาษี จะทำให้เราสามารถเข้าใจเรื่องภาษีมากขึ้นไม่มากก็น้อย

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่