fbpx
Search
Close this search box.

5 เรื่องการเงินที่โรงเรียนไม่เคยสอน

ทักษะความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) เป็นเรื่องที่สำคัญในการดำเนินชีวิตอย่างมาก แต่ทักษะความรู้เหล่านี้กลับเป็นเรื่องที่โรงเรียนไม่เคยสอนแบบจริงจัง ซึ่งครั้งนี้ ACU PAY จะมารวบรวม 5 เรื่องการเงินที่โรงเรียนไม่เคยสอน ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งไม่ต้องมาเหนื่อยในช่วงใกล้จะเกษียณ

เนื้อหา

1. วิชาทำงบการเงิน วางแผนเหลือเงินออม

การจะบรรลุเป้าหมายการเงินต่าง ๆ สิ่งแรกที่ควรเริ่มคือการวางแผนออมเงิน ที่คนส่วนมากมักละเลยและคิดว่าไม่สำคัญตั้งแต่ช่วงแรกของการทำงาน ทั้งที่ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด เพราะภาระค่าใช้จ่ายยังน้อย

เพื่อช่วยให้เราเห็นภาพสถานะทางการเงินของเราชัดเจน ให้เราจัดการงบการเงินส่วนบุคคล ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท 

  1. การทำรายรับ-รายจ่าย การบันทึกรายรับรายจ่ายจะช่วยให้เราเห็นสภาพคล่องทางการเงินทั้งการไหลออกและไหลเข้า รู้ว่าค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่ควรตัดออกได้บ้าง
  2. รู้วิธีคำนวณงบแสดงสถานะทางการเงิน การรู้วิธีคำนวณสถานะทางการเงินว่า เรามีความมั่งคั่งเท่าไร โดยคำนวณว่า เรามีทรัพย์สินมากกว่า หนี้สินแค่ไหน เป็นต้น จากนั้นให้เริ่มตั้งเป้าหมายการออมเงิน อาจเริ่มจากเงินสำรองฉุกเฉิน อย่างน้อย 6 – 12 เท่าของค่าใช้จ่าย และมีเงินออมอย่างน้อย 10% ของรายได้

2. วิชาลงทุน สร้าง Passive Income

นอกจากงานประจำที่เราทำเพื่อแลกเงินแล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งที่ใช้เงินทำงานให้เรา นั่นก็คือการลงทุนหุ้นหรือกองทุนที่เรียกกันว่า Passive Income ถ้าเรารู้หลักการเบื้องต้นของหุ้นหรือกองทุนว่าเป็นอย่างไร และต้องลงทุนแบบไหน ก็จะทำให้เข้าใจคอนเซปของการลงทุนมากขึ้น ยิ่งรู้เร็วเท่าไร ความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้น หรือ (Compound Interest) ก็จะเกิดเร็วขึ้นมากเท่านั้น อย่างที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยพูดไว้ว่า “ดอกเบี้ยทบต้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับที่ 8 ของโลก ใครที่เข้าใจมัน ย่อมได้รับประโยชน์ ใครที่ไม่เข้าใจ ก็จะพลาดโอกาสไป”

โดยมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้น ก็คือ การเอาดอกเบี้ยหรือกำไรที่เราได้รับจากการลงทุน กลับไปลงทุนต่อ ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนของเรางวดถัดไปนี้ ก็จะเป็นการคิดดอกเบี้ยจากเงินต้น บวกกับดอกเบี้ยที่ได้รับจากงวดก่อนหน้า ทบกันไปเรื่อย ๆ 

3. วิชาหนี้ ความต่างระหว่าง หนี้รวย และ หนี้จน

อยากให้ทำความเข้าใจกันใหม่ว่า การเป็นหนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่เสมอไป ถ้าเราแยกความแตกต่างระหว่างหนี้ 2 ประเภทออก

  1. หนี้รวย หนี้ที่จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับเรา เช่น เงินกู้ เพื่อใช้ในการทำธุรกิจ ซึ่งจะสร้างกระแสเงินสด เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้กับเราในอนาคต
  2. หนี้จน หนี้ที่จะสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้เราเพิ่มขึ้น เช่น  
  • หนี้บริโภค เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้นอกระบบ ซึ่งหนี้ประเภทนี้ กู้มาแล้ว ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเราและยังมีดอกเบี้ยที่สูง
  • หนี้เพื่อการประกอบอาชีพและปัจจัยพื้นฐาน เช่น หนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้กู้ซื้อบ้าน และหนี้กู้ซื้อรถ หนี้ประเภทนี้เป็นหนี้ที่มีความจำเป็น เพราะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้น เพื่อไปใช้จ่ายปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต แต่ก่อนที่เราจะก่อหนี้ประเภทนี้ ควรประเมินก่อนว่า ระดับรายได้ของเราในตอนนี้ พร้อมสำหรับการก่อหนี้ประเภทนี้แล้วหรือยัง เพราะหนี้เหล่านี้นั้น ต้องใช้เวลาในการผ่อนที่ยาวนาน อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของเราได้

4. วิชาภาษี หนีไม่ได้แต่วางแผนได้

เมื่อเราทุกคนมีรายได้ เรื่องภาษีจะเป็นสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการเสียภาษี ถ้าไม่มีการวางแผนที่ดี ก็อาจทำให้เราต้องเสียภาษีมากเกินไปโดยไม่จำเป็น ซึ่งถ้าเรารู้จักการวางแผนภาษี ก็จะทำให้มีเงินเหลือเก็บเพิ่มมากขึ้นแบบง่าย ๆ

ซึ่งความรู้ด้านภาษี ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ยกตัวอย่างเช่น

  • การลงทุนในกองทุน RMF และ SSF
  • การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • ประกันสังคม
  • การบริจาค เพื่อลดหย่อนภาษี
  • การทำประกัน

5. วิชาวางแผนเกษียณ และความเสี่ยงในอนาคต

วัยเกษียณที่คิดว่าอีกนานกว่าจะมาถึง คิดว่าปล่อยเป็นเรื่องอนาคตก็ได้ แต่ความจริงแล้ว เมื่อถึงวันนั้นจริง ๆ การไม่มีการเตรียมพร้อมที่ดีตั้งแต่หนุ่มสาว ก็อาจทำให้ชีวิตที่ควรหยุดทำงาน ต้องลำบากกว่าหลายเท่า ดังนั้นการวางแผนเกษียณเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ 

นอกจากนี้แล้ว ความเสี่ยงในอนาคต ก็เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น อุบัติเหตุ เจ็บป่วย ซึ่งอาจสร้างความลำบากกับเงินในกระเป๋าของเราอย่างหนักได้ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด ก็คือการป้องกันความเสี่ยง อย่างการทำประกันแต่ละประเภทเอาไว้ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และประกันชีวิต ซึ่งอาจช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของเราได้

อ้างอิงจาก

ผู้เขียน

ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่