fbpx
Search
Close this search box.

“คะเคโบะ” เคล็ดลับการออมเงินฉบับคนญี่ปุ่น

ทุกครั้งที่พูดถึงการออมเงิน มักฟังดูเป็นเรื่องง่ายซะเหลือเกิน แต่พอเริ่มทำจริงแล้วกลับเป็นเรื่องยากกว่าที่คิด เพราะการออมเงินจำเป็นต้องมีวินัยและการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งเทคนิคการเก็บเงินก็มีหลากหลายแบบตามที่เราถนัด แต่ถ้าพูดถึงเคล็ดลับการเก็บเงินที่ใช้มามากกว่าร้อยปีแล้วก็ คงเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก “คะเคโบะ” หรือการออมเงินสุดคลาสสิคของชาวญี่ปุ่นนั่นเอง

ซึ่งครั้งนี้ ACU PAY จะมาบอกเคล็ดลับการออมเงินฉบับชาวญี่ปุ่น ที่บอกเลยว่าถ้าทำตามนี้รับรองว่าเป้าหมายการออมเงินที่หวังเป็นจริงได้ไม่ยากเลย

“คะเคโบะ” ต้นกำเนิดวิธีออมเงินสุดเก่าแก่จากญี่ปุ่น

เป็นที่รู้กันว่าญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีศิลปะอยู่ในแทบทุกเรื่อง แม้แต่การเก็บเงินซึ่งสิ่งนั้นเรียกว่า คะเคโบะ (Kakeibo) หรือแปลว่า “สมุดบัญชีครัวเรือน” วิธีการนี้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1904 คิดค้นโดย ฮานิ โมโตโกะ (Hani Motoko) นักหนังสือพิมพ์หญิงคนแรกของญี่ปุ่น เนื่องจากผู้หญิงยุคนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานนอกบ้าน คะเคโบะจึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ให้อิสระแก่แม่บ้านในการจัดการรายรับรายจ่ายของครอบครัวได้ดีขึ้น 

หลักคิดของ 'Kakeibo'

หลักการคิดแบบคะเคโบะ คือการได้พูดคุยและตั้งคำถามกับตัวเองก่อนที่จะตัดสินใจซื้อของชิ้นนั้น ว่าจำเป็นจริงๆ หรือเพียงแค่อารมณ์ชั่ววูบ โดยการให้ตอบคำถามง่าย ๆ เหล่านี้

  • ​​​​​​ถ้าไม่มีของชิ้นนี้สามารถอยู่ได้หรือไม่?
  • สถานการณ์ทางการเงินตอนนี้สามารถซื้อได้หรือไม่?
  • จะใช้สินค้าชิ้นนี้จริงๆ หรือไม่?
  • มีพื้นที่พอสำหรับของชิ้นหรือไม่?
  • เจอสินค้าชิ้นนี้ได้อย่างไร? (เคยเห็นบนหน้าฟีดในโซเชียล หรือบังเอิญเจอตอนที่กำลังเดินในห้างสรรพสินค้า)
  • อารมณ์ในวันนี้เป็นอย่างไร? (ใจเย็น มีความเครียด อยู่ในช่วงเทศกาล หรือกำลังรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง)
  • เมื่อได้ซื้อมาแล้วจะรู้สึกอย่างไร? (มีความสุข ตื่นเต้น หรือ เฉย ๆ)

ขั้นตอนการเก็บเงินแบบฉบับ “คะเคโบะ”

การเขียนบันทึกแบบคะเคโบะสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ เพียงแค่ใช้สมุดกับปากกา หรืออีกทางเลือกอย่าง ใช้แอปพลิเคชันในการจดบันทึก ก็เป็นอีกขั้นตอนที่สะดวกสำหรับคนสมัยใหม่

  1. จดบันทึกรายรับทั้งหมด
    บันทึกรายได้ทั้งหมดที่ได้รับมาในแต่ละเดือน ไม่ว่าจะมีรายได้กี่ทาง ทั้งงานประจำงานหรือรายได้เสริม ให้สรุปรายรับที่ได้มาทั้งหมด บันทึกรวมเอาไว้ให้ครบ
  1. จดค่าใช้จ่ายประจำที่แน่นอนในแต่ละเดือน
    ระบุรายจ่ายประจำที่ต้องใช้ในทุก ๆ เดือน เช่น ค่าเช่าบ้าน, ค่าเดินทาง, ค่าอาหาร, ค่าโทรศัพท์, ค่าน้ำ, ค่าไฟ และหนี้สินต่าง ๆ ที่ต้องชำระทุกเดือน
  1. หาจำนวนเงินที่เหลือ
    จุดเริ่มต้นของการออม คือการที่ต้องรู้จำนวนเงินเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว เพื่อนำมาวางแผนการเงินกันต่อไป โดยคิดจาก
    ( เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย = รายรับต่อเดือน – ค่าใช้จ่ายประจำ )
  1. ตั้งเป้าหมายจำนวนเงินออม
    เมื่อรู้ว่ามีเงินเหลือเท่าไร หลังจากหักค่าใช้จ่ายประจำแล้ว ให้ลองเริ่มต้นกำหนดเป้าหมายการใช้จ่ายและการออมเงินในแต่เดือนดู ซึ่งในช่วงแรกเป้าหมายการออมเงินอาจจะเริ่มต้นจากจำนวนน้อย ๆ ก่อน เมื่อปรับตัวได้แล้วค่อย ๆ เพิ่มเป้าหมายให้ใหญ่ขึ้น ท้าทายตัวเองในการออมเงิน ซึ่งเงินออมนี้ควรเก็บไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน ฝากไว้ธนาคารดอกเบี้ยสูง หรือ หักไปลงทุนเพื่อให้เงินเพิ่มพูนขึ้น
  1. ระบุหมวดหมู่การใช้จ่าย
    เมื่อได้รู้แล้วค่าใช้จ่ายคงที่ต่อเดือน เงินที่เหลือจากการค่าใช้จ่ายประจำ และเป้าหมายการออมอย่างชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ให้แยกรายจ่ายออกตามหมวดหมู่ โดยแบ่งให้ละเอียดยิ่งดี ซึ่งขั้นตอนนี้ถือเป็นจุดสำคัญที่ช่วยฝึกวินัยให้คนญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการออมแบบคะเคโบะ โดยรายจ่ายที่ต้องจัดหมวดหมู่ตามนี้
    ค่าใช้จ่าย หมวดจำเป็นต้องจ่ายเพื่อใช้ชีวิต เช่น ค่าที่อยู่อาศัย ค่าอาหาร 
  • ค่าใช้จ่าย หมวดไม่จำเป็นในบางครั้ง ไม่ต้องมีก็ได้ เช่น ออกไปกินข้าวนอกบ้าน มีเสื้อผ้าใหม่ ไปเที่ยวพักผ่อน งานอดิเรก
  • ค่าใช้จ่าย หมวดความบันเทิง เช่น หนังสือ ภาพยนตร์ คอนเสิร์ต และการสมัครสมาชิกสตรีมมิงต่างๆ 
  • ค่าใช้จ่าย หมวดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ

    ซึ่งทั้งหมดนี้ เราควรกำหนดวงเงินสำหรับค่าใช้จ่ายตามหมวดหมู่ที่แบ่งไว้ จากนั้นให้คะแนนในแต่ละหมวด ว่าหมวดไหนใช้มากที่สุดเพื่อจะได้เห็นจุดอ่อนการใช้เงินของตัวเอง หรือเราใช้เงินไปกับความต้องการด้านไหนมากที่สุด 
  1. ทบทวนค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน เพื่อนำมาปรับปรุง
    คุณสมบัติเด่นของการออมเงินให้สำเร็จในสไตล์ญี่ปุ่น  คือการทบทวนและพัฒนาตัวเอง ดังนั้นเมื่อถึงสิ้นเดือนก็มาสรุปจากสิ่งที่ได้บันทึกไป ว่าใช้อะไรไปเท่าไรและได้ทำตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ถ้าหากว่าสิ้นเดือนนั้น คุณมีเงินติดลบ อาจหมายถึงคุณได้สร้างหนี้เพิ่ม เอาเงินสำรองฉุกเฉินมาใช้ เดือนหน้าคุณอาจต้องเข้มงวดการใช้เงินเป็นพิเศษ แต่หากผลรวมเป็นศูนย์ หรือพอดีกับแผนที่วางไว้ แปลว่าคุณสามารถทำได้ตามแผนที่ตั้งไว้ แต่ที่สุดคือการทำให้ผลเป็นบวก เพื่อนำเงินออมที่เหลือไปเก็บเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน หรือลงทุนเพิ่มเติมจะดีที่สุด

ถึงแม้ว่าการจดบันทึกแบบคะเคโบะในช่วงแรกอาจจะต้องใช้ความพยายามหนักบ้าง แต่เชื่อเถอะว่าถ้าได้เริ่มทำทุกวันจนคุ้นชินแล้ว การใช้ชีวิตของคุณจะเปลี่ยนไปแน่นอน เพราะคะเคโบะจะช่วยสร้างวินัยและการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ผลที่ได้รับตามมานั่นก็คือ การมีเงินออมและมีความมั่นคงทางการเงินที่เพิ่มขึ้นตามแน่นอน 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่