fbpx
Search
Close this search box.

จับตากลุ่มนายทุนใหญ่ ชิงศึกลงทุน Virtual Bank

เป็นที่น่าจับตามองเมื่อกลุ่มนายทุน 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ ได้ลงศึกชิงใบอนุญาต เปิดพรมแดนธุรกิจการเงินใหม่ “ธนาคารไร้สาขา” หรือ “Virtual Bank” อย่างเป็นทางการ โดยเปิดให้ผู้สมัครยื่นใบสมัครอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. – 19 ก.ย. 2567 ซึ่งปรากฏว่ามีสถาบันการเงินและบริษัทชั้นนำของไทยหลายแห่ง เปิดหน้าประกาศลงสนามชิงใบอนุญาตกันอย่างคึกคัก

เนื้อหา

Virtual Bank คืออะไร

ธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ที่ไม่มีสาขา โดยจะให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก แต่สามารถให้บริการรับฝากเงิน พิจารณาให้สินเชื่อ โอนและชำระเงิน การให้บริการด้านการลงทุน รวมทั้งบริการอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ที่มีสาขา แต่ให้บริการผ่านออนไลน์แทน

ศึกกลุ่มนายทุนชิง Virtual Bank

ซึ่งตอนนี้ทาง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดระบบพิจารณาคำขอจัดตั้ง “ธนาคารไร้สาขา” หรือ Virtual Bank เป็นวันแรก เมื่อ 20 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยมีนักธุรกิจไทยและต่างชาติให้ความสนใจเข้ารับฟังหลักเกณฑ์มากกว่า 200 คน หรือประมาณ 100 บริษัท
โดย ธปท.จะเปิดรับสมัครนาน 6 เดือน และจะร่วมกับกระทรวงการคลังพิจารณาคุณสมบัติและแผนธุรกิจผู้ยื่นใบสมัครอีก 9 เดือน และให้เวลาผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับใบอนุญาต เตรียมตัวจัดตั้งธุรกิจอีก 1 ปี จึงคาดว่าธนาคารไร้สาขาแห่งแรกของไทย จะเปิดบริการได้เร็วที่สุดในช่วงกลางปี 2569

อย่างไรก็ตามมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนใหญ่ในการจับคู่ธุรกิจให้บริการธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยมี 4 กลุ่มทุนใหญ่สำคัญ ที่ชัดเจนมากสุด คือ

1. กลุ่มธนาคารกรุงไทย ร่วมกับกลุ่มเอไอเอส และกัลฟ์

โดยธนาคารกรุงไทย จับมือกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือ AIS บริษัทโทรคมนาคมใหญ่ที่สุดในไทย พร้อมด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ดำเนินธุรกิจไฟฟ้า และบริษัท ปตท.  น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่ตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพูดคุยเข้ามาเป็นพันธมิตรเพิ่มเติม

2. กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ Kakao Bank ของเกาหลีใต้ และ WeBank ธนาคารดิจิทัลชั้นนำของจีน

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ประกาศจับมือกับ Kakao Bank ธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ และมีประสบการณ์ด้าน Virtual Bank มาโดยตรง จัดตั้งกิจการค้าร่วม เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาให้กับคนไทยที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ โดย SCBX จะมีสัดส่วนถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ และ Kakao Bank จะถือหุ้นอย่างน้อย 20% และล่าสุดได้มี WeBank ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน เข้ามาเป็นพันธมิตรเพิ่มเติมอีกราย

3. กลุ่มเจมาร์ท และพันธมิตร KB Financial group ของเกาหลีใต้

กลุ่มเจมาร์ท (Jaymart) ผู้นำด้านค้าปลีกเทคโนโลยี และการเงิน ร่วมมือกับ KB Financial Group กลุ่มการเงินขนาดใหญ่จากเกาหลีใต้ 

4. กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ Ascend group ซึ่งมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ และเป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่สุดของไทย

แอเซนด์ มันนี่ (Ascend Money) ฟินเทคยูนิคอร์นรายแรกของไทย และบริษัทในกลุ่ม Ascend Group เครือซีพี หรือผู้ให้บริการ True Money โดยแอเซนด์ มันนี่ยังมีพันธมิตรอย่าง Ant Financial Services Group บริษัทในเครือของ Alibaba Group

นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่กำลังหารือกับที่ปรึกษา เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank  ซึ่งหลังจากนี้จะมีกลุ่มทุนรายอื่นเข้ามาโดดร่วมวงอีกหรือไม่ ต้องรอดูผลหลังการปิดรับอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

 

สรุปไทม์ไลน์ การจัดตั้ง Virtual Bank ของไทย

  • 20 มี.ค. 67 

เปิดรับสมัคร

  • 19 ก.ย. 67 

ปิดรับสมัคร 

แบงก์ชาติ และกระทรวงการคลังคัดเลือก

  • มิ.ย. 68 

ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือก 

เตรียมความพร้อม

  • มิ.ย. 69 

Virtual Bank เริ่มให้บริการ

โดยการมาของธนาคารไร้สาขานี้ นักวิเคราะห์คาดว่า Virtual Bank จะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม ของระบบการเงินไทยที่ค่อนข้างสูง จะถูกกดดันให้ลดลงในระยะยาว จากการแข่งขันเพิ่มขึ้นในธุรกิจบริการทางการเงิน ขณะเดียวกันคนไทยก็จะมีทางเลือกมากขึ้น ส่งเสริมให้ตลาดการเงิน ระบบการเงิน และระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพสูงขึ้น 

ผู้เขียน

Picture of ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่