fbpx
Search
Close this search box.

อัตราแลกเปลี่ยนคืออะไร ? ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างไร ?

             ถ้าใครไปเที่ยวต่างประเทศบ่อยๆ คงคุ้นเคยกับคำว่า อัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange Rate) เป็นอย่างดี เพราะจำเป็นต้องแลกเงินบาทไปเป็นสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งการแลกเงินในแต่ละครั้ง ก็จะได้จำนวนเงินสกุลต่างประเทศมาไม่เท่ากัน มากบ้างน้อยมาก วันนี้เรามาดูกันครับว่าเพราะอะไร เราถึงแลกเงินได้มากน้อยไม่เท่ากัน

อัตราแลกเปลี่ยนคืออะไร(Foreign Exchange Rate) ?

         อัตราแลกเปลี่ยนคือ ‘ราคา’ ของเงินสกุลหนึ่งเทียบกับเงินสกุลอื่น เช่น ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แสดงว่า เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะแลกเงินบาทได้ 34 บาทหรือเงิน 1 บาท จะแลกเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ 0.02 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเราฟังข่าว หากเราได้ยินคำว่าเงินบาท ‘แข็งค่า’ นั่นแปลว่าเงินบาทมีราคาแพงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น เช่น เงินบาทแข็งค่าขึ้นจาก 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หากเราได้ยินคำว่าเงินบาท ‘อ่อนค่า’ แปลว่าเงินบาทมีราคาถูกลงเมื่อเทียบกันเงินสกุลอื่น เช่น เงินบาทอ่อนค่าลงจาก 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ใครเป็นคนกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลต่าง ๆ

            เงินสกุลต่าง ๆ ก็เหมือนกับสินค้าชนิดหนึ่งที่ราคาถูกกำหนดโดยกลไกตลาด นั่นคือ ความต้องการซื้อ (อุปสงค์) และความต้องการขาย (อุปทาน) ยกตัวอย่างเช่น หากมีคนต้องการเงินบาทมากขึ้น ราคาของเงินบาทก็จะสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า “เงินบาทแข็งค่า” ในทางกลับกัน ถ้ามีคนต้องการเงินบาทน้อยลง ราคาของเงินบาทก็จะปรับลดลง หรือที่เรียกว่า “เงินบาทอ่อนค่า” เงินสกุลต่าง ๆ มีการซื้อขายกันตลอด 24 ชั่วโมงทั่วโลก โดยคนกลุ่มต่าง ๆ เช่น ผู้นำเข้าส่งออก สถาบันการเงิน นักลงทุนต่างชาติ และกองทุนต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลต่าง ๆ ที่ซื้อขายกันในตลาดโลก ก็จะส่งผ่านมาสู่อัตราแลกเปลี่ยนที่เราซื้อขายเงินสกุลต่าง ๆ กับธนาคารพาณิชย์หรือผู้ให้บริการแลกเงิน

อัตราแลกเปลี่ยนดูอย่างไร?

               อัตราแลกเงินมีอยู่ 2 แบบ คือ Selling Rate (อัตราซื้อ) และ Buying (อัตราขาย) มีความหมายและวิธีการดูอัตราแลกเปลี่ยนดังนี้

1. Selling Rate (อัตราซื้อ)

           Selling Rate เป็นราคาที่ธนาคารขายให้เราซื้อ เช่น ต้องการซื้อเงินสำหรับไปเที่ยวต่างประเทศ ธนาคารจึงขายเงินสกุลต่างประเทศให้เรา

    • วิธีการดู : ช่อง Selling Rate จะมีตัวเลขมากกว่าช่อง Buying Rate
    • วิธีการคำนวณ :
      • กรณีแลกเงินไปต่างประเทศ นำจำนวนเงินไทย “หาร” ด้วย Selling Rate 
      • กรณีใช้จ่ายที่ต่างประเทศแล้วต้องการทราบค่าเงินเป็นเงินไทย นำเงินต่างประเทศ “คูณ” ด้วย Selling Rate 

2. Buying (อัตราขาย)

           Buying Rate เป็นราคาที่ธนาคารรับซื้อเมื่อเราขายหรือแลกเงิน เช่น หลังเรากลับมาจากต่างประเทศ ต้องการขายเงินสกุลต่างประเทศเป็นเงินไทย ธนาคารจะรับซื้อเงินจากเรา

    • วิธีการดู : ช่อง Buying Rate จะมีตัวเลขน้อยกว่าช่อง Selling Rate
    • วิธีการคำนวณ : กรณีแลกเงินตอนกลับประเทศ นำจำนวนเงินต่างประเทศ “คูณ” ด้วย Buying Rate

          หลักการจำง่ายๆ คือให้เรามองธนาคารเป็นที่ตั้งหากเราต้องการซื้อ ธนาคารจะเป็นคนขายให้เรา หากเราต้องการขาย ธนาคารจะเป็นคนซื้อเงินของเรา

อัตราแลกเปลี่ยนส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างไร ?

          อัตราแลกเปลี่ยนจะส่งผลต่อเราอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นใคร หากเราเป็นคนที่ต้องการแลกเงินเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศ เมื่อเงินบาทแข็งค่า เราจะแลกเงินตราต่างประเทศได้มากขึ้นด้วยจำนวนเงินบาทเท่าเดิม แปลว่ายิ่งเงินบาทแข็งค่า การซื้อของในต่างประเทศของเราจะยิ่งถูกลง หากเราเป็นประชาชนทั่วไปที่ต้องบริโภคสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น สินค้าที่ต้องนำเข้า เช่น น้ำมัน โทรศัพท์สมาร์ทโฟน จะมีราคาถูกลง ธุรกิจได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกัน โดยบริษัทที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต จะได้รับผลดีเมื่อเงินบาทแข็งค่า เพราะวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจะมีราคาถูกลงเมื่อคิดเป็นมูลค่าเงินบาท แต่บริษัทที่เป็นผู้ส่งออกนั้นได้รับผลเสียเมื่อเงินบาทแข็งค่า เพราะเงินที่ได้จากขายสินค้าให้ชาวต่างชาติเมื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาทจะมีมูลค่าลดลง ในทางกลับกัน เมื่อเงินบาทอ่อนค่า กลุ่มผู้ที่ได้รับผลดีและผลเสียก็จะสลับกัน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนจะมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์เสมอธุรกิจที่ไม่ต้องการได้รับผลเสียจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน สามารถใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ 

        อย่างไรก็ตามการขึ้นลงของค่าเงิน ไม่ได้มีแค่ปัจจัยภายในประเทศ ยังมีปัจจัยจากต่างประเทศอีกด้วย เช่น เมื่อเราเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า หรือแข็งค่าก็จะส่งผลต่อค่าเงินของบ้านเราด้วยเช่นกัน 

ที่มา :  bot

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆสามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่