fbpx
Search
Close this search box.

ย้อนอดีต ‘เงินตรากินได้’ สื่อกลางของกินที่มีค่าเสมือนกับเงิน

ย้อนอดีต ‘เงินตรากินได้’ สื่อกลางของกินที่มีค่าเสมือนกับเงิน
ก่อนที่มนุษย์เราจะใช้เงินธนบัตรเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน รู้ไม่ว่าย้อนไปเมื่อหลายร้อยหลายพันปีก่อน มนุษย์เคยใช้ ‘ของกินได้’ มาเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสิ่งของอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งจะมีอะไรบ้าง มาดูพร้อมกันเลย

เนื้อหา

1. ชาวโรมันจ่ายค่าจ้างเป็น ‘เกลือ’

อย่างที่รู้กันว่า ปัจจุบันนายจ้างจะจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้าง ด้วยธนบัตร และนำธนบัตรนั้นไปใช้จ่ายซื้อสินค้าต่อไป แต่ในสมัยโรมันโบราณเมื่อ 600 ปีก่อนคริสตกาล ทหารโรมันจะรับเบี้ยเลี้ยงรายเดือนที่เรียกว่า ‘เกลือ’ 

สำหรับชาวโรมัน ‘เกลือ’ ถือเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ถึงกับเรียกว่า ‘ทองคำขาว’ เลยทีเดียว เพราะในสมัยนั้น การถนอมอาหารจำเป็นต้องใช้เกลือ เป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อไม่ให้เนื้อสัตว์ และปลาเน่าเสียง่าย 

นอกจากนี้ชาวโรมันยังใส่เกลือลงไปในไวน์ เพื่อถนอมไวน์ แทนจุกไม้ก๊อกที่หายาก จนพวกเขาได้สร้างแหล่งผลิตเกลือ โดยการกักน้ำทะเลจาก ทะเลติร์เรเนียน (Tyrrhenian Sea) สร้างเป็นสระตื้นบริเวณใกล้เมืองท่าออสเทีย (Ostia) ของโรม เพื่อกักเก็บน้ำ และรอความร้อนของแดดระเหยน้ำออก เกิดเป็นผลึกเกลือขึ้น

ซึ่งคำว่า ‘เกลือ’ หรือ ‘Salarium’ ในภาษาละติน ได้พัฒนารากศัพท์กลายเป็นคำว่า ‘Salary’ ที่แปลว่าเงินเดือนแบบในปัจจุบันนั่นเอง

2. ‘ขนมปังและเบียร์’ คือค่าแรงของชาวอียิปต์โบราณ

ชาวอียิปต์โบราณพวกเขามักได้รับค่าจ้างเป็นเงิน และนำเงินไปซื้ออาหารต่อ เพื่อลดความยุ่งยากพวกเขาจึง ทำให้ ‘ขนมปัง’ และ ‘เบียร์’ กลายเป็นการจ่ายเงินให้รายวันแทน เพื่อความเป็นธรรมในการรับขนมปังและเบียร์แบบเท่าเทียมกัน ผู้ปกครองชาวอียิปต์จึงได้กำหนดมาตรฐานถาดและวัตถุดิบทำขนมปังขึ้น เพื่อให้ขนมปังแต่ละก้อน มีขนาดและคุณค่าทางโภชนาการเท่ากัน และยังกำหนดมาตรฐานธัญพืช ขนาดและรูปร่างของไหในการหมักเบียร์ด้วย

3. ชาวมายันใช้ ‘เมล็ดโกโก้’ ซื้อทาส

เงินตราที่โดดเด่นไม่แพ้กัน คือการใช้ ‘เมล็ดโกโก้’ ของชาวแอซเท็ค (Aztec) แห่งอารยธรรมเมโสอเมริกา ซึ่งในสมัยนั้นเมล็ดโกโก้ถือเป็นสิ่งหายากและมีค่ามาก โดยพวกเขาใช้เมล็ดโกโก้ตั้งแต่จ่ายค่าอาหาร เสื้อผ้า ของขวัญ ไปจนถึงใช้บูชาเทพเจ้า

ไม่ได้มีแต่ชาวแอซเท็คที่ใช้เมล็ดโกโก้ ชาวมายันแห่งอเมริกากลางก็ใช้เช่นกัน โดยกำหนดค่าไว้ดังนี้ ทาส 1 คนมีค่า 100 เมล็ดโกโก้, ค่าใช้บริการโสเภณี 1 คนมีราคา 10 เมล็ดโกโก้ และไก่งวง 1 ตัวเท่ากับ 20 เมล็ดโกโก้

ซึ่งมูลค่าของเมล็ดโกโก้นั้น สามารถประมาณได้ว่า โกโก้ 200 เมล็ด มีมูลค่าเท่ากับ 1 เรอัล (Spanish real) เทียบเท่ากับเงินประมาณ 26 กรัม ในสกุลเงินดอลลาร์ปัจจุบัน นั่นหมายความว่าเมล็ดโกโก้ 200 เมล็ด มีมูลค่าประมาณ 16 ดอลลาร์

4. ชาวจีนใช้ ‘ชาอัด’ ซื้อขายกระบี่และม้า

ในช่วงหนึ่ง ‘ชาอัด’ ได้กลายเป็นสิ่งมีค่าและใช้เป็นเงินตราอย่างแพร่หลายในจีน มองโกเลีย ไซบีเรีย ทิเบต เติร์กเมนิสถาน และรัสเซียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 โดย ชาอัด นี้ทำมาจากการนำใบชาหลาย ๆ ใบ ไปนึ่ง โขลกเป็นผง แล้วบีบอัดบรรจุลงในแม่พิมพ์รูปทรงต่าง ๆ และตากแดดจนแข็งตัว 

เหตุผลที่ทำให้ชาอัดมีค่า นั่นก็เป็นเพราะว่า ชาอัดเป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการไอและเป็นหวัด อีกทั้งในย่านอันแร้นแค้น ใบชายังจำเป็นต่อการดำรงชีวิตแทนผักและสมุนไพรที่หายาก 

โดยเฉพาะที่ทิเบต มีการซื้อขายกระบี่ ม้า และค่าจ้าง จะถูกตั้งราคาเป็นจำนวนของชาอัด ในมองโกเลีย ก็ซื้อขายวัวและไม้ด้วยชาอัดแข็งเช่นเดียวกัน ซึ่งนักเดินทางยังมองว่าชาอัดแข็งสะดวก พกง่าย ไม่ค่อยเสี่ยงการถูกโจรปล้น 

ซึ่งมูลค่าของชาอัดจะพิจารณาจากคุณภาพของใบชาผ่านสี ลักษณะใบ และกระบวนการหมัก ถ้าชาอัดมีคุณภาพดีที่สุดจะมีสีน้ำตาลเข้ม แต่ถ้าสีเหลืองเข้มจะเป็นชาอัดที่มีคุณภาพน้อยที่สุด 

5. ‘พาเมซานชีส’ เป็นสิ่งค้ำประกันเงินกู้

ในประเทศอิตาลี สิ่งที่ใช้เป็นหลักประกันในการกู้ ไม่ได้มีแต่บ้าน ร้านค้า และที่ดิน แต่สามารถใช้ ‘พาเมซานชีส’ (Parmesan Cheese) แทนได้ด้วย อาจฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่นี่เป็นเหตุการณ์จริงในปี 1953 ที่ Credito Emiliano ธนาคารเก่าแก่ในแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา (Emilia-Romagna) ทางภาคเหนือของประเทศ ได้ตัดสินใจยอมรับ พาเมซานชีส หรือปาร์มีจาโน เรจจาโน (Parmegiano Regiano) ในภาษาอิตาลี เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อของเหล่าเกษตรกรที่ต้องการนำเงินไปหมุนเพื่อประกอบอาชีพ

สาเหตุก็เป็นเพราะว่า พาร์เมซานชีส ในสมัยนั้นสามารถผลิตได้ในไม่กี่แห่ง หนึ่งในนั้นคือแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา เมืองที่ตั้งของธนาคารนั่นเอง ซึ่ง 1 ก้อนกลมใหญ่ (Cheese Wheel) ใช้นมมากถึง 131 แกลลอนโดยเฉลี่ยในการผลิต นั่นจึงทำให้ชีสในขนาดดังกล่าวมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ดอลลาร์หรือราว 35,000 บาทเลยทีเดียว โดยธนาคารจะเก็บดูแลชีสเป็นอย่างดี ในโกดังขนาดใหญ่ที่มีการควบคุมอุณหภูมิ จนกว่าสินค้าจะพร้อมออกสู่ตลาด

อ้างอิงจาก

bankofcanadamuseum / bangkokbiznews / foodnetwork / charm.ru / bigthink

ผู้เขียน

ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่