fbpx
Search
Close this search box.

3 เทคนิคน่ารู้ก่อนยื่นภาษี

และแล้วก็มาถึงฤดูกาลจ่ายภาษีที่คนไทยทุกคนต้องเจอทุกปี กับการยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2567 สารภาพกันมาหน่อยว่าใครที่เคยยื่นมาแล้ว แต่ก็ยังคงสับสนทุกปีบ้าง สำหรับใครที่ยังไม่เข้าใจเรื่องภาษี หรือการวางแผนภาษี วันนี้ ACU PAY จะมารวบรวมเทคนิคน่ารู้ก่อนยื่นภาษีให้เข้าใจได้มากขึ้นกัน

1. วางแผน ยื่นภาษี

โดยปกติแล้ว คนไทยทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดมีหน้าที่ต้องยื่นภาษี โดยแบ่งง่าย ๆ เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนโสดที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี หรือมีรายได้ทางอื่นเกิน 60,000 บาทต่อปี และกลุ่มคนแต่งงานแล้วที่มีรายได้เกิน 220,000 บาทต่อปี หรือรายได้ทางอื่นเกิน 120,000 บาทต่อปี

โดยสามารถคำนวณได้จาก เงินได้พึงประเมิน หรือ เงินเดือนหรือรายได้ทั้งปีว่ามีเท่าไร ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือนประจำ (รวมทั้งปี) เงินโบนัส ค่าล่วงเวลาหรือ OT หรือเงินพิเศษทางอื่น

  • คำนวณเงินได้สุทธิ

จากนั้น หาเงินได้สุทธิ เพื่อนำมาใช้ในการคำนวณภาษีก่อน โดยคำนวณจากการนำเงินได้ทั้งปีมารวมกัน แล้วหักด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

“เงินได้ทั้งปี – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ”

ซึ่งก่อนยื่นภาษีนั้น เราสามารถลองคำนวณรายได้ที่ต้องยื่นภาษีนี้กับโปรแกรมคำนวณภาษีได้ในหลายเว็บไซต์ที่ให้ใช้งานได้ฟรี

  • คำนวณภาษีแบบขั้นบันได

ต่อมาให้นำเงินได้สุทธิ มาเทียบกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได

“ภาษี = [(เงินได้สุทธิ – เงินได้สุทธิสูงสุดของขั้น) x อัตราภาษี] + ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น” 

โดย ตารางเปรียบเทียบเงินได้สุทธิกับอัตราภาษี มีดังนี้

เงินได้สุทธิ (บาท)อัตราภาษี

ภาษีสะสมสูงสุด (บาท)

0 – 150,000ยกเว้นภาษี0 บาท
150,000 – 300,0005%7,500 บาท
300,001 – 500,00010%27,500 บาท
500,001 – 750,00015%65,000 บาท
750,001 – 1,000,00020%115,000 บาท
1,000,001 – 2,000,00025%365,000 บาท
2,000,001 – 5,000,00030%1,265,000 บาท
มากกว่า 5,000,00035%คำนวณตามจริง

2. วิธีลดหย่อนภาษี ให้ได้มากที่สุด

การลดหย่อนติดตัวที่ทุกคนมีและเราควรใส่ใจ อย่างค่าใช้จ่ายส่วนตัว และครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น

  • ลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
  • คู่สมรส (จดทะเบียนสมรส – ไม่มีรายได้) 60,000 บาท
  • บุตร คนละ 30,000 บาท
  • ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร หักลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
  • ค่าดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 30,000 บาท โดยพ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และสามารถหักลดหย่อนสำหรับพ่อแม่ของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000บาท
  • ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท โดยผู้พิการต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวคนพิการ

นอกจากนี้รายการลดหย่อนเพิ่มเติมยังช่วยลดภาษีได้เยอะ เช่น พวกประกันสุขภาพ, ประกันชีวิต, ประกันบำนาญ, การลงทุนกองทุนรวม RMF SSF และ TESG, การบริจาค หรือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เป็นต้น ในส่วนของการลดหย่อนแนะนำให้ทยอยซื้อสะสม ไม่แนะนำให้จ่ายครั้งเดียวเป็นจำนวนมาก เพราะอาจส่งผลต่อสภาพคล่องของเราได้ ซึ่งแต่ละการลดหย่อน ควรศึกษาเงื่อนไขให้รอบคอบก่อนตัดสินใจจ่ายเงิน ต้องระวังการจ่ายเงินที่มากเกินสิทธิ์สูงสุดของค่าลดหย่อนนั้น ๆ 

ซึ่งมีรายละเอียดตามนี้ 

  • ประกันสังคมสูงสุด 9,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ของตัวเองและของคู่สมรส ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิต (คุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป) ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และอาจจะลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท ถ้ายังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และสำหรับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ลดหย่อนได้ 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
  • กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุด 30,000 บาท
  • ดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • เงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) 100,000 บาท
  • ช้อปดีมีคืน 40,000 บาท ใช้สำหรับการซื้อสินค้าในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2566
  • เงินบริจาคพรรคการเมือง 10,000 บาท
  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา สนับสนุนกีฬา พัฒนาสังคมต่าง ๆ มูลนิธิด้านสาธารณสุข และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  • เงินบริจาคอื่น ๆ มูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศล ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

3. ยื่นภาษีง่ายขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์

อย่างที่รู้กันว่าปัจจุบัน เราสามารถยื่นภาษีได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ที่ www.rd.go.th ของกรมสรรพากร นอกจากจะสะดวกรวดเร็วแล้ว ระบบออนไลน์ยังลิงก์ข้อมูลลดหย่อนบางรายการ อย่าง ดอกเบี้ยกู้บ้าน เงินบริจาค ประกันชีวิต เป็นต้น ให้กับกรมสรรพากรอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องเสียเวลาคำนวณหรือเสียเวลากรอกเลย และช่องทางออนไลน์นี้ยังยื่นได้นานถึง 8 เมษายน 2567 สำหรับปีภาษี 2566 

แต่สำหรับใครที่มีรายได้เยอะอยากได้ความชัวร์ ก็สามารถไปยื่นภาษีได้ที่สรรพากรเขต โดยที่นั่นจะมีเจ้าหน้าที่ช่วยให้คำแนะนำต่าง ๆ ให้ แต่สำหรับช่องทางนี้จะต้องทำภายใน 31 มีนาคม 2567 เท่านั้น

  • กรณีต้องจ่ายภาษีเพิ่ม 

สามารถทำผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้ทั้งแบบ โอนผ่านบัญชีธนาคาร หรือสแกน QR Code แต่ถ้าใครที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเป็นเงินก้อนใหญ่ก็อาจเลือกจ่ายด้วยบัตรเครดิตได้ แต่จะไม่ได้คะแนนสะสม และอาจต้องเสียค่าธรรมเนียม 1% ในบางธนาคาร

  • กรณีขอคืนภาษี

สามารถเลือกรับเงินคืนในรูปแบบเช็ค หรือผ่าน ‘Prompt Pay’ ที่ผูกบัญชีธนาคารกับเบอร์โทรศัพท์มือถือหรือหมายเลขบัตรประชาชน ซึ่งถ้าได้รับอนุมัติ ระบบจะโอนเงินคืนเข้าบัญชีอัตโนมัติ

  • ยื่นภาษีเสร็จแล้ว ให้เก็บเอกสารให้ดี

หลังจากยื่นภาษีแล้ว แนะนำให้เก็บเอกสารหรือไฟล์ดิจิทัลที่ยื่นแล้วเก็บแยกไว้เป็นแต่ละปีโดยไม่ปะปนกัน เพราะสรรพากรสามารถขอดูเอกสารย้อนหลังได้นานถึง 5 ปี 

เพียงแค่เรารู้จักวางแผนการจ่ายภาษีให้ดี การยื่นเสียภาษีในแต่ละปีก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป ยิ่งกว่านั้นเรายังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้คุ้มค่ามากที่สุดอีกด้วย

ผู้เขียน

ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่