fbpx
Search
Close this search box.

5 ข้อผิดพลาด ทำลายฝันหลังเกษียณ

อยากใช้ชีวิตวัยเกษียณให้สุขสบาย ไม่ต้องเป็นภาระของลูกหลาน แต่กลับเป็นว่าแผนที่วางไว้ กลับไม่ตรงใจอย่างที่ฝัน สาเหตุเป็นเพราะอะไร ครั้งนี้ ACU PAY จะพาไปหา 5 ข้อผิดพลาดที่ไม่ควรทำ ถ้าไม่อยากทำลายแผนหลังเกษียณ 

1.มัวแต่ทำงาน จนลืมวางแผนการเงิน

หลายคนมัวแต่คิดว่าเรื่องการวางแผนการเงินไม่ค่อยสำคัญ ไม่ก็คิดว่าตัวเองมีเวลาอีกนาน ไว้ทำงานไปเรื่อย ๆ แล้วค่อยเก็บก็ได้ แต่ความจริงการมัวแต่ทำงานจนลืมวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบหรือเริ่มวางแผนช้าเกินไป คิดถึงแค่ความสุขความสบายในตอนนี้ นี่กำลังเป็นสัญญาณเตือนว่าเรากำลังก้าวเข้าไปอยู่ในหลุมพรางที่ฉุดลงจากแผนชีวิตสุขสบายในวันเกษียณ

2.ออมเงินน้อยเกินไป

เมื่อจะวางแผนหลังเกษียณเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในแต่เดือนในวัยเกษียณ แต่ปัญหาหลายคนเจอคือ คำนวณเงินเกษียณออกมาน้อยกว่าความเป็นจริง ทำให้เงินออมที่มีหมดก่อนเวลา ข้อแนะนำในการมีเงินเกษียณที่เพียงพอคือ ต้องมาดูว่าตัวเองอยากมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างไร และจะใช้เงินหลังเกษียณไปอีกกี่ปี 

เช่น อยากมีเงินใช้เดือนละ 15,000 บาท ไปอีก 20 ปีหลังเกษียณ ดังนั้นเราควรมีเงินประมาณ 3.6 ล้านบาท (15,000 x 12 x 20) และต้องคิดเปอร์เซ็นต์เงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นด้วย จากนั้นให้ลองคำนวณต่อว่า เงินที่ออมอยู่นี้ เมื่อถึงวันที่เกษียณจะเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ นำมาเปรียบเทียบว่าการออมหรือการลงทุนของเราจะเพียงพอถึงวัยเกษียณแล้วหรือยัง

3.ลงทุนสินทรัพย์เพื่อการเกษียณไม่หลากหลาย

ข้อแนะนำในการคิดคำนวณเกี่ยวกับการจัดสรรสินทรัพย์สำหรับวัยเกษียณ จาก SET มีตัวอย่างตามนี้

  • รับความเสี่ยงได้ต่ำ ควรเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง โดยเน้นสัดส่วนเงินฝาก (40%) ตราสารหนี้ (45%) ที่เหลือก็ลงทุนในหุ้น (15%) 
  • รับความเสี่ยงได้ปานกลาง ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มั่นคง สามารถสร้างรายได้ได้สม่ำเสมอ ด้วยการเน้นเงินฝาก (30%) ตราสารหนี้ (50%) ที่เหลือก็ลงทุนในหุ้น (20%) 
  • รับความเสี่ยงได้สูง ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มั่นคง สร้างรายได้สม่ำเสมอ และเพิ่มค่าเงินออมในระยะยาว โดยการเน้นเงินฝาก (20%) ตราสารหนี้ (45%) ที่เหลือก็ลงทุนในหุ้น (35%) เป็นต้น

ทั้งนี้อาจปรับการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง และผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้รับด้วย ซึ่งบางครั้งถ้ายิ่งคิดว่าจะมีอายุยืน เราต้องยิ่งกล้าที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น 

4.หวังพึ่งเงินบำนาญ เงินสำรองเลี้ยงชีพ หรือเบี้ยคนชราเพียงอย่างเดียว

ถ้าลองมามองเกณฑ์เงินเบี้ยคนชราในประเทศไทยตอนนี้ เริ่มต้นที่อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยจะได้เบี้ย 600 – 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งน้อยมาก ในขณะเดียวกันหลายคนฝากความหวังไว้กับทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยที่หักจากเงินเดือนและเงินที่นายจ้างช่วยสมทบตลอดการทำงานทั้งชีวิตอย่างเดียว 

จากผลสำรวจสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปี 2560 ชี้ให้เห็นว่า 50% ของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีเงินก้อนไม่ถึง 1 ล้านบาท แต่ตามความเป็นจริงแล้วเราควรมีเงินออมในวัยเกษียณอย่างน้อยประมาณ 2 – 3 ล้านบาท ถ้ารอแต่เงินพวกนี้และเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าคงไม่พอใช้ในวัยเกษียณแน่นอน

5.ลืมคิดเรื่องเงินเฟ้อ

หลาย ๆ คนวางแผนเงินเกษียณมาอย่างดี แต่กลับลืมคิดถึงเรื่องเงินเฟ้อและค่าเงินที่เพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตอย่างน้อย 1 – 3% ต่อปี ทำให้เงินที่เก็บออมมาไม่พอใช้ซะอย่างนั้น ดังนั้นก่อนจะเก็บเงินเกษียณ แนะนำให้คำนวณอัตราเงินเฟ้อเผื่อเอาไว้ หรือเข้าโปรแกรมคำนวณเงินเฟ้อ ก็จะช่วยให้เห็นภาพรวมของการเตรียมเงินเกษียณได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

การวางแผนเกษียณอายุนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว ดังนั้นเราควรวางแผนเตรียมความพร้อมทางด้านการเงินสำหรับการดำเนินชีวิตในวัยเกษียณให้มั่นคงและเหมาะกับการใช้ชีวิตของเรา ยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ได้ ก็ยิ่งดีเท่านั้น แล้ววันนี้คุณวางแผนเกษียณกันแล้วหรือยัง?

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่