fbpx
Search
Close this search box.

7 เรื่องแปลกของสัตว์โลก ที่คุณอาจยังไม่รู้

ในโลกของเรานั้นเต็มไปด้วยสัตว์มากมายตั้งแต่แมลงขนาดเล็กไปจนถึงปลาขนาดใหญ่ ซึ่งความพิเศษของสัตว์เหล่านี้คือการรังสรรค์ของธรรมชาติ ที่ช่วยเสริมสร้างสัญชาตญาณในการอยู่รอด ซึ่งบางครั้งพฤติกรรมหรือลักษณะที่สุดล้ำเหล่านี้ ก็อาจทำให้เรารู้สึกทึ่งจนคาดไม่ถึง ครั้งนี้ เอซียู เพย์ จะพาเพื่อน ๆ ไปส่องเรื่องแปลกของสัตว์โลก ที่ใครหลายคนอาจยังไม่รู้ จะมีเรื่องอะไรบ้าง ตามมาเลย

1. สุนัขมีหนังตาที่ 3

ถ้าสังเกตดี ๆ น้องหมายังมีหนังตาที่ 3 คล้ายกับพวกสัตว์เลื้อยคลานอยู่บริเวณตรงหัวตาด้วย ซึ่งสิ่งนี้คือ Nictitating membrane เป็นชั้นเนื้อเยื่อแผ่นบาง ๆ ที่อยู่ระหว่างชั้นเปลือกตากับกระจกตา มีกระดูกอ่อนรูปตัวที (T) ซึ่งในคนก็มีเหมือนกัน ก็คือเนื้อเยื่อสีขาวชมพูอยู่ตรงหัวตาของเรานั่นแหละ โดยความสำคัญของหนังตาที่ 3 มีไว้สร้างน้ำตาและปัดสิ่งสกปรกออก

ซึ่งน้องหมายังสามารถมีโรคเกี่ยวกับหนังตาที่ 3 นี้ได้ โดยทางการแพทย์เรียกว่า โรค Cherry Eye ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากต่อมของหนังตาที่สามยื่นโผล่ออกมาผิดปกติ ทำให้ตัวต่อมดังกล่าวขยายตัวและบวมนูนมากผิดปกติ ทำให้น้องหมาเกิดอาการระคายเคือง จนอาจเกิดแผลได้ ซึ่งการรักษามีวิธีเดียวคือการผ่าตัด

2. แมวสามารถรับรสอากาศได้

เราอาจจะเคยเห็นแมวทำหน้าตลกแปลก ๆ อย่างการเผยอริมฝีปากขึ้น พร้อมยิงฟันออกมา หลังพวกเขาดมกลิ่นบางอย่าง พฤติกรรมแบบนี้เรียกว่า Flehmen response เป็นการดมกลิ่นโดยใช้จมูกที่ 2 อยู่ด้านหลังฟันเขี้ยวทั้งสองข้าง 

โดยเจ้าแมวจะอ้าปาก และรับรสในอากาศ จากนั้นจะแปลงกลิ่นในรูปสารเคมีเป็นสัญญาณประสาทส่งไปยังสมอง ซึ่งอวัยวะพิเศษนี้เรียกว่า เจคอบสัน (The Jacobsen organ) 

การดมขั้นเทพของแมวนี้ ทำให้พวกเขาสามารถรับความรู้สึกของการเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศ อย่างการได้กลิ่นก๊าซโอโซนที่เกิดจากฟ้าผ่าไกล ๆ ทำให้พวกเขารู้ว่าฝนกำลังจะตกเร็ว ๆ นี้

3. แพนดามักจะตีลังกาเวลาปัสสาวะ

การฉี่สร้างอาณาเขตอาจเป็นเรื่องปกติสำหรับสัตว์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น น้องหมา น้องแมว รวมถึงสัตว์ป่าอย่างแพนด้า ก็มีการทำแบบนี้เช่นกัน 

แต่การจะสร้างอาณาเขตทั้งที การสเปรย์ฉี่อาจจะดูธรรมดาไป ซึ่งบางครั้งแพนด้าก็มักจะทำสัญลักษณ์กลิ่นของตัวเองไว้ ด้วยการเอาเท้าหลังสองข้างไต่ขึ้นไปบนต้นไม้ จากนั้นพวกมันก็จะทรงตัวด้วยเท้าหน้าสองข้างยันพื้นไว้ แล้วปล่อยฉี่ของตัวเองไว้ที่ต้นไม้นั้น ๆ ยิ่งถ้าสูงมากเท่าไหร่ละก็ จะยิ่งเป็นผู้ชนะมากเท่านั้นเลย 

4. ปัสสาวะเสือโคร่งมีกลิ่นเหมือนป๊อปคอร์นรสเนย

ถ้าเดินไปในป่าแล้วได้กลิ่นละม้ายคล้ายป๊อปคอร์น นี่อาจจะไม่ใช่คนมาตั้งแคมป์คั่วป๊อปคอร์นอยู่ แต่นี่อาจเป็นกลิ่นของเสือโคร่งที่เคยมาฉี่ทิ้งไว้เพื่อแสดงอาณาเขต ทางที่ดีเราควรเดินไปยังทิศทางตรงข้ามกับจุดนั้นจะดีที่สุด 

อีกหนึ่งเคล็ดลับถ้าเกิดเราเผชิญหน้าเสือโคร่งอย่างไม่คาดคิด วิธีที่ดีที่สุดคือการจ้องไปที่ตาของเสือ แล้วค่อย ๆ ถอยออกไปอย่างช้าๆ เพียงแค่อย่าวิ่งหรือหันหลังให้เด็ดขาด 

5. เพนกวินยิงระเบิดอึได้

ถึงภายนอกแพนกวินจะดูเป็นสัตว์ตัวกลม เดินด้วยท่าทางน่ารักน่าเอ็นดู แต่รู้ไม่ว่ากิจวัตรของแพนกวินนอกจากกินแล้ว พวกมันยังอึได้ทุก ๆ 20 นาที และสามารถอึมากถึง 6 – 8 ครั้ง/ชั่วโมง เพราะการย่อยอาหารที่รวดเร็วมาก ๆ

แล้วที่พีคยิ่งกว่านั้น แพนกวินไม่ได้อึแบบธรรมดาทั่วไป แต่พวกมันสามารถยิงระเบิดอึของตัวเองได้ไกลกว่า 5 ไมล์/ชั่วโมง 

นอกจากนี้ อึ ของแพนกวินยังทำให้เกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์หรือก๊าซหัวเราะในปริมาณค่อนข้างสูง ถ้าอยู่ในบริเวณที่ล้อมรอบไปด้วยฝูงเพนกวินขนาดใหญ่ ซึ่งอันตรายของก๊าซที่แพนกวินปล่อยออกมานี้ ยังเคยทำให้หนึ่งในทีมวิจัยที่กำลังศึกษาเพนกวินจักรพรรดิ เกิดอาการเพี้ยนและหัวเราะอย่างไม่มีสาเหตุมาแล้ว จากการดมก๊าซหัวเราะเป็นจำนวนมากมาแล้ว บางคนก็ปวดหัวอย่างหนักเลยทีเดียว

6. อายุปลาวาฬรู้ได้จากขี้หู

ใครจะไปคาดคิดว่าการคาดเดาอายุ ‘วาฬ’ (whales) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดมหึมาที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร จะสามารถรู้ได้จากขี้หูของพวกเขา ตามธรรมชาติแล้วขี้หูของวาฬมีประโยชน์ในการถ่ายทอดคลื่นเสียงใต้น้ำ โดยขี้หูของมันจะปิดช่องหูภายใน ยาว 50 เซนติเมตร มีน้ำหนักถึง 2 ปอนด์ 

ซึ่งนักชีววิทยาทางทะเลจะใช้ขี้หูของวาฬที่อุดมไปด้วย DNA และฮอร์โมนสำคัญ ในการพยากรณ์อายุ เหมือนกับการเทียบวงปีของต้นไม้ ซึ่งถ้าขี้หูของวาฬมีสีอ่อนสัมพันธ์กับช่วงหาอาหาร ในขณะที่เฉดสีเข้มตรงกับช่วงการย้ายถิ่น

โดยหนึ่งในงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Baylor University ที่ยังไม่ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ ระบุว่าพวกเขาศึกษาขี้หูวาฬกว่า 20 ชิ้น ที่แบ่งเป็นชั้น ๆ หนาถึง 1,100 ชั้น มีร่องรอยของฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด ทำให้รู้ได้ว่า สภาพแวดล้อมที่วาฬอยู่อาศัยทำให้พวกมันเครียดอย่างไร การถูกล่ามีผลต่อพฤติกรรมของมันในเชิงลบ รวมถึงทิ้งร่องรอยอะไรไว้ในร่างกายพวกมันบ้าง

7. หมีขั้วโลกมีผิวหนังสีดำ

แม้จะฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่ความจริงแล้วหมีขั้วโลกนั้นมีผิวสีดำ สังเกตได้จากจมูกของพวกมันที่ปกคลุมไปด้วยขนสีขาวราวหิมะที่เราเห็น ความจริงแล้วเส้นขนแต่ละเส้นทั้งตัวของเจ้าหมีขั้วโลกนี้เป็นสีใส ! ที่เห็นเป็นสีขาวนั้นเกิดจากการสะท้อนของแสงและน้ำแข็งหรือหิมะสีขาว ๆ นั่นเอง

ส่วนผิวสีดำนั้นมีคุณสมบัติหลัก ๆ ก็คือการดูดซับความร้อน ซึ่งชั้นไขมันของหมีขั้วโลกหนาถึง 7 – 10 เซนติเมตร ทำให้เจ้าหมีขั้วโลกต้องกักเก็บความอบอุ่นเอาไว้ให้นานนี่เอง ส่วนการที่เราเห็นหมีขั้วโลกมีขนออกเหลือง ๆ ก็เป็นเพราะนั่นคือคราบไขมันจากการกินสัตว์อย่าง แมวน้ำ เป็นต้น

ผู้เขียน

ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่