fbpx
Search
Close this search box.

รวมอาการ phobia ความกลัวแปลก ๆ ที่มีอยู่จริง

หลาย ๆ คนมีความกลัวที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกลัวที่แคบ กลัวความสูง กลัวสัตว์ต่าง ๆ แต่หลายครั้ง ความกลัวก็สามารถทำให้เรากลัวในสิ่งแปลก ๆ ได้ และบางครั้งความกลัวเหล่านั้นก็ไม่สามารถควบคุมได้ จนส่งผลกับการใช้ชีวิตประจำวัน จนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคที่เรียกว่า โรคกลัว (phobia) ได้ ซึ่งครั้งนี้ เอซียู เพย์ จะพาเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกับความกลัว แปลก ๆ ที่มีคนกลัวเรื่องพวกนี้อยู่จริง จะมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย

เนื้อหา

โรคกลัว คืออะไร ?

เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งที่จะมีอาการกลัวขั้นรุนแรงต่อสถานการณ์หรือบางสิ่งบางอย่าง โดยบางครั้งไม่ค่อยมีเหตุผล จนไม่สามารถควบคุมได้ เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน จนอาจจะมีอาการคล้ายโรคแพนิก ได้แก่ ใจสั่น ใจเต้นแรง หายใจเร็ว มือเท้าเย็น ท้องไส้ปั่นป่วน และเวียนหัวตาลาย

โรคกลัวเกิดจากอะไร ?

ในทางการแพทย์ยังไม่รู้ถึงสาเหตุของโรคอย่างชัดเจน แต่พบว่าอาจเกิดจาก

  • เคยมีปัญหาหรือเรื่องราวในอดีตที่ฝังใจ 
  • พบเจอ ได้ยิน หรือเห็นเหตุการณ์ที่กระทบต่อจิตใจ
  • พันธุกรรม
  • ความผิดปกติของสมอง
  • ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ

โรคกลัวอย่างจำเพาะเจาะจงมีอะไรบ้าง ?

อาการกลัวการอยู่คนเดียว (Anuptaphobia)

มีใครบ้างเป็นคนติดเพื่อน อยู่คนเดียวแล้วไม่มีความสุข นี่อาจเป็นสัญญาณว่า เรากำลังเข้าข่ายอาการกลัวการอยู่คนเดียว อาการของโรคนี้ จะมีความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ชีวิตต้องการใครสักคนมาเติมเต็มอยู่ตลอด เวลาออกไปไหนคนเดียว จะเกิดความรู้สึกกลัวจนเหงื่อแตก ใจสั่น ทำให้มักเป็นคนที่มีนิสัยติดเพื่อน รวมถึงรู้สึกหมกมุ่นอยู่กับความคิดเกี่ยวกับการมีแฟน การแต่งงาน ตลอดเวลา

อาการกลัวทะเล (Thalassophobia)

สำหรับใครที่มีอาการกลัวทะเล เพียงแค่มองจากภาพถ่ายก็รู้สึกกลัวจนตัวสั่นแล้ว เพราะกลัวคลื่นขนาดใหญ่ กลัวความลึกของน้ำที่เหมือนจะห่างไกลพื้นดิน หรือบางครั้งอาจรู้สึกกลัวความเวิ้งว้างที่ดูไร้ซึ่งขอบเขตของท้องทะเลหรือแม่น้ำที่กว้างใหญ่ หรือบางคนสามารถเห็นทะเลได้ แต่ถ้าให้ลงไปเล่นก็ไม่กล้า ซึ่งถ้าสัมผัสจะมีอาการใจสั่น ตัวชา จะเป็นลม

อาการกลัวความรัก (Philophobia)

เป็นอาการที่เกิดจากอดีตที่ฝังใจ จนไม่กล้าเริ่มต้น หรือวิตกกังวลเกินไปว่าจะไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์นั้น ๆ ได้ ทำให้ผู้ที่มีอาการรู้สึกโดดเดี่ยวหรือไม่อยากจะมีความรัก ปิดกั้นตัวเองจากผู้อื่น จนส่งผลต่อสุขภาพจิตได้

อาการกลัวการส่องกระจก (Eisoptrophobia)

คนมีอาการนี้จะไม่กล้ามองเข้าไปในกระจกเพราะรู้สึกว่า ไม่มีความมั่นใจในภาพลักษณ์ตัวเอง หรือกลัวว่ามีอะไรน่ากลัวในกระจก หรือกลัวว่าตัวเองจะถูกดูดเข้าไปในโลกอีกฝั่งที่อยู่ในกระจก โดยพวกเขาจะมีอาการหายใจหอบ ตื่นกลัว ใจเต้นเร็ว

อาการกลัวความกลัว (Phobophobia)

โรคกลัวความกลัว คือ ความกลัวอย่างรุนแรงต่อความกลัวทุกชนิด บางคนอาจกลัวความกลัวในสิ่งนั้น จนรู้สึกหายใจเร็วหรือเวียนศีรษะ เป็นลม ซึ่งบางคนที่เป็นหนักจนส่งผลกระทบในการใช้ชีวิต อาจต้องทำการบำบัดหรือใช้ยาเพื่อรักษา

อาการกลัวรู (Trypophobia)

เคยมีคนใกล้ตัวเป็นโรคกลัวรูกันไหม บางคนเห็นภาพที่มีรูเยอะ ๆ จะรู้สึกขนลุก และแขยงแปลก ๆ ซึ่งภาวะนี้เรียกว่าอาการกลัวรู โดยจะมีอาการกระอักกระอ่วน รู้สึกขยะแขยง จิตใจไม่สงบ อาจถึงขั้นตัวสั่น อาเจียน เข่าอ่อน หรือไม่สบายได้ เมื่อเห็นภาพของหลุม รู หรือช่องกลม ๆ ที่รวมกันเยอะ ๆ เช่น ฝักเมล็ดบัว รังผึ้ง ปะการัง ฟองน้ำ ฟองสบู่ ผิวหนัง 

อาการกลัวขาดโทรศัพท์มือถือ (Nomophobia)

บางคนคิดว่าการติดมือถือไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่บางคนนั้นเวลาไม่มีมือถือใกล้ตัว จะมีอาการตื่นตระหนก หงุดหงิด กระสับกระส่าย กระวนกระวายอย่างมาก นอกจากนี้ยังหมกมุ่นอยู่แต่กับการเช็กข้อความจากสื่อโซเชียลมีเดียอย่างจริงจัง เมื่อมีแจ้งเตือนเข้ามา จะรีบเช็กอย่างรีบร้อนทันที หรือกลัวโทรศัพท์มือถือหาย แม้วางอยู่ในที่ปลอดภัย

อาการกลัวแมลง (Entomophobia)

บางคนเมื่อเจอแมลงจะรู้สึกกลัวและหวาดระแวงอย่างสุดขีด โดยสาเหตุอาจมาจากกลัวโรคที่รับมาจากแมลง กลัวความเจ็บปวดจากการถูกกัด ต่อยรวมทั้งเคยมีประสบการณ์เชิงลบกับแมลง ทำให้เวลาที่พบเห็นหรือ อยู่ใกล้ จึงก่อให้เกิดสภาวะความกลัวขึ้นมาทันที จนเหงื่อออก ตัวสั่น รู้สึกเสียขวัญ ตกใจ ผวา

การรักษาและข้อควรปฏิบัติ

ให้ลองปรับพฤติกรรมและฝึกจิตใจ ควบคุมการหายใจ ขยับร่างกายช้า ๆ อย่างเป็นจังหวะ และพยายามเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว ควบคู่กับการผ่อนคลายเพื่อให้ร่างกายเกิดการเรียนรู้ใหม่และบรรเทาความกลัวลง ทั้งนี้หากอาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นปัญหารบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถเข้าพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาแบบจิตบำบัด

สุดท้ายแล้วถ้าเพื่อน ๆ อ่านรู้สึกสงสัยว่าตนเองหรือคนรอบข้างป่วยเป็นโรคกลัวเหล่านี้หรือเปล่า บทความนี้ไม่อาจสรุปฟันธงได้ ทำให้แค่คัดกรองอาการเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ควรนำไปวินิจฉัยตัวเองโดยเด็ดขาด แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเพื่อทราบและวินิจฉัยถึงอาการเหล่านั้นดีที่สุด

อ้างอิงจาก

ผู้เขียน

ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่