ปีนี้ผู้ผลิตเจอต้นทุนสูงทุกทางจากน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์โลกแพงหลังศึกรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งซ้ำเติมปัญหาต้นทุนโลจิสติกส์แพงที่มาพร้อมห่วงโซ่การผลิตโลกสะดุดตั้งแต่ปีก่อน
สถานการณ์โลกป่วนครั้งนี้ทำให้เงินเฟ้อผู้ผลิตของไทยเติบโต 2 หลักติดต่อกันมาหลายเดือนอยู่ที่ 13.3% ในเดือน มิ.ย. (เทียบปีก่อนทั้งปีโต 7.1%) ด้านเงินเฟ้อผู้บริโภคของไทย แม้จะเร่งตัวช้ากว่า แต่ก็ขยับใกล้ขึ้นทุกทีอยู่ที่ 7.66% แล้ว ทันทีที่รัฐบาลทยอยลดมาตรการตรึงราคาพลังงานน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน มิ.ย. เพราะแบกรับภาระหลายหมื่นล้านบาทต่อเดือนไม่ไหว หลังจากประเมินแล้วว่าสถานการณ์ความขัดแย้ง 2 ฝ่ายในโลกคงไม่จบลงง่าย มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และบางประเทศในเอเชียจะยังมีต่อไป ส่งผลกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกอีกนาน
ข้อมูลเงินเฟ้อผู้ผลิตและเงินเฟ้อผู้บริโภคไทยมีค่าความสัมพันธ์ระหว่างกัน (correlation coefficient) เกือบ 90% หากดูจากข้อมูลในอดีตพบว่า เงินเฟ้อผู้ผลิตไทยมีคุณสมบัติชี้นำเงินเฟ้อผู้บริโภคล่วงหน้าได้ภายใน 4 เดือน แต่ในบางช่วงเวลาคุณสมบัติชี้นำอาจสั้นหรือยาวกว่านั้นได้ขึ้นกับเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้น เช่นเกิดช่วงวิกฤต
ดัชนีราคาผู้ผลิต (Production Price Index: PPI) สะท้อนราคาผลผลิตที่ผลิตในประเทศทั้งหมด เป็นราคาที่ผู้ผลิตในประเทศขายสินค้า ณ แหล่งผลิต หน้าโรงงาน หรือหน้าสวนไร่นา สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) สะท้อนราคาสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผู้บริโภคใช้จ่าย ตะกร้าเงินเฟ้อผู้บริโภคจึงประกอบไปด้วยสินค้าผลิตในประเทศ สินค้านำเข้า รวมทั้งค่าบริการต่าง ๆ สารพัด เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าโดยสาร ค่ารักษาพยาบาล ค่าการศึกษา ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ/อินเตอร์เน็ต ค่าเช่าที่พักอาศัย ค่าบริการค่าแรง
เนื่องจากความครอบคลุมของตะกร้าดัชนีราคา 2 ตัวนี้แตกต่างกันอยู่ ทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคขยับไปด้วยกันไม่เต็มร้อย องค์ประกอบของตะกร้าเงินเฟ้อไทยราว 1 ใน 3 เป็นค่าบริการต่าง ๆ ที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และยังมีสินค้านำเข้ารวมอยู่ในตะกร้าเงินเฟ้ออีกด้วยประมาณ 16% นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างอีกอย่างคือ ดัชนีราคาผู้ผลิตสะท้อนต้นทุนวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศและนำเข้าที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงต้นทุนปัจจัยการผลิตอื่นที่ไม่ใช่วัตถุดิบ เช่น แรงงาน ทุน การประกอบการ ที่ดิน แต่ยังไม่รวมค่าขนส่งและภาษี ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคได้รับผลจากการส่งผ่านต้นทุนรวมของผู้ผลิต ซึ่งรวมค่าขนส่ง ค่าตัวกลางค้าส่งค้าปลีกจากโรงงานถึงผู้บริโภค ภาษีเก็บจากผู้ผลิต (เช่น ภาษีสรรพสามิต) และภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากผู้บริโภค
น่าสังเกตว่าดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคไทยมักแยกจากกันมาก (diverge) ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (รูป 1) สะท้อนกลไกการส่งผ่านต้นทุนจากราคาผู้ผลิตสู่ราคาผู้บริโภคที่ไม่ค่อยปกติในช่วงกำลังซื้ออ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นช่วงที่ต้นทุนสูงจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์โลกแพง หรือเกิดโรคระบาดสัตว์ขึ้น ยิ่งทำให้อุปทานผลผลิตสินค้าขาดแคลน จนรัฐบาลต้องออกมาตรการควบคุมราคาสินค้าจำเป็นบางประเภทอย่างเข้มงวด เพื่อช่วยลดผลกระทบค่าครองชีพ ด้านผู้ผลิตก็ต้องปรับตัวบริหารต้นทุนสูงทุกทางเท่าที่ทำได้ เช่น จัดซื้อวัตถุดิบล็อตใหญ่ ลดต้นทุนสูญเสียในกระบวนการผลิต ลดโปรโมชั่น ลดปริมาณ/ขนาดบรรจุภัณฑ์ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ลดส่วนลดการค้าส่ง
ในช่วงวิกฤตโควิด สินค้าหลายกลุ่มมีจังหวะส่งผ่านต้นทุนสูงที่อั้นมานานไปได้บ้างตั้งแต่ต้นปีนี้1 (รูป 2) เช่น อาหารสำเร็จรูป เนื้อสัตว์ เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์นม ยาและเวชภัณฑ์ ส่วนหนึ่งเพราะไม่ถูกรัฐบาลคุมเข้มมาก และคนยังจำเป็นต้องซื้ออยู่ แม้ของจะแพงขึ้น แต่ก็มีสินค้าหลายกลุ่มที่ส่งผ่านต้นทุนไม่ค่อยได้มาก เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์เกษตร อาหารทะเล ผักผลไม้ อุปกรณ์วัสดุก่อสร้าง และยานพาหนะ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นสินค้าควบคุมราคา ราคาขายปลีกในประเทศ หรือเป็นสินค้าที่คนอาจจะซื้อน้อยลงมากถ้าราคาแพงขึ้น ทั้งนี้ความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตแต่ละกลุ่มสินค้าสะท้อนมาตรการอุดหนุนและควบคุมราคาขายปลีกของภาครัฐ โครงสร้างตลาด และการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่ต่างกัน
ราคาน้ำมันโลกที่ทะยานสูง ยังไม่สะท้อนมาราคาน้ำมันในประเทศเต็มที่นัก เพราะภาครัฐทั่วโลกช่วยลดทอนผลไว้อยู่ โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปีมานี้ (รูป 3) แม้แต่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งปกติจะปล่อยกลไกส่งผ่านจากราคาพลังงานโลกไปยังราคาในประเทศที่ค่อนข้างเสรียืดหยุ่น กลับพบว่าตั้งแต่ต้นปีมานี้ ภาครัฐเข้าไปช่วยพยุงราคาน้ำมันในประเทศมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้น ยอมให้ราคาน้ำมันโลกแพงส่งไปยังราคาน้ำมันในประเทศน้อยกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างเห็นได้ชัด แต่การถ่วงเวลาไว้แบบนี้คงทำได้อีกไม่นาน เพราะกำลังเงินภาครัฐทั่วโลกร่อยหรอลงไปมากแล้ว จึงอาจเห็นแนวโน้มการปล่อยมือทยอยส่งผ่านต้นทุนพลังงานแพงไปยังราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมากขึ้น เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้
สิ่งที่เห็นเรื่องผลกระทบราคาพลังงานโลกนี้ สอดคล้องกับผลศึกษาในต่างประเทศที่พบว่า หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกสูง การส่งผ่านผลไปตามห่วงโซ่ราคาในประเทศของประเทศต่างๆ จะเห็นผลส่งผ่านเป็นบางส่วน (partial) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลักหรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยผลกระทบไปสู่ราคาผู้ผลิตจะเยอะกว่าผลกระทบไปยังราคาผู้บริโภค ข้อค้นพบอีกอย่างที่น่าสนใจคือ ผลส่งผ่านของราคาโภคภัณฑ์โลกสูงไปยังราคาผู้ผลิตจะเห็นได้ชัดทั้งในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลักและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่ผลส่งผ่านไปยังราคาผู้บริโภคกลับเห็นชัดแค่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลักเท่านั้น ซึ่งสะท้อนว่า โดยปกติแล้วภาครัฐกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีมาตรการเข้าช่วยชะลอราคาผู้บริโภคในประเทศไม่ให้ได้รับผลกระทบจากราคาโภคภัณฑ์โลกที่ผันผวนเยอะกว่า
สุดท้ายนี้ การส่งผ่านต้นทุนโลกแพงมาราคาในประเทศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาจเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว มากหรือน้อย เป็นไปตามกำลังของภาครัฐที่จะเข้าไปยั้งไว้ได้ชั่วคราวและความสามารถในการแบกรับต้นทุนของผู้ผลิตเพื่อรอจังหวะส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาผู้ซื้อ การติดตามทิศทางเงินเฟ้อผู้ผลิตและเงินเฟ้อผู้บริโภค รวมถึงความเข้าใจกลไกการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคเป็นรายหมวดสินค้าที่มีพฤติกรรมโครงสร้างตลาดแตกต่างกัน จะช่วยส่งสัญญาณให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมรับเมฆดำลอยตั้งเค้ามา เตรียมหาร่มหลบฝน เตรียมปรับตัวลดผลกระทบที่อาจขยายวงกว้างกันได้แต่เนิ่น ๆ ค่ะ
ผู้เขียน :
ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน
คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2565
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
Cookie | Duration | Description |
---|---|---|
cookielawinfo-checkbox-analytics | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Analytics". |
cookielawinfo-checkbox-functional | 11 months | The cookie is set by GDPR cookie consent to record the user consent for the cookies in the category "Functional" |
cookielawinfo-checkbox-necessary | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookies is used to store the user consent for the cookies in the category "Necessary". |
cookielawinfo-checkbox-others | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Other". |
cookielawinfo-checkbox-performance | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Performance". |
viewed_cookie_policy | 11 months | The cookie is set by the GDPR Cookie Consent plugin and is used to store whether or not user has consented to the use of cookies. It does not store any personal data. |