คำว่า “เสถียรภาพระบบการเงิน” หรือ “Financial Stability” เป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายใน 10 ปีที่ผ่านมานี้ โดยเฉพาะหลังจากเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ซึ่งมีต้นเหตุมาจากทางการสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ดูแลเสถียรภาพระบบการเงินให้ดีเท่าที่ควร ทำให้ความเสี่ยงสะสมใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งระเบิดขึ้นในตลาดสินเชื่อบ้านของสหรัฐฯ และลุกลามกลายเป็นความเสี่ยงต่อทั้งระบบการเงิน (Systemic Risk) รวมทั้งส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลกในปี 2008
จะเห็นได้ว่าเสถียรภาพระบบการเงินนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากในระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งคำว่าเป็นเสถียรภาพระบบการเงินเป็นคำที่มีความหมายกว้าง ซึ่งเสถียรภาพการเงิน คือภาวะที่ระบบการเงินสามารถทนทานต่อแรงกดดันต่าง ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศได้ รวมทั้งทำหน้าที่ให้บริการทางการเงิน และสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนได้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ระบบการเงินนี้ครอบคลุมหลายองค์ประกอบ เช่น สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ผู้เล่นในตลาดเงินตลาดทุน เป็นต้น คำถามคือ แล้วใครกันคือผู้กำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่เป็นภาครัฐของไทย(Regulator)
เสถียรภาพการเงินไทย ใครเป็นคนดูแล ?
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุน โดยกำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และผู้ประกอบธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าถึงข้อมูล และตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจในภาคธุรกิจที่ระดมทุน และประกอบธุรกิจในตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม โดยมีการบริหารความเสี่ยงเพื่อไม่ให้ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีหน้าที่กำกับดูแลตลาดประกันภัย โดยกำกับดูแลบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยมีความเข้มแข็งมั่นคง คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหลายบทบาทหน้าที่ หนึ่งในนั้นคือการกำกับดูแลตลาดสินเชื่อ โดยกำกับดูแลสถาบันการเงินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อ อาทิเช่น ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ รวมถึงผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน Non-bank ที่ ธปท. กำกับดูแล เช่น บริษัทบัตรเครดิต บริษัทบัตรกดเงินสด e-Wallet ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ และระบบการเงินมีความยืดหยุ่นรองรับความเปลี่ยนแปลงได้ดี (Resilient)
ซึ่ง Regulator ทั้ง 3 หน่วยงาน มีอำนาจชัดเจนตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่ด้วยความซับซ้อนของระบบการเงินที่เชื่อมโยงกันในหลายมิติ ก.ล.ต. คปภ. และ ธปท. จึงทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด โดยมีการประชุมระหว่าง 3 หน่วยงานเป็นประจำทุกไตรมาส ที่เรียกว่า “3 Regulators Meeting” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองต่าง ๆ ตลอดจนหารือนโยบายเพื่อป้องกันความเสี่ยงและดูแลให้ระบบการเงินไทยมีเสถียรภาพ
ผู้ที่มีหน้าที่บริหารของ Regulators ทั้ง 3 หน่วยงาน จะนั่งอยู่ในคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกด้วย โดย กนส. มีหน้าที่กำหนดนโยบายระบบสถาบันการเงินอย่างเหมาะสมเพื่อให้ระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพมั่นคง
กฎหมายกำหนดให้กรรมการ กนส. มาจาก เลขาธิการ ก.ล.ต. เลขาธิการ คปภ. ผู้ว่าการ ธปท. รองผู้ว่าการ ธปท. 2 ท่าน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 ท่าน รวมทั้งสิ้น 11 ท่าน จะเห็นได้ว่านอกจาก Regulators ทั้ง 3 หน่วยงานแล้ว ใน กนส. ยังมีตัวแทนจากกระทรวงการคลังและกรรมการอิสระจากภายนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญอีกด้วย
หลายๆคนที่ติดตามเศรษฐกิจไทย คงคุ้นเคยกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่เป็นคณะกรรมการหลักอีกชุดหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยมีเป้าหมาย 3 อย่าง ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน จะเห็นว่าเสถียรภาพระบบการเงินเป็นหนึ่งในเป้าหมายของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญและมีผลกระทบเชื่อมโยงต่อทุก ๆ คนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ
ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน และ คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน จะมีการประชุมร่วมกัน (Joint Meeting) ปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมิถุนายนและธันวาคม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองเกี่ยวกับเสถียรภาพระบบการเงิน ตลอดจนหารือในเชิงนโยบายที่แต่ละ Regulator จะดำเนินการและประสานงานกันเพื่อสร้างเสถียรภาพระบบการเงินไทยให้เข้มแข็ง โดยจะออกแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุม Joint Meeting ทุกครั้ง เพื่อสื่อสารสถานการณ์ล่าสุดและประเด็นความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินไทยให้สาธารณชนได้รับทราบ
นอกจาก 3 หน่วยงานหลักที่กล่าวมาแล้ว ประเทศไทยยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ช่วยกันดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ทั้งในภาพรวมและเฉพาะด้าน เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ที่ดูแลภาพรวมด้านการคลัง การเงิน และเศรษฐกิจ รวมถึงกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินบางประเภท เช่น พิโคไฟแนนซ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ (กตส.) ที่กำกับดูแลสหกรณ์ทุกประเภท รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากในระบบการเงินไทย
เสถียรภาพการเงินสำคัญยังไง ?
ความสำคัญของเสถียรภาพระบบการเงินก็เปรียบเสมือนสุขภาพของคนเรา ช่วงที่เรามีสุขภาพดี ดำเนินชีวิตได้อย่างปกติราบรื่น อาจทำให้เราละเลยการรักษาสุขภาพ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ เพราะสร้างความเหน็ดเหนื่อยและความไม่รื่นรมย์ในชีวิต แต่เมื่อใดก็ตามที่เรามีปัญหาสุขภาพ ก็จะนึกเสียใจว่าควรทำหลาย ๆ เรื่องในช่วงก่อนหน้า เช่นเดียวกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน การตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอก็เปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพตามกำหนด และการฟังคำแนะนำจากหมอเพื่อรักษาสุขภาพให้ดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อทุก ๆ คนที่มีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจการเงินไทย และต่อตัวเราเองด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามเพื่อนๆก็อย่าลืมรักษาเสถียรภาพของเงินของตัวเราเองด้วยนะครับ
Referrence : ธนาคารแห่งประเทศไทย
Cookie | Duration | Description |
---|---|---|
cookielawinfo-checkbox-analytics | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Analytics". |
cookielawinfo-checkbox-functional | 11 months | The cookie is set by GDPR cookie consent to record the user consent for the cookies in the category "Functional" |
cookielawinfo-checkbox-necessary | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookies is used to store the user consent for the cookies in the category "Necessary". |
cookielawinfo-checkbox-others | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Other". |
cookielawinfo-checkbox-performance | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Performance". |
viewed_cookie_policy | 11 months | The cookie is set by the GDPR Cookie Consent plugin and is used to store whether or not user has consented to the use of cookies. It does not store any personal data. |