fbpx
Search
Close this search box.

มีเงินแล้วต้องจ่ายทันที มาทำความรู้จัก “Oniomania” โรคเสพติดการชอปปิง

ทุกวันนี้เราโดนสะกดจิตด้วยคำว่า “ของมันต้องมี” บนโลกโซเชียลไปแล้วกี่ครั้ง แล้วทุกครั้งก็ต้องซื้อตาม พยายามหักห้ามใจแล้วก็ทำไม่ได้ พอไม่ซื้อก็จะรู้สึกเครียด แต่พอซื้อมาก็รู้สึกผิดกับตัวเองซะงั้น อาการแบบนี้มันแปลก ๆ ไปรึเปล่านะ   

ถ้ารู้สึกแบบนี้ละก็ เดี๋ยวเอซียูเพย์จะพาไขข้อสงสัย และทำความรู้จักภาวะชอปปิงแก้เครียดที่เรียกว่า Oniomania กัน

Oniomania คืออะไร

Oniomania มาจากคำภาษากรีก “onius” ที่แปลว่า “เพื่อซื้อขาย” และ “mania” ที่แปลว่า “บ้าคลั่ง” รวมเป็นความหมายว่า ความบ้าคลั่ง อยากชอปปิงอย่างไม่มีเหตุผล 

หรือเรียกอีกอย่างว่า Compulsive Buying Disorder (CBD) เป็นความผิดปกติทางพฤติกรรมชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะคือ ภาวะที่หมกมุ่นอยากใช้จ่ายซื้อของสิ่งนั้นสิ่งนี้ตลอดเวลา โดยไม่สามารถหักห้ามใจ หรือหยุดการกระทำของตนเองได้ ผู้ที่มีภาวะนี้มักรู้สึกตื่นเต้นและมีความสุขระหว่างขั้นตอนการซื้อของ แต่อารมณ์เหล่านี้มักตามมาด้วยความรู้สึกผิด และปัญหาทางการเงินที่ตามมา

อาการของภาวะ Oniomania มีอะไรบ้าง

อาการของโรคเสพติดการชอปปิง ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า หากคุณมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้ 4 ข้อขึ้นไป นั่นแปลว่าคุณเข้าข่ายเป็นโรคเสพติดการช้อปปิ้ง

  • ซื้อของเป็นประจำทุกวัน หรือทุกสัปดาห์
  • เมื่อรู้สึกอารมณ์ไม่ดี ก็จะระบายอารมณ์ ด้วยการชอปปิง 
  • ชอบใช้บัตรเครดิตมากกว่าเงินสด
  • ยอมจ่ายบิลช้า หรือเลือกเปิดบัตรเครดิตใบใหม่มาเพื่อชอปปิง
  • ซื้อของโดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นจึงทำให้มีของที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ 
  • โกหก หรือลักขโมยเพื่อให้ได้ชอปปิงต่อ
  • ถึงจะรู้สึกผิดหลังได้ชอปปิง แต่จะยังคงทำต่อไป เพราะไม่สามารถควบคุม และยับยั้งพฤติกรรมการชอปปิงของตนเองได้

สาเหตุของภาวะ Oniomania โรคเสพติดการชอปปิง

สาเหตุของโรคนี้มาจากกลไกธรรมชาติของมนุษย์ที่สร้างขึ้นมาป้องกันตัวเอง เมื่อรู้สึกเหงา เศร้าเสียใจหรือควบคุมอารมณ์ไม่ได้ จึงเลือกใช้เงินแก้ปัญหา โดยผู้เชี่ยวชาญเผยว่าสะท้อนถึงสภาวะจิตใจ ความรู้สึก หรือแผลบางอย่างที่พยายามเก็บซ่อนไว้ เพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับมัน

อีกสาเหตุที่เป็นไปได้ก็คือ ความเกี่ยวข้องระหว่างการชอปปิงกับการทำงานของสมอง โดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยว่า เวลาชอปปิง สมองจะหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) และสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ที่ได้ชื่อว่าเป็นสารเคมีแห่งความสุขออกมามากเกินไป พอเป็นอย่างนั้นนาน ๆ เข้า พวกเขาก็เสพติดความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตอนนั้น จนกลายเป็นการเสพติดการช้อปปิ้งในที่สุด

ภาวะ Oniomania ส่งผลเสียอะไรบ้าง

ภาวะนี้ส่งผลเสียทั้งปัญหาสุขภาพทางการเงินที่ย่ำแย่ เพราะต้องกู้ยืมเงินเพื่อมาจ่ายค่าสิ่งของที่เราซื้อไป จนทำให้สร้างหนี้ไม่หมดไม่สิ้น อีกทั้งยังกระทบต่อความสัมพันธ์คนรอบข้างและคนในครอบครัว เพราะต้องแอบซื้อของโดยไม่บอกให้ใครรู้ และเมื่อมีหนี้สินที่จัดการไม่ไหว ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตอย่าง ภาวะเครียด ซึมเศร้า เมื่อหาทางออกของปัญหาไม่ได้อาจถึงขั้นก่อเหตุอาชญากรรม

วิธีจัดการ Oniomania รักษาให้หายขาดได้

  • รับรู้ถึงภาวะอารมณ์ของตัวเอง: มีสติ รับรู้เท่าทันภาวะอารมณ์และควบคุมความรู้สึกนั้นให้ได้
  • คำนึงถึงความจำเป็น: คิดก่อนซื้อ ต้องมั่นใจว่าไม่ได้ซื้อของซ้ำ และไม่ซื้อของตามความอยากได้ของตัวเอง
  • ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย: วางแผนค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และยังเป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้กับตัวเอง
  • ปรึกษาแพทย์-ผู้เชี่ยวชาญ: เพื่อได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม ป้องกันอาการรุนแรง หรือผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจตามมา

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่