fbpx
Search
Close this search box.

ได้ค่าคอมมิชชั่นต้องเสียภาษีหรือไม่

เกิดคำถามความสงสัยมากมาย ว่าทำงานที่ได้รับค่าคอมมิชชั่นจำเป็นต้องเสียภาษีหรือไม่ ครั้งนี้จะพามาตอบข้อสงสัย พร้อมบอกวิธีคำนวณรายได้สุทธิที่ต้องไปเสียภาษีให้เข้าใจกันง่าย ๆ 

พนักงานเงินเดือนที่ได้รับค่าคอมมิชชั่นเสริม หรือคนที่ได้รับรายได้เป็นค่าคอมมิชชั่น ไม่ว่าจะเป็น เซลส์ พนักงานขายประกัน ดีเทลยา อาชีพเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ภาษีเป็นภาระหน้าที่ของประชาชนที่ต้องจ่ายหรือชำระให้แก่รัฐ และเนื่องจากค่าคอมมิชชั่นอยู่ในประเภทเงินได้ตามมาตรา 40 (2) ดังนั้นคนเหล่านี้จำเป็นต้องเสียภาษี โดยยื่นแบบตอนสิ้นปี

รายได้เท่าไรต้องยื่นภาษี

สำหรับบุคคลธรรมดาหรือมนุษย์เงินเดือนที่จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อิงจากเงินได้ขั้นต่ำและสถานภาพ ดังนี้

บุคคลโสด

  • เงินได้ประเภทเงินเดือน รายได้ทั้งปีขั้นต่ำ 120,000 บาท
  • เงินได้ประเภทอื่นๆ 40 (1) – 40 (6) รายได้ทั้งปีขั้นต่ำ 60,000 บาท

บุคคลสมรส

  • เงินได้ประเภทเงินเดือน รายได้ทั้งปีขั้นต่ำ 220,000 บาท
  • เงินได้ประเภทอื่นๆ รายได้ทั้งปีขั้นต่ำ 120,000 บาท

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ 40 (2) คืออะไร

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) คือ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เป็นต้น

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) คือ เงินได้ในรูปค่าตอบแทนการรับจ้างทั่วไป ไม่มีความสัมพันธ์เจ้านายลูกน้องต่อกัน และไม่เข้าข่ายการประกอบอาชีพอิสระ เช่น 

  • ค่าคอมมิชชั่น ค่านายหน้า เช่น เซลส์แมน ตัวแทนประกันชีวิตธุรกิจขายตรง นักธุรกิจเครือข่าย
  • ค่าตอบแทนของผู้ประกาศข่าว นักจัดรายการ พิธีกร MC ตามงานอีเวนต์ต่าง ๆ
  • ค่ารับรีวิวสินค้าในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
  • ค่าปรึกษาของผู้ที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพอิสระประเภท 6
  • ค่าจ้างการสร้างผลงานที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา และสุดท้ายผู้ว่าจ้างจะเป็นเจ้าของสิทธิ์ขาดในงานนั้น
  • หรือ เงิน ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับจากผู้ว่าจ้าง

วิธีคำนวณค่าใช้จ่ายก่อนคำนวณภาษี

ถ้าเสียภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดา ต้องนำรายได้ทั้งปี ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. มาหัก “ค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อน” ก่อน ถึงนำเงินได้สุทธิเอามาคำนวณเสียภาษี โดยสรรพากรมีเงื่อนไขว่า ค่าใช้จ่าย หักได้ 50 % แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยรวมรายได้สองประเภทจาก 40 (1) และ 40 (2) 

(เงินได้ประเภทที่ 1 + เงินได้ประเภทที่ 2) x 50% = ค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

ยกตัวอย่างเช่น 

นาย A มีรายได้จากเงินเดือนและค่าคอมมิชชั่นทั้งหมด 600,000 บาท คิดเป็นค่าใช้จ่าย 50 % เท่ากับนาย A มีค่าใช้จ่าย 300,000 บาท แต่ตามเงื่อนไขกำหนดให้ ค่าใช้จ่ายที่หัก 50 % ต้องไม่เกิน 100,000 บาท เท่ากับว่า นาย A สามารถหักค่าใช้จ่ายได้แค่ 100,000 บาท ตามที่สรรพากรกำหนด ถึงแม้ความจริงค่าใช้จ่ายที่คิดจะเกินกว่านั้นมากก็ตาม ดังนั้น นาย A จึงมีเงินได้ทั้งหมด 500,000 บาท 

จากนั้น นำเงินที่เหลือไปหักกับค่าลดหย่อนต่าง ๆ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ประกันสังคม ประกันออมทรัพย์ ดังนั้น นาย A จะเหลือเป็นเงินได้สุทธิทั้งหมด 350,000 บาท และเงินนี้เองที่ต้องนำไปคำนวณเสียภาษีตามขั้นบันไดต่อไป

ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร หรือจะมีรายได้ช่องทางไหนบ้างก็ตาม หากรู้ว่าถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ควรจะทำเรื่องเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เจอกับปัญหาภาษีย้อนหลังภายหลัง

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่