fbpx
Search
Close this search box.

ธุรกิจไทยอ่วม วิจัยเผยโรงแรมและร้านอาหาร
อาจต้องแบกค่าไฟฟ้าแพงขึ้น 17%

ค่าไฟฟ้าแพงยังเป็นปัญหาหลักที่คนไทยยังต้องรับมือ ซึ่งยังส่งผลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจ ที่ต้องมีรายจ่ายและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ภาคธุรกิจไทยอาจต้องเผชิญกับปัญหาค่าไฟฟ้าในปีนี้แพงขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมจะโดนกดดันต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างหนัก

รายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ตามการขยับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ Ft และปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัว แม้อัตราค่าไฟฟ้าของภาคธุรกิจ (ทั้งอุตสาหกรรมและบริการ) ในงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 จะลดลง เมื่อเทียบกับงวดแรกของปี และอาจจะลดลงได้อีกในงวดสุดท้ายของปี ถ้าราคาเชื้อเพลิงโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติปรับลง

ในช่วงสภาวะอากาศร้อนจัด ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของทุกภาคส่วน ทั้งภาคครัวเรือและธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่พักและร้านอาหาร  ซึ่งเป็นธุรกิจบริการลำดับต้นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า น้ำ) และต้นทุนวัตถุดิบอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ในจังหวะที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ สะท้อนจากการคาดการณ์ว่ารายได้หรือมูลค่าตลาดในปี 2566 ที่จะยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนโควิด โดยโรงแรมที่พัก มีสัดส่วนต้นทุนค่าไฟฟ้าและน้ำกว่า 18% ของต้นทุนรวม ส่วนร้านอาหารมีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 3% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาคธุรกิจส่วนใหญ่ที่สัดส่วนนี้อยู่ที่ราว 2.6% 

อีกทั้งร้านอาหารจะเผชิญการปรับขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบอาหารจากผลกระทบของภัยแล้งที่อาจจะรุนแรง จากการเคลื่อนเข้าสู่ภาวะซูเปอร์เอลนีโญหรือภัยแล้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงที่สถานการณ์อาจจะรุนแรงและลากนานกว่า 3 ปี ทำให้ธุรกิจบริการอาจเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากราคาวัตถุดิบอาหารที่อาจขยับสูงขึ้น เช่น ข้าว ผักผลไม้ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เนื่องจากความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากความไม่เพียงพอของปริมาณน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน (แม้ราคาน่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดีสำหรับเกษตรกรก็ตาม) รวมถึงปริมาณความต้องการใช้น้ำก็มีแนวโน้มขยายตัว ตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เมื่อประกอบกับต้นทุนรายการอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนแรงงาน หลังแรงงานคืนถิ่นหรือเปลี่ยนอาชีพไปในช่วงโควิด และการเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยคาดว่าต้นทุนโดยรวมของทั้งโรงแรมที่พักและร้านอาหาร อาจจะปรับเพิ่มขึ้นอีกราว 9 – 16% ในปี 2566 ส่งผลให้กิจการโรงแรมที่พักและร้านอาหารที่มีความสามารถในการปรับตัวต่ำ หรือมีความยืดหยุ่นในการปรับค่าบริการหรือราคาขายได้น้อย อีกทั้งตั้งอยู่ในทำเลหรือพื้นที่ที่ฐานลูกค้าอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และมีหนี้เดิมในระดับสูงอยู่แล้ว จะส่งผลให้เป็นกลุ่มที่เผชิญแรงกดดันสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SME (จากข้อมูล ธปท. พบว่า ณ สิ้นปี 2565 ยอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอีธุรกิจที่พักแรมและบริการด้านอาหารอยู่ที่กว่า 3.16 แสนล้านบาท)

ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่