fbpx
Search
Close this search box.

ทำไมทะเลไม่มี ‘ฉลาม’ น่ากลัวกว่าทะเลมี ‘ฉลาม’

ฉลาม

โลกของเรานั้น ประกอบไปด้วยน้ำทะเลเกือบ 70% ซึ่งมีความสำคัญต่อโลกและสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ในบรรดาสัตว์ทะเลจำนวนมากมาย หนึ่งในสัตว์ทะเลที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลอันละเอียดอ่อนของระบบนิเวศ นั่นก็คือ ‘ฉลาม’ นักล่าแห่งท้องทะเลที่ใครหลายคนต่างมองว่าเป็นสัตว์ดุร้าย อันตราย แต่รู้ไม่ว่าทะเลที่ไม่มีฉลามส่งผลต่อระบบนิเวศในท้องทะเลมากกว่าที่เราคิด ครั้งนี้ เอซียูเพย์จะสำรวจว่าทำไมทะเลไม่มี ‘ฉลาม’ น่ากลัวกว่าทะเลมี ‘ฉลาม’

ฉลามคือสัตว์น้ำที่สืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์มายาวนาน ตั้งแต่ก่อนยุคไดโนเสาร์ หรือ ประมาณ 400 ล้านปีมาแล้ว โดยมีการวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอดตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน ต่างจากไดโนเสาร์ซึ่งสูญพันธุ์ไปก่อนหน้านี้

ฉลามนั้นมี 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ฉลามผิวน้ำและปลาฉลามหน้าดิน ปัจจุบันพบได้ประมาณ 400 ชนิดทั่วโลก และฉลามเกือบทุกสายพันธุ์เป็นสัตว์กินเนื้อ มีเพียงไม่กี่ชนิดที่กินซากสัตว์หรือแพลงก์ตอน ทำให้พวกมันถูกมองว่าอันตราย ดุร้าย และ น่ากลัว 

ฉลามนักรักษาสมดุลแห่งท้องทะเล

ฉลามไม่ได้เป็นแค่นักล่าเท่านั้น แต่ฉลามถือว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก เพราะพวกมันอยู่ลำดับสูงสุดของ ‘ห่วงโซ่อาหาร’ ทำให้พวกมันมีหน้าที่คอยรักษาสมดุลของประชากรปลาทะเล 

โดยพวกมันจะกำจัดปลาที่เชื่องช้า ป่วย หรือ กำลังจะหมดอายุขัย เพื่อให้ปลาแต่ละสายพันธุ์เหลือแต่ตัวที่แข็งแรง อีกทั้งยังควบคุมประชากรปลากินพืชให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่สร้างความเสียหายกับถิ่นที่อยู่อาศัย อย่างเช่น ไม่ให้พืชน้ำลดลงมากเกินไป ประชากรปลาไม่หนาแน่นจนเกินไปในแต่ละท้องที่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังควบคุมประชากรของปลากินเหยื่อที่มีขนาดรองลงมาให้เหมาะสม เพื่อให้มีการแบ่งสันปันส่วนการใช้ทรัพยากรทางทะเลของประชากรปลา

ซึ่งถ้าเกิดฉลามหมดไปจากระบบนิเวศทางทะเล ก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อห่วงโซ่อาหารในท้องทะเลเช่นเดียวกัน เพราะถ้าฉลามมีจำนวนน้อยลงก็จะทำให้ ‘ปลาหมอทะเล’ ผู้ล่าระดับรองลงมา เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการล่าปลากินพืชมากเกินไป จนปลากินพืชลดลงทำให้ส่งผลต่อปริมาณสาหร่ายที่ปกคลุมพื้นที่มากขึ้นจนมาแย่งพื้นที่ของปะการัง ทำให้เกิดปัญหาปะการังเสื่อมโทรม และทำให้ระบบนิเวศทางทะเลล่มสลายไปในที่สุด

นอกจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบจากการที่ฉลามหายไปด้วยเช่นกัน เพราะสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น หอยเชลล์ และ หอยเป๋าฮื้อ ตามธรรมชาติจะมีจำนวนลดลงตามไปด้วย

เหตุผลที่ทำให้ฉลาดลดลงไม่ใช่แค่มนุษย์ แต่คือโลกร้อน

นอกจากฉลามจะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ด้วยฝีมือมนุษย์อย่าง การล่าฉลามเพื่อทำเมนูสุดหรูอย่าง ‘หูฉลาม’ แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญก็คือ ‘ภาวะโลกร้อน’ ที่ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดต้องย้ายถิ่นฐานไปยังแหล่งน้ำที่มีอุณหภูมิเหมาะสมกับการดำเนินชีวิต ทำให้ระบบนิเวศเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย 

สิ่งที่น่ากังวลคือการย้ายถิ่นของ “ฉลามขาว” เนื่องจากน้ำทะเลเริ่มอุ่นขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2557 ทำให้ฉลามขาววัยรุ่นส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่นอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย อพยพไปทางเหนือประมาณ 600 กิโลเมตร เพื่ออยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นกว่า และเมื่อบรรดาฉลามเข้าไปรวมตัวอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชากร “นากทะเล” ลดลงถึงร้อยละ 86 เนื่องจากถูกฉลามฆ่า

และที่น่ากังวลคือ หลังจากที่ฉลามย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว พวกมันก็ไม่ยอมย้ายกลับมาอยู่ที่เดิม เมื่ออุณหภูมิบ้านเก่าของมันกลับมาเป็นปกติ นั่นจึงทำให้เกิดความเสียหายของระบบนิเวศทางทะเลถึงสองแห่งด้วยกัน

สุดท้ายแล้วเราจะมองทะเลที่ไม่มี ‘ฉลาม’ นั้นน่ากลัวกว่าทะเลมี ‘ฉลาม’ เยอะ และเหตุผลที่ทำให้เหล่าฉลามผู้รักษาสมดุลแห่งท้องทะเล ค่อย ๆ สูญพันธุ์ไป พร้อมกับระบบนิเวศในทะเล นั่นก็คือ ‘มนุษย์’ อย่างเรานี่เอง เพราะแบบนี้เราควรหันกลับมาใส่ใจถึงธรรมชาติและภาวะโลกร้อนที่กำลังส่งผลต่อทั้งเราและสัตว์น้อยใหญ่ในโลกใบเดียวใบนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่