fbpx
Search
Close this search box.

เคลียร์จบ ปัญหาลิขสิทธิ์-เครื่องหมายการค้า แบบไหนถึงเรียกว่าผิดกฎหมาย

หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวเรื่องปัญหาลิขสิทธิ์-เครื่องหมายการค้า ในการตั้งชื่อแบรนด์สินค้ากันมาบ้าง แต่เคยสงสัยไหมว่า ความแตกต่างระหว่างลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร เดี๋ยว ACU PAY จะมาอธิบายให้ฟัง และบอกวิธีตั้งชื่อแบรนด์สินค้าแบบไหนถึงจะถูกกฎหมาย

ลิขสิทธิ์คืออะไร

ลิขสิทธิ์ (Copyright) คือ สิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวที่กฎหมายรับรองให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานสามารถทำซ้ำ ดัดแปลง หรือโฆษณา และมีสิทธิ์ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้อื่นนำงานนั้นไปใช้ได้ โดยจะคุ้มครองงานสร้างสรรค์ 9 ประเภท คือ วรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นๆ ในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ 

ลิขสิทธิ์มีลักษณะสำคัญ คือ

  1. ลิขสิทธิ์ ไม่ต้องมีการจดทะเบียนใด ๆ ได้รับความคุ้มครองทันทีตั้งเเต่ทำผลงานชิ้นนั้นเสร็จ
  2. อายุลิขสิทธิ์เริ่มตั้งเเต่ทำผลงานชิ้นนั้นเสร็จตลอดจนคนสร้างเสียชีวิตเเละยังได้รับความคุ้มครองไปอีก 50 ปี หลังจากคนสร้างเสียชีวิต (มีเเค่ศิลปประยุกต์ลิขสิทธิ์มีอายุแค่ 25 ปี นับตั้งเเต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น)
  3. ทั้งนี้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ จะได้รับการคุ้มครองอัตโนมัติอยู่เเล้ว แต่ควรมาแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้เพื่อเป็นฐานข้อมูลในกรณีที่บุคคลอื่นอยากติดต่อขออนุญาตใช้งานลิขสิทธิ์ของเรา

เครื่องหมายการค้าคืออะไร

เครื่องหมายการค้า (TRADEMARK) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง หมายถึง เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ หรือตราที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ เพื่อแสดงว่าสินค้าหรือบริการที่ใช้กับเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกัน เช่น โลโก้ต่าง ๆ

เครื่องหมายการค้ามีลักษณะสำคัญ คือ

  1. เครื่องหมายการค้า ต้องจดทะเบียนเพื่อให้นายทะเบียนรับพิจารณาเครื่องหมายก่อนได้รับความคุ้มครอง
  2. อายุการคุ้มครองมีระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน และสามารถใช้ได้ตลอดไปเเต่ต้องมาต่ออายุการใช้งานคราวละ 10 ปี 
  3. จดเครื่องหมายการค้าที่ประเทศไหน จะได้รับความคุ้มครองในประเทศนั้น
  4. สามารถจดทะเบียนข้ามประเทศได้เเม้ว่าอยู่ในไทยผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญา (พิธีสารกรุงมาดริด)
  5. หลักของเครื่องหมายการค้า คือ ยิ่งจดก่อน ยิ่งได้รับความคุ้มครองก่อน

ความแตกต่างระหว่างลิขสิทธิ์กับเครื่องหมายการค้า

เวลาพูดถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา คนส่วนใหญ่มักสับสนกับการใช้คำว่า “เครื่องหมายการค้า” และ “ลิขสิทธิ์” ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้งสองอย่างนี้คุ้มครองคนละส่วนหรือองค์ประกอบของงานสร้างสรรค์ “เครื่องหมายการค้า” มีไว้เพื่อแยกแยะสินค้าและบริการที่มีอยู่ในท้องตลาด ในทางกลับกัน “ลิขสิทธิ์” คุ้มครองงานสร้างสรรค์เกือบทั้งหมด ยกเว้น ชื่อสินค้า ชื่อบริการ คำโฆษณาหรือสโลแกนที่มีเอกลักษณ์ 

ยกตัวอย่างเช่น เราออกแบบโลโก้มาอันหนึ่ง ภาพโลโก้ที่เราออกแบบจะได้รับความคุ้มครองในฐานะงานลิขสิทธิ์ประเภทงานศิลปกรรม ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ แต่จะไม่ได้คุ้มครองชื่อสินค้า คำโฆษณาหรือสโลแกน ที่อยู่ในโลโก้ แต่ถ้าเรานำโลโก้นั้นไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โลโก้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นภาพหรือตัวหนังสือ ก็จะได้รับความคุ้มครองในฐานะเครื่องหมายการค้าด้วย

โทษของการละเมิดลิขสิทธิ์ และ เครื่องหมายการค้า

ดังนั้น หากมีผู้อื่นนำโลโก้ของเราไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เขาก็อาจจะมีความผิดทั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ และละเมิดเครื่องหมายการค้า 

  • การละเมิดลิขสิทธิ์ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 – 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  • การละเมิดเครื่องหมายการค้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แล้วตั้งชื่อแบบไหนถึงไม่ผิดกฎหมาย?

  1. ตั้งชื่อคล้ายกัน กับสินค้า-บริการประเภทเดียวกัน

    อย่างที่รู้กันว่าชื่อแบรนด์ไม่ได้ถูกพิจารณาให้เป็นงานมีลิขสิทธิ์ แต่จะได้รับการคุ้มครองจากการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเท่านั้น ซึ่งถ้าเกิดชื่อแบรนด์ของเราเหมือนหรือคล้ายกับของคนอื่นที่จดทะเบียนไปแล้ว ก็จะถือว่าเราไปละเมิดสิทธิ ทั้งการลอกเลียนแบบโลโก้ ตัวสะกด หรือแม้แต่การออกเสียงชื่อแบรนด์คล้าย ๆ กันได้ ก็สามารถถูกฟ้องได้

  2. ตั้งชื่อคล้ายกัน แต่คนละประเภทสินค้า-บริการ

    กรณีชื่อแบรนด์เหมือนกันถึงแม้จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ในกลุ่มสินค้าอื่นก็สามารถจดทะเบียนในชื่อเดียวกันได้ ถ้ากลุ่มสินค้านั้นยังไม่มีผู้ขอจดทะเบียนการค้ามาก่อน 

  3. คุ้มครองชื่อแบรนด์ในประเทศที่เราขอรับจดทะเบียนเท่านั้น

    การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น “ยื่นในประเทศไหน คุ้มครองในประเทศนั้น” เช่น ถ้ายื่นในไทย คุ้มครองแค่ในประเทศไทย ยื่นในอเมริกา คุ้มครองแค่ในประเทศอเมริกาเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์กาแฟ Amazon ของไทย ที่ตั้งชื่อคล้ายกับ แบรนด์อีคอมเมิร์ส Amazon ของอเมริกา สามารถตั้งชื่อได้ เพราะอยู่ในกลุ่มสินค้า-บริการคนละประเภท 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่