fbpx
Search
Close this search box.

เพราะอะไรความ ‘มั่งคั่ง’ ยั่งยืนกว่า ความ ‘ร่ำรวย’

ถ้าบอกว่ามีใครอยากรวยบ้าง ทุกคนคงบอกว่าอยากรวยกันใช่ไหม แต่ถ้าถามว่ามีใครอยากมั่งคั่งบ้าง หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่า ความ ‘มั่งคั่ง’ กับ ความ ‘ร่ำรวย’ สองคำนี้ต่างกันอย่างไร ก็คงหมายถึงการมีเงินเยอะเหมือนกันหรือเปล่า ซึ่งคนส่วนใหญ่ล้วนหาแต่ความ ‘ร่ำรวย’ จนลืมความ ‘มั่งคั่ง’ ที่สร้างความยั่งยืนให้กับตัวเรามากกว่า แล้วเพราะเหตุผลอะไรความ ‘มั่งคั่ง’ ถึงดีกว่า มาหาคำตอบกัน

ความมั่งคั่ง (Weathy) กับความร่ำรวย (Rich) มีความคล้ายกันตรงที่หมายถึงการมีเงินมาก แต่สิ่งที่ทำให้ความ ‘มั่งคั่ง’ ยั่งยืนกว่าความ ‘ร่ำรวย’ คือทรัพย์สินหรือเงินที่ได้มานั้น จะมาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะเป็นต่อไปในระยะยาว 

ในหนังสือ ‘The Psychology of Money’ โดย มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ได้อธิบายว่าเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านการเงิน ก็เพราะสับสนระหว่างคำว่า ‘มั่งคั่ง’ กับ ‘ร่ำรวย’

 เฮาเซิลได้ให้คำนิยามความ ‘มั่งคั่ง’ ว่าหมายถึง คนที่มีเงินเก็บในธนาคารเยอะ ในขณะเดียวกันความ ‘ร่ำรวย’ หมายถึง คนที่มีรายได้เยอะแค่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เราสามารถบอกได้ว่าใครร่ำรวยผ่านวิถีการใช้ชีวิตผ่าน ของแบรนด์เนม รถหรู บ้านหลังใหญ่โต ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เขามี เป็นเงินที่ไปกู้ยืมมา แต่บอกไม่ได้เลยว่าเขามีฐานะหรือมียอดเงินเยอะในบัญชี

อีกนิยาม ความแตกต่างระหว่างความ ‘มั่งคั่ง’ และความ ‘ร่ำรวย’ จากผู้เขียนหนังสือ ‘พ่อรวยสอนลงทุน’ โดยโรเบิร์ต คิโยซากิ ได้อธิบายว่าคนรวยมีเงินเยอะ แต่คนที่มั่งคั่งจะไม่กังวลกับเรื่องเงิน” 

คนที่ร่ำรวย คือคนที่มีเงินเยอะ แต่พอเวลาผ่านไปเงินก็มีวันหมดเช่นกัน ในทางกลับกัน คนที่มั่งคั่ง จะไม่กังวลกับเรื่องเงิน เพราะเขาสามารถมีเงินใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้แรงกายทำงาน และคงคุณภาพชีวิตเดิมนั้นไว้ได้ 

ซึ่งโรเบิร์ต คิโยซากิยังกล่าวอีกว่า “ความรวยวัดกันที่จำนวนเงิน แต่ความมั่งคั่งวัดกันที่เวลา” ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเงิน 1 ล้านบาท คนอื่นจะมองว่าเรารวย แต่ถ้าค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่เดือนละ 1 แสนบาท หมายความว่าระยะเวลาความมั่งคั่งของเราจะมีค่าเท่ากับ 10 เดือน (1 ล้าน / 1 แสน) ดังนั้นนิยามของความมั่งคั่งคือระยะเวลาที่เราอยู่เฉย ๆ แล้วมีเงินโดยไม่ต้องทำงาน 

ทั้งนี้เราสามารถคำนวณความมั่งคั่งของตัวเองได้ ด้วยอัตราส่วนที่สำคัญที่มักใช้วัดความมั่งคั่งคือ

1.อัตราส่วนความมั่งคั่ง (Wealth Ratio)

อัตราส่วนความมั่งคั่ง = รายได้จากสินทรัพย์/รายจ่าย 

ถ้าอัตราส่วนความมั่งคั่งมากกว่า 1 เท่ากับว่า เรามีอิสรภาพทางการเงิน หรือ ไม่ต้องทำงานก็อยู่ได้ด้วยรายได้จากสินทรัพย์ที่เรามีไปตลอดชีวิต ถ้าเข้าใกล้กับ 1 แสดงว่าเราอาจอยู่รอดได้โดยไม่ต้องทำงานได้แค่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ถ้าน้อยกว่า 1 มาก ๆ เราอาจยังต้องทำงานเพื่อที่จะอยู่รอด ซึ่งเราอาจตั้งเป้าหมายของเราให้อัตราส่วนความมั่งคั่งเข้าใกล้เลข 1 มากขึ้น 

และอีกหนึ่งอัตราส่วนที่สำคัญที่สามารถคำนวณอัตราการใช้ชีวิตด้วยเงินที่เพียงพอ เรียกว่า 

2.อัตราส่วนของความอยู่รอด (Survival ratio)

อัตราส่วนของความอยู่รอด = (รายได้จากการทำงาน + รายได้จากสินทรัพย์) / ค่าใช้จ่าย

อัตราส่วนของความอยู่รอดนี้ต้องมีค่ามากกว่า 1 เพื่อเราจะได้อยู่รอดด้วยตัวเองโดยไม่ต้องก่อหนี้สินหรือพึ่งพาคนอื่นนั่นเอง และถ้าเราลองเอาค่ารายได้จากการทำงานออก ก็จะได้ค่าเดียวกับอัตราส่วนความมั่งคั่ง (wealth ratio) เลย

การเข้าใจความแตกต่างตรงนี้จะช่วยทำให้เราตัดสินใจกับเงินของเราได้มากขึ้น คนที่มั่งคั่งมักมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จทางการเงินในระยะยาว และมีอิสรภาพทางการเงินที่มากกว่า อย่างที่ใครหลายคนใฝ่ฝัน

การเดินทางเพื่อไปสู่ความ ‘มั่งคั่ง’ จำเป็นจะต้องอาศัยการวางแผนและประเมินสถานการณ์ที่ดี เพราะการสร้างความมั่งคั่งได้ จะต้องใช้ระยะเวลาเป็นตัวตัดสิน ซึ่งความมั่งคั่งสามารถสร้างได้ด้วยการวางแผนรายได้ การออมเงิน และการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในทรัพย์สิน หุ้น กองทุนรวม ตราสารหนี้ หรือแม้แต่การลงทุนในตัวเองก็เช่นกัน ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและความเสี่ยงที่รับได้ของแต่ละคน 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่