fbpx
Search
Close this search box.

มีรายได้ต่างประเทศ ต้องเสียภาษีไหม

ใครที่กำลังทำงานต่างประเทศ หรือมีรายได้จากต่างประเทศอยู่ เตรียมตัวให้พร้อม เพราะในการจ่ายภาษีปีหน้า 2567 นี้ มีการเปลี่ยนเกณฑ์การเสียภาษีเงินได้จากต่างประเทศใหม่ โดยรายละเอียดจะเป็นอย่างไร ตาม ACU PAY มาเลย

สรุปเกณฑ์ใหม่ เก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศ 2567

ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566 มาให้ เป็นแนวทางการเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเหตุผลที่กรมสรรพากรวางแนวปฏิบัติใหม่นี้ เพราะต้องการให้ผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ต่างประเทศ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในไทยให้ชัดเจน เพื่อการจัดเก็บภาษีเป็นธรรมมากขึ้น

อนอื่น เรามาทำความรู้จักหลักการเก็บภาษีในประเทศไทยกันก่อน สำหรับการจัดเก็บภาษีในประเทศไทยนั้น มีการพิจารณาอยู่ 2 หลักเกณฑ์ คือ “แหล่งเงินได้” และ “ถิ่นที่อยู่” คือ

  1. ผู้มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว จากงานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือ เนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทย จะต้องเสียภาษีในส่วนนี้ไม่ว่าเงินนั้นจะจ่ายใน หรือ นอกประเทศ
  2. ผู้อยู่ในประเทศไทยมากกว่า 180 วัน ในปีภาษีที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่หรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ เนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีเงินได้เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

โดยสรุปเกณฑ์การเก็บภาษีต่างประเทศคือ

ถ้ามีเงินได้เข้ามา “ก่อน” ปี 2567 ผู้นั้นไม่ต้องเสียภาษีในประเทศไทย แต่ถ้ามีเงินได้ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป จะต้องเช็กตัวเองด้วยคำถาม 2 ข้อ นั่นคือ

  1. อยู่ไทยถึง 180 วันในปีภาษีหรือไม่ ?
  2. นำเงินได้จากต่างประเทศกลับเข้ามาในประเทศไทยด้วยหรือไม่ ?

ถ้าเช็กแล้ว ปรากฏว่าตัวเองทำไม่ครบสองข้อ นั่นแสดงว่า ตัวเรานั้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จากต่างประเทศ เพราะยังไม่เข้าเกณฑ์เสียภาษี ในทางกลับกัน ถ้าเช็กแล้วตัวเรานั้นทำครบทั้งสองข้อ นั่นแสดงว่า ตัวเราต้องเสียภาษีเงินได้จากต่างประเทศ  

เพื่อความเข้าใจมากขึ้น เรามาลองดูตัวอย่าง

ตัวอย่าง 1 : 

ในปีภาษี 2566 – 2567 นาย A อาศัยในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินจากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในต่างประเทศ ในปีภาษี 2566 และมีเงินได้พึงประเมินจากปล่อยเช่าคอนโดในต่างประเทศ ในปีภาษี 2567 จนปีภาษี 2568 นาย A นำเงินได้ทั้ง 2 ทางกลับเข้าประเทศไทย

นาย A มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ต่างประเทศ แค่ในส่วนที่ปล่อยให้เช่าคอนโดเท่านั้น เพราะเป็นเงินได้พึงประเมินเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ในส่วนของเงินได้ที่มาจากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารต่างประเทศ นาย A ไม่ต้องเสียภาษี 

ตัวอย่าง 2 : 

ในปีภาษี 2567 นาย B มีเงินได้พึงประเมินจากการทำงานในต่างประเทศ และนาย B อยู่ในประเทศไทยรวมกันถึง 180 วัน และนำเงินได้ที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศ ในปีภาษี 2567 นาย B มีหน้าที่เสียภาษีให้ประเทศไทย เพราะถือว่าครบเงื่อนไขทั้งสองข้อ

แต่ถ้าหากนาย B ไม่ต้องการเสียภาษีในประเทศไทยในกรณีที่มีเงินได้ต่างประเทศ นาย B ต้องทำตามเงื่อนไขดังนี้

    1. อาศัยอยู่ในประเทศไทยรวมกันแล้วไม่ถึง 180 วันในปีภาษี (มกราคม – ธันวาคม)
    2. “ไม่” นำเงินได้จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย

แต่ถ้าผู้มีเงินได้ถูกเก็บภาษีในประเทศแหล่งเงินได้ไปแล้ว และประเทศนั้นมีการทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับไทย สามารถนำภาษีที่ถูกเก็บไป มาใช้เป็นเครดิตภาษีได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในอนุสัญญาภาษีซ้อน 

อนุสัญญาภาษีซ้อน คืออะไร

อนุสัญญาภาษีซ้อน เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ 2 ประเทศที่เจรจากันเพื่อแก้ปัญหาการเก็บภาษีเงินได้ซ้ำซ้อน เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงอาจมีการกำหนดความร่วมมือด้านภาษีระหว่างกันด้วย ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้ทำข้อตกลงกับทางประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถึง 61 ประเทศ โดยเอาภาษีที่เสียไปแล้วกับประเทศต้นทาง มาเป็นเครดิตภาษี เพื่อลดภาระภาษีส่วนนี้ในไทยไป

ยกตัวอย่าง เช่น ครีเอเตอร์ที่มีเงินได้จากการขายสติกเกอร์ไลน์ ต้องเสียภาษีที่ประเทศญี่ปุ่น (รัฐแหล่งเงินได้) เมื่อเสียแล้วก็มาพิจารณาว่าอนุสัญญาภาษีซ้อนได้ระบุให้ประเทศไทยสามารถเก็บภาษีได้หรือไม่ ซึ่งถ้าอนุสัญญาภาษีไทย-ญี่ปุ่น กำหนดว่ากรณีลักษณะของค่าสิทธิ์อาจสามารถเก็บในรัฐที่มีแหล่งเงินได้ ก็ไม่ต้องเสียภาษีที่ประเทศไทยอีก

แต่สำหรับประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับไทย ก็แปลว่า เรามีโอกาสเสียภาษีทั้งสองประเทศ ซึ่งก็ต้องนำมาพิจารณาต่อว่า เราได้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีนั้น และมีการนำเงินได้เข้ามาหรือไม่นั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่