fbpx
Search
Close this search box.

6 เทคนิคเคลียร์หนี้บัตรเครดิต ให้หมดเร็วขึ้น

‘บัตรเครดิต’ เป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสำคัญในยุคสังคมไร้เงินสด เพราะการรูดซื้อสินค้าและบริการทุกครั้ง สถาบันการเงินจะจ่ายเงินแทนไปก่อน ทำให้เรามีสภาพคล่องในเดือนที่ซื้อสินค้า และสามารถชำระในเดือนถัดไปแทนได้ แต่ถ้าเกิดความประมาทขึ้นมา ความสะดวกสบายนี้ อาจสร้างหนี้ก้อนโต้ให้เราได้

โดยทั่วไปการคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิต จะอยู่ที่ประมาณ 16 – 18 % ต่อปี ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว และเงินที่รูดจ่ายไปจะถูกคิดคำนวณดอกเบี้ยเป็นรายวัน ซึ่งถ้าใครมัวแต่ ‘จ่ายขั้นต่ำ’ ก็อาจกำลังจะเจอกับ ดอกเบี้ยสุดโหดนี้ และที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือในปี 2567 นี้ อัตราผ่อนจ่ายขั้นต่ำ กำลังจะปรับขึ้นเป็น 8% และเป็น 10% ในปี 2568 ยิ่งต้องระวังในการจ่ายเงินขั้นต่ำมาก ๆ 

ซึ่งครั้งนี้ ACU PAY จะนำเทคนิค 6 วิธีสำหรับใครที่กำลังเผชิญหรือมีแนวโน้มที่กำลังจะเป็นหนี้บัตรเครดิต และอยากจ่ายให้หมดเร็วขึ้น 

สาเหตุหลักของหนี้บัตรเครดิต

  • จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ จนดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเพิ่มไม่หยุด และยังรูดซื้อสินค้าต่อไป จนจ่ายหนี้เดิมไม่ไหว
  • กดเงินสดออกมาจากบัตรเครดิต เพื่อนำไปใช้จ่าย โดยไม่ได้คำนึงถึงดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นตั้งแต่กดเงินสดออกมา
  • รูดใช้บัตรเครดิตหลายใบในเวลาเดียวกัน แบบไม่มีขอบเขต หรือใช้เต็มวงเงินทุกใบ จนเมื่อถึงเวลาที่ยอดชำระมาพร้อมกันจึงจ่ายคืนไม่ไหว

1. หยุดใช้บัตรเครดิตก่อน

เมื่อเรารู้ตัวว่าเริ่มจ่ายหนี้บัตรเครดิตไม่ไหวแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำคือหยุดหรือปิดการใช้งานบัตรเครดิตทันที เพื่อไม่ให้มีการก่อหนี้เพิ่มอีก หลังจากนั้นให้ตั้งสติ ประเมินรายรับรายจ่ายเบื้องต้นของตัวเราเอง จากนั้นให้เริ่มวางแผนการใช้เงินใหม่ ดูว่ารายจ่ายไหนควรลด และควรหารายได้เพิ่มทางไหนได้บ้าง เพื่อให้นำเงินตรงนั้นมาใช้หนี้ 

2. สำรวจหนี้บัตรเครดิต ว่ามีกี่ใบ และมีดอกเบี้ยเท่าไร

สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือเช็กจำนวนบัตรเครดิตที่เรามีอยู่ ว่าบัตรเครดิตแต่ละใบนั้นมีการคิดดอกเบี้ยเท่าไร จากนั้นให้เรารีบนำเงินไปโปะกับบัตรที่มีดอกเบี้ยแพงที่สุดก่อน และควรจ่ายเงินต้นควบไปด้วยจะได้ลดดอกเบี้ยไปพร้อมกัน

3. รวมหนี้เป็นก้อนเดียว

สำหรับใครที่เป็นหนี้บัตรเครดิตซ้ำซ้อนหลายใบ เอาเงินจากบัตรโน้นมารูดจ่ายหนี้บัตรนี้ ซึ่งถ้าใครเคยทำแบบนี้แล้วกำลังปวดหัวอยู่ ทางออกสำหรับการแก้ปัญหาสำหรับหนี้บัตรเครดิตแบบนี้ คือการรวมหนี้เป็นก้อนเดียวไว้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินเจ้าเดียว เพื่อลดการผ่อนจ่ายต่อเดือน และทำให้มีเงินสดหมุนเวียนในแต่ละเดือนมากขึ้น ทั้งนี้ควรสำรวจสถาบันการเงินแต่ละเจ้าอีกที

4. เจรจาหรือขอปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร

เป็นเรื่องที่หลายคนอาจยังไม่รู้ ว่าเราสามารถไปเจรจาต่อรอง หรือขอปรับเปลี่ยนโครงสร้างหนี้กับทางธนาคารหรือสถาบันเจ้าของบัตร ให้เราจ่ายจำนวนหนี้ได้น้อยลงตามที่จ่ายไหวได้ ไม่ว่าจะเป็น

  • ขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระ 
  • ช่วยลดอัตราดอกเบี้ย 
  • หยุดการคิดอัตราดอกเบี้ยชั่วคราว
  • ลดหนี้ค้างชำระบางส่วน

สำหรับใครที่ปล่อยหนี้ทิ้งไว้จนดอกเบี้ยเยอะจนจ่ายไม่ไหว ก็อาจมีการฟ้องร้องขึ้นศาลได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือการเข้าไปเจรจากับธนาคารเจ้าของบัตรจะดีที่สุด

5. จ่ายให้มากกว่าขั้นต่ำ

สำหรับใครที่ยังไม่ได้เป็นหนี้เยอะมาก สิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำคือส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาการติดหนี้บัตรเครดิตนั้นมาจาก ‘การจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ’ ในแต่ละเดือน ซึ่งการจ่ายแค่ขั้นต่ำต่อเดือนนั้นจะหมายถึงการจ่ายแค่ดอกเบี้ย แต่เงินต้นไม่ได้ลดลงไปเลย ทางที่ดีควรจ่ายยอดที่เกินยอดจ่ายขั้นต่ำ จะช่วยลดหนี้และดอกเบี้ยที่ต้องเสียลงไปด้วย

6. ควบคุมการใช้เงินของตัวเองอย่างเคร่งครัด

หลังจากรู้ภาระหนี้ของตัวเองแล้ว สิ่งที่ควรทำเพื่อไม่ให้เกิดหนี้เพิ่ม คือการควบคุมการใช้จ่ายเงินของตัวเองอย่างเคร่งครัด หลังจากเลิกจ่ายขั้นต่ำแล้ว เราต้องรีบทยอยโปะหนี้ให้หมดเร็วที่สุด เพราะการปิดหนี้เร็วดีกว่ามัวเสียเวลากับเอาเงินไปจ่ายดอกเบี้ยแสนแพงที่ทำให้เสียเงินมากโดยเปล่าประโยชน์ สุดท้ายแล้วกฎเหล็กสำคัญที่ห้ามลืมในการใช้บัตรเครดิต นั่นคือ ถ้าเราไม่มีเงินสดพอที่จะสำรองจ่าย ห้ามรูดใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด 

การใช้ประโยชน์ของบัตรเครดิตให้คุ้มค่าที่สุดนั้น ต้องเริ่มจากการสร้างวินัยการใช้เงินของตัวเองให้ดีก่อน เพราะบัตรเครดิต หากใช้ไม่เป็น ก็อาจเกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้นั่นเอง แต่เมื่อไรที่เราสามารถปลดหนี้บัตรเครดิตนี้ไปแล้ว เมื่อนั้นอิสรภาพจะกลับมาหาเราใหม่อีกครั้ง และหวังว่าจะไม่ตกไปในวังวนหนี้ที่ไม่มีสิ้นสุดอีกเป็นครั้งที่สอง

ผู้เขียน

ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่