fbpx
Search
Close this search box.

สีชมพูเคยเป็นของเด็กชายและสีฟ้าเคยเป็นของเด็กหญิง

สีฟ้า-ชมพู

มนุษย์เราใช้สีในการบอกความหมายในหลายสิ่งหลายอย่างทั้งอารมณ์ อุปนิสัย ฐานะทางสังคม เพศของชายและหญิงมาตั้งแต่ยุคสมัยก่อน เราจะเห็นได้ว่าในยุคสมัยปัจจุบันยังนิยมใช้สีในการแบ่งเพศของเด็กกันอยู่ โดยพ่อแม่หลายคนนิยมเล่นเกมทายเพศของลูกว่าจะเป็นเพศใด ถ้าได้ ‘สีฟ้า’ เด็กในท้องจะเป็น ‘ผู้ชาย’ ได้ ‘สีชมพู’ เป็น ‘เด็กผู้หญิง’ แต่ในยุคสมัยหนึ่งสีของเด็กชายและเด็กหญิงไม่เป็นเหมือนทุกวันนี้ เอซียู เพย์ จะพาเพื่อน ๆ ไปรู้เรื่องราวสีของเด็กชายและเด็กหญิงเองค่ะ

ยุคก่อนที่จะใช้สีกำหนดเพศ

ค่านิยมของสีที่บอกถึงเพศของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าคนผิวขาวหรือชาวยุโรปนั้นเอง แรกเริ่มเดิมทียังไม่ได้มีการกำหนดการใช้สีกับเพศของเด็ก ๆ โดยเด็ก ๆ ที่เพิ่งเกิดมานั้นจะถูกสวมใส่เสื้อผ้าที่เป็นสีขาวที่เหมือนกับสีของผ้าอ้อม จนกระทั่งเด็ก ๆ อายุได้ 6-7 ปี จะเริ่มมีการสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีสันให้แต่ยังไม่มีการแบ่งว่าเพศนี้ต้องใส่สีอะไร

ปลายของศตวรรษที่ 19 การกำหนดสีกับเพศเกิดขึ้น

ในช่วงนี้เริ่มมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องของสีและเพศเข้ามา เพราะสีแดงสะท้อนถึงความกล้าหาญและแข็งแกร่ง แต่ได้มีการเพิ่มสีขาวเข้าไปผสมด้วยเพื่อลดความรุนแรงของเฉดสี และสีฟ้ามีความหมายถึงอ่อนโยนและสดใสเหมือนสีของท้องฟ้า จึงมีความเชื่อที่ว่าหากอยากให้ลูกชายเติบโตมาเป็นชายก็จงให้ลูกสวมใส่เสื้อผ้าสีชมพู และหากอยากให้ลูกสาวเติบโตมาเป็นสาวก็จงให้ลูกสวมใส่เสื้อผ้าสีฟ้า ในอีกความหมายหนึ่งคือสีชมพูเหมาะกับเด็กที่มีผมและตาสีน้ำตาล สีฟ้าเหมาะกับเด็กที่มีผมสีทองและตาสีฟ้า

ปี 1918 ในวารสารฉบับหนึ่งของ The Infants’ Department มีบทความที่มีชื่อว่า “สีชมพูหรือสีฟ้า” ในบทความนั้นเขียนไว้ว่าสีชมพูเหมาะสมกับผู้ชายมากกว่าเพราะทั้งแข็งแกร่งและเด็ดเดี่ยวมากกว่า ส่วนสีฟ้านั้นอ่อนโยน จึงควรเป็นสีของเด็กผู้หญิง บทความนี้มีอิทธิพลอย่างมากจึงทำให้ผู้ชายสวมชุดสีชมพูผู้หญิงสวมชุดสีฟ้าในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงเวลานั้น 

สตรีหมายเลขหนึ่งและสีชมพู

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1953 ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ภายในงานรับตำแหน่ง มามี ไอเซนฮาวร์ ซึ่งเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งในขณะนั้น ได้สวมชุดสีชมพูออกงาน เธอยังกล่าวอีกว่า เธอดูดีในชุดสีชมพูเพราะมันทำให้ดวงตาสีฟ้าของเธอดูสวยขึ้น นอกจากนี้เธอยังชอบสีชมพูเอามาก ๆ จนเกิดการตั้งทำเนียบสีชมพูในการต้อนรับนักข่าวอีกด้วย ประชาชนให้ความสนใจในตัวเธอมากจนเกิดการแบ่งสีเพศของเด็กหญิงและเด็กชายอีกครั้ง ในยุคนี้เองที่สีชมพูเป็นของเด็กหญิงและสีฟ้าเป็นของเด็กชาย นอกจากเรื่องของสีแล้วยังมีการแบ่งแยกของเล่นเด็กออกตามเพศอีกด้วย

ศตวรรษที่ 20 จุดเปลี่ยน

ในช่วงปี 1960-1970 เป็นยุคที่มีการเรียกร้องถึงสิทธิความเท่าเทียมทางเพศกันเป็นวงกว้าง โดยมีชื่อเรียกผู้ที่เรียกร้องว่า “เฟมินิสต์” โดยผู้คนจะนิยมสวมใส่เสื้อผ้าให้เด็ก ๆ หลากหลายสีสันเพื่อแสดงออกถึงความหลากหลายและไม่ระบุเพศ จึงทำให้กระแส Unisex ได้รับความนิยมและกระแสเพศและสีจางลง

การกลับมาอีกครั้ง

กระแสของสีที่ใช้กำหนดเพศกลับมาอีกครั้งในปี 1980 เมื่อทางการแพทย์ก้าวหน้าจนสามารถระบุเพศของเด็กในครรภ์ได้ จึงทำให้พ่อแม่กลับมาซื้อเสื้อผ้าและของใช้ต่าง ๆ เป็นสีฟ้าและสีชมพู แบรนด์ต่างๆจึงใช้โอกาสนี้ในการโฆษณาเพื่อขายสินค้า 

เรื่องของสีชมพูและสีฟ้าในการกำหนดเพศเป็นค่านิยมที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นเอง แท้จริงแล้วไม่มีสีไหนในโลกนี้ที่เป็นตัวกำหนดหรือจำกัดเพศ เสื้อผ้าเองก็เหมือนกันมันไม่มีเพศเอซียู เพย์ ขอสนับสนุนให้เพื่อน ๆ มั่นใจและอย่ากังวลที่จะสวมใส่เสื้อผ้าที่เพื่อน ๆ ชอบ และสุดท้ายนี้ให้เพื่อน ๆ ตกหลุมรักคนในกระจกเสมอ ขอให้เพื่อน ๆ ใช้ชีวิตเพื่อความสุขของตัวเองนะ 

ผู้เขียน

ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่