fbpx
Search
Close this search box.

‘หยก’ เครื่องประดับล้ำค่าแฝงความเชื่อของชาวจีน

เมื่อพูดถึงอัญมณีที่มีบทบาทคู่กับประวัติศาสตร์จีนมาอย่างยาวนาน ทั้งให้คุณค่าทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ผ่านความงดงามและคงทนทั้งในรูปแบบของเครื่องประดับและของตกแต่ง สิ่งแรกที่นึกถึงและเห็นในซีรีส์จีนย้อนยุคหลาย ๆ เรื่อง ก็คงจะเป็นอัญมณีที่ชื่อว่า “หยก” อย่างแน่นอน ซึ่งคราวนี้เอซียูเพย์ จะเจาะลึกถึง ประวัติศาสตร์อัญมณีล้ำค่าแห่งเมืองจีน ว่ามีที่มาและความเชื่ออย่างไรบ้าง

“หยก” หรือ “ยู่” ในภาษาจีนกลาง หรือ เง็ก ในภาษาจีนแต้จิ๋ว อัญมณีนี้มีต้นกำเนิดตั้งแต่ยุคนีโอไลธิกเมื่อประมาณ 5000 ปีก่อนคริสตกาล ในช่วงเวลานี้คนเริ่มค้นพบและชื่นชอบคุณภาพที่ไม่เหมือนใครของหยก ในรูปแบบธรรมชาติ หยกจะเป็นลักษณะหินแข็งและหนา สามารถขัดให้ขึ้นเงาได้จนออกมาสวยงาม สีของหยกนั้นมีตั้งแต่สีขาวอ่อนถึงสีเขียวเข้ม และมักมีลวดลายที่ซับซ้อนและโปร่งแสง

ในความเชื่อของชาวจีนโบราณ หยก คือ อัญมณีที่ยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณธรรม 5 ประการ คือ ใจบุญ สมถะ กล้าหาญ ยุติธรรม และมีสติปัญญา หยก เป็นอัญมณีที่มีความผูกพันกับชาวจีนใช้ตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิตเลยก็ว่าได้ เพราะด้วยเชื่อว่าหยกเป็นอัญมณีศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อมต่อสวรรค์และโลกเข้าด้วยกัน นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง โชคดี แก่ผู้ที่ครอบครอง และยังทำให้ผู้ที่สวมใส่มีอายุยืนยาวอีกด้วย 

ชาวจีนในสมัยก่อนไม่ว่าจะเป็นชนชั้นไหน จึงนิยมใส่หยกเป็นเครื่องประดับ และเป็นเครื่องใช้ต่าง อย่างเช่น พระจักรพรรดิจีนนิยมใช้หยกเป็นตราพระราชลัญจกร พระธำมรงค์ พระคทา หรือพระที่นั่ง นอกจากนี้ชาวจีนทั่วไปมักจะให้ลูกหลานพกหยกติดตัวไว้เสมอ โดยเด็กหญิงจะสวมกำไลหยก ส่วนเด็กชายก็จะพกเครื่องใช้ที่ทำด้วยหยกหรือจี้พระหยก หรือแม้แต่เมื่อเสียชีวิตหยกก็จะถูกฝังลงไปพร้อมกับศพ

 เหตุผลที่ฝังหยกไปพร้อมกับศพ ก็เพราะว่าชาวจีนเชื่อว่าหยกสามารถรักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อยได้ ซึ่งหลักฐานยืนยันความเชื่อนี้มาจาก การขุดพบฉลองพระองค์หยกของพระจักรพรรดิในราชวงศ์ฮั่นตะวันตกเมื่อ 2,000 ปีก่อน ในส่วนประเพณีทำศพนั้น ชาวจีนมักจะนำหยกที่แกะสลักเป็นรูปกลมแบนมีรูตรงกลางซึ่งแทนสัญลักษณ์ของ สวรรค์ที่เรียกว่า “ปิ” (Pi) มาวางไว้ด้านหลังศพ ส่วนบนท้องศพจะวางหยกรูปสี่เหลี่ยมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโลก เรียกว่า “จุง” (Tsung) เพื่อให้สวรรค์หนุนหลัง

นอกจากนี้ชาวจีนยังเชื่อด้วยว่า หยก สามารถใช้เป็นลางบอกเหตุให้กับผู้สวมใส่ได้ โดยใช้จะวิธีสังเกตจากสีของหยก ถ้ามีสีสดใสแสดงว่ากำลังจะมีโชค แต่ถ้าหยกมีสีหมองคล้ำหรือเกิดรอยแตกร้าว แสดงว่าอาจจะมีเรื่องไม่ดี เคราะห์ร้ายมาเยือน

หยกยังปรากฏในงานประติมากรรมต่าง ๆ เช่น ฉากกั้นหยก แผ่นจารึก และงานแกะสลักตกแต่ง สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ภายในบริเวณราชวัง วัด หรือคอลเลคชั่นส่วนตัวของเหล่าชนชั้นสูงในสมัยราชวงศ์หมิง ซึ่งการแกะสลักเป็นงานที่ค่อนข้างซับซ้อนและละเอียดอ่อนมาก ต้องอาศัยพึ่งพาช่างยอดฝีมือ ที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ในการรังสรรค์ศิลปะความงามของหยกออกมาในชิ้นงานนั้น ๆ

ในปัจจุบันหยกจีนยังคงได้รับความชื่นชอบและนับถือจากทั่วโลก ศิลปะหยก ประดิษฐ์เครื่องประดับ และวัตถุตกแต่งยังเป็นที่ต้องการของนักสะสมและผู้เชี่ยวชาญ หยกยังแสดงถึงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีนที่ยาวนานและความงดงามและความหมายทางจิตวิญญาณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โชคลาง ที่ดึงดูดผู้ที่ชื่นชอบมาตลอดหลายศตวรรษ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่