fbpx
Search
Close this search box.

อะไรทำให้เงินมีมูลค่า ?

ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินเป็นสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการใช้ชีวิต เราทุกคนต่างทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงิน มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า เงินที่เราใช้กัน มีมูลค่าได้อย่างไร หรืออะไรที่ทำให้เลขในหน้าบัญชีมีค่า ถ้าอยากรู้แล้ว เดี๋ยว ACU PAY จะมาสรุปให้ฟัง

จุดเริ่มต้นของระบบการเงิน

ในยุคโบราณนานมา มนุษย์ต้องการหาตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งของที่ทุกคน หรืออย่างน้อยคนที่เราทำการค้าขายด้วยยอมรับว่ามีมูลค่าขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนสินค้า 

ซึ่งตัวกลางซื้อขายในยุคแรกเป็นเปลือกหอย เครื่องประดับ หนังสัตว์ จนเปลี่ยนมาเป็นโลหะอย่าง ทองคำ เงิน ทองแดง หรือหลอมโลหะนั้นออกมาเป็นเหรียญ และด้วยความที่โลหะหายาก และมีราคา ทำให้เหรียญนั้นมีค่าจากปริมาณเนื้อโลหะที่ใช้สร้างเหรียญ 

ยุคแห่งเงินกระดาษและมาตรฐานทองคำ

หลังจากที่ใช้เหรียญในการแลกเปลี่ยนมานาน ก็ค้นพบว่าเงินโลหะมีน้ำหนักมาก พกยาก จึงได้มีการนำทรัพย์สินมีค่า โลหะ ทองคำ มาฝากไว้กับบุคคลหรือห้างร้านต่าง ๆ ที่ทุกคนให้ความเชื่อถือ 

โดยบุคคลนั้นจะออก “ตั๋วรับฝาก” หรือ “ตั๋วแลกเงิน” ให้กับผู้ฝาก พร้อมรับประกันว่าผู้ที่ถือตั๋วนี้จะสามารถนำตั๋วมาแลกคืนเป็นเงินหรือของมีค่าที่ฝากไว้ได้เสมอ เพราะเหตุนี้เอง คนในยุคนั้นเลยใช้ตั๋วเงิน แทนเงินโลหะในการซื้อขายแลก ทั้งยังสะดวกพกง่าย น้ำหนักเบา และกำเนิดเป็นยุคเงินกระดาษ

ต่อมาได้มีการพัฒนาเป็น “ระบบมาตรฐานทองคำ” หรือ Gold Standard ระบบการเงินที่รัฐบาลทำการ “ตรึง” มูลค่าของเงินที่พิมพ์ออกมาไว้กับทองคำในอัตราตายตัว และรับประกันว่าใครก็ตามที่ถือธนบัตรและเหรียญที่รัฐบาลนั้นสร้างขึ้นสามารถนำธนบัตรและเหรียญมาแลกเป็นทองคำจากคลังของรัฐบาลได้ตามมูลค่าที่กำหนดไว้ 

หรือพูดอีกอย่างก็คือเงินกระดาษในตอนนั้นทำหน้าที่เป็น “ใบแทนทองคำ” ซึ่งสามารถนำไปแลกเป็นทองคำได้ตามมูลค่าที่กำหนดไว้ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถพิมพ์เงินขึ้นตามอำเภอใจเพราะต้องมีทองคำมาค้ำไว้เสมอ

เบรตตัน วูดส์ (Bretton Woods) ระบบมาตรฐานทองคำสมัยใหม่

ในปี 1944 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของระบบการเงินโลก ผู้แทนจาก 44 ประเทศ ได้ให้กำเนิดข้อตกลง Bretton Woods agreement หรือ “ระบบ เบรตตัน วูดส์” ที่เรียกได้ว่าเป็นระบบมาตรฐานทองคำสมัยใหม่ เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

โดยภายใต้ข้อตกลงนี้ สหรัฐอเมริกา ที่มีทองคำสำรองในคลังเยอะสุดในเวลานั้น รับหน้าที่เป็นผู้ตรึงมูลค่าของเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำ พร้อมรับประกันว่าใครก็ตามที่ถือดอลลาร์สามารถนำมาแลกเป็นทองคำจากคลังของรัฐบาลสหรัฐในอัตรา 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อทองคำ 1 ออนซ์ได้

ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็จะทำการเก็บเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐไว้ในคลังเป็นเหมือนสินทรัพย์สำรองเพื่อ “ตรึง” ค่าเงินของตัวเองไว้กับสกุลดอลลาร์ ที่ทำหน้าที่เหมือนทองคำต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งบางคนเรียกระบบนี้ว่า “มาตรฐานทองคำเทียม” (pseudo-gold standard) หรือการที่ทองคำในคลังของสหรัฐ ทำให้เงินดอลลาร์มีค่า ส่วนเงินดอลลาร์ (ที่ทำหน้าที่เหมือนกับทองคำ) ก็ทำให้เงินสกุลอื่น ๆ มีค่า

ข้อตกลง เบรตตัน วูดส์ ยังได้สร้างบทบาทใหม่ให้กับเงินดอลลาร์ในฐานะมาตรฐานใหม่สำหรับการค้าขายระหว่างประเทศ รวมถึงยังได้ให้กำเนิด 2 องค์กรระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการค้าและการเงินระหว่างประเทศอย่าง IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก 

จุดสิ้นสุดระบบ เบรตตัน วูดส์ และมาตรฐานทองคำ

เป็นเวลากว่าหลายสิบปีที่ระบบ เบรตตัน วูดส์ ช่วยส่งเสริมการค้าและการเงินระหว่างประเทศและทำให้ค่าเงินต่าง ๆ มีเสถียรภาพ ในช่วงสงครามเย็น สหรัฐและประเทศต่าง ๆ มีการใช้จ่ายเงินมหาศาลไปกับด้านความมั่นคง และการแข่งขันกับสหภาพโซเวียต จนในช่วงสิ้นสุดทศวรรษ 1960 ก็เริ่มชัดเจนว่าสหรัฐไม่มีทองคำเพียงพอที่จะรองรับเงินทุกดอลลาร์ที่พิมพ์ออกมาตามข้อตกลง เบรตตัน วูดส์ อีกต่อไป 

และจุดจบของระบบ เบรตตัน วูดส์ ก็เริ่มขึ้นในปี 1971 เมื่อประธานาธิบดีนิกสันได้ออกมาประกาศการปรับอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์/ทองคำ จากเดิมที่ 35 ดอลลาร์ต่อออนซ์ไปเป็นที่ 38 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

รวมถึงยกเลิกการรับประกันแลกดอลลาร์เป็นทองคำจากคลังของรัฐบาล จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “Nixon shock” ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินระหว่างประเทศอย่างมาก จนทำให้หลายประเทศค่อย ๆ ยกเลิกการตรึงมูลค่าสกุลเงินไป และทำให้ระบบ เบรตตัน วูดส์ ล่มสลาย ในที่สุด

แล้วแบบนี้อะไรที่ยังทำให้เงินตราในสกุลต่างๆ ยังคงมีมูลค่าแบบในปัจจุบัน?

ยุคแห่งการเงินเฟียต (Fiat) ที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดให้ “มันจะเป็นแบบนั้น”

ต่อมาในช่วงปี 1980 ได้ถือกำเนิดมาตรฐานที่ทำให้เงินมีมูลค่าใหม่อีกครั้ง นั่นคือระบบที่เรียกว่า “เฟียต” (Fiat) หรือ “Fiat Money” ที่มาจากภาษาละตินว่า “มันจะเป็นแบบนั้น” (it shall be) หมายถึง เงินที่มีค่าเพราะรัฐบาลกำหนดให้มันเป็นแบบนั้น 

ในระบบเฟียต สิ่งที่มอบมูลค่าให้กับธนบัตรในกระเป๋าและตัวเลขบัญชีในธนาคารของเราไม่ใช่ทองคำหรือสินทรัพย์ที่จับต้องได้อีกต่อไป แต่เป็นการที่รัฐบาลรับประกันว่าเงินนี้สามารถชำระหนี้และแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าต่าง ๆ ได้ตามกฎหมาย โดยคุณค่าของเงินจะขึ้นอยู่กับนโยบาลการคลังที่รับผิดชอบและกฎหมายต่าง ๆ ในประเทศนั้น ๆ เป็นไปตามกลไกตลาด อุปสงค์-อุปทาน นโยบาย ความน่าเชื่อถือ และปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศที่รัฐบาลผู้ออกสกุลเงินถือครอง 

ซึ่งการที่สามารถพิมพ์เงินออกมาได้มากเท่าที่ต้องการ ทำให้รัฐบาลและธนาคารมีเครื่องมือและอำนาจค่อนข้างเด็ดขาดในการควบคุมเงินในระบบและกำกับดูแลระบบการเงินของประเทศ อย่างไรก็ตาม เงินเฟียตก็มีข้อเสีย เช่น ไม่สามารถเก็บมูลค่าไว้ได้ในระยะยาว เนื่องจากอาจเกิดภาวะเงินเฟ้อได้

Fiat อาจไม่ใช่ระบบการเงินสุดท้าย?

หลังจากได้เห็นระบบการเงินของโลกผ่านการเปลี่ยนแปลง มาหลายร้อยหลายพันปี ไม่มีใครตอบได้ว่าระบบเงินเฟียต Fiat จะเป็นระบบการเงินสุดท้ายที่ดีที่สุดของมนุษยชาติหรือไม่ 

เพราะทุกวันนี้การเติบโตของสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) มีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะบิทคอยน์ และ Coinbase Wallet ที่ในหลายประเทศเริ่มเปิดให้ใช้แลกเปลี่ยนแบบถูกกฎหมายบางส่วนบ้างแล้ว ไม่แน่ว่าในอนาคตสกุลเงินดิจิทัลพวกนี้ อาจมาแทนที่ระบบเงินเฟียตก็เป็นไปได้

ถึงอย่างนั้น สิ่งเดียวที่ยังเหมือนเดิมคือ ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ระบบเงินก็ยังคงอยู่ แต่อาจมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่