fbpx
Search
Close this search box.

อัลไซเมอร์ โรคที่ไม่ได้เป็นเฉพาะคนสูงวัยอีกต่อไป!

อัลไซเมอร์ ภัยเงียบที่อาจไม่ใช่แค่โรคของคนสูงวัยอีกต่อไป เพราะเมื่อไม่นานมานี้ มีกระแสข่าวคนจีนอายุเพียง 19 ปี มีอาการป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์และเริ่มมีความผิดปกติเกี่ยวกับความทรงจำตั้งแต่อายุ 17 ที่สำคัญคือยังหาสาเหตุไม่ได้ด้วย วันนี้ เอซียู เพย์ เลยจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ และวิธีดูแลสุขภาพเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์กันค่ะ

สมองเสื่อมกับอัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร ?

อาการสมองเสื่อมเกิดขึ้นได้เมื่ออายุมากขึ้น มีความหลงลืมและเสื่อมถอยของสมองไปตามวัย ทำให้ความคิดช้าลงและความแม่นยำของการตัดสินใจน้อยลงไปด้วย แม้จะหลงลืมไปบ้าง แต่หากมีคนบอกใบ้เล็กน้อย ก็จะนึกขึ้นได้ โดยเรื่องที่ลืมก็เป็นเรื่องง่ายๆแต่สุดท้ายก็จะนึกออกได้

ในขณะที่อัลไซเมอร์จะมีอาการหลงลืมเหมือนกัน แต่เป็นการลืมแล้วลืมเลย นึกไม่ออก ทั้งในเรื่องสำคัญและเรื่องพื้นฐานในการใช้ชีวิต โดยการเสื่อมของสมองที่เป็นอัลไซเมอร์ จะค่อยเป็นค่อยไปและเป็นไป แต่เป็นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ยากลำบากมาก

อายุจัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น นอกจากนี้ โรคอัลไซเมอร์ยังสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้แต่พบเป็นส่วนน้อย คือประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการให้เห็นตั้งแต่อายุ 50-60 ปี

สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์

อัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติเพราะผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์ทุกคน แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ ชนิดไม่ละลายน้ำซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ

การสะสมของเบต้า-อะไมลอยด์ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อยๆ ลดลง เริ่มจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ที่มีบทบาทสำคัญในการจดจำข้อมูลใหม่ๆ เมื่อเซลล์สมองส่วนนี้ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำโดยเฉพาะความจำระยะสั้น จากนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแพร่กระจายไปสู่สมองส่วนอื่นๆ และส่งผลต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษา และพฤติกรรม

อาการของโรคอัลไซเมอร์

อาการของโรคอัลไซเมอร์ มีอยู่หลากหลายอาการ เนื่องจากอัลไซเมอร์มีทั้งหมด 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะแรก มีอาการหลงลืมบ่อยครั้งจนรู้สึกได้ จะถามคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ และพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ หลงทิศหลงทางและทำให้เกิดความเครียด หงุดหงิด ร่วมกับอาการซึมเศร้าได้
  • ระยะกลาง มีอาการหลงลืมรุนแรงมากกว่าเดิม เริ่มหลงลืมว่าจะทำอะไร จะไปไหน เดินออกจากบ้านแบบไร้จุดหมาย ส่งผลให้เกิดความเครียดสูงและพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด ถ้าเคยสุภาพ ใจเย็น ก็จะใจร้อนขึ้นมากทำให้มีปัญหากับครอบครัวและคนรอบข้างได้
  • ระยะสุดท้าย ถือว่าเป็นระยะรุนแรงที่สุด การตอบสนองกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวจะน้อยลงและสุขภาพทรุดโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด มีปัญหาเรื่องการกินและการเป็นอยู่ทำให้กระทบกับชีวิตประจำวันและคนรอบตัวอย่างมาก ร้ายแรงที่สุดคือการที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง จนเป็นเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ และหากร่างกายอ่อนแอมาก ๆ อาจทำให้เกิดภาวะการติดเชื้อที่ทำให้เสียชีวิตได้นั่นเอง

6 วิธีดูแลสุขภาพเพื่อหลีกเลี่ยงโรคอัลไซเมอร์

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ การป้องกันโรคจึงเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคดังนี้

  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อรับสารอาหารที่ร่างกายต้องการได้ครบ
  • หลีกเลี่ยงของทอด ของมัน อาหารสำเร็จรูปที่มีไขมันอิ่มตัว และคอเลสเตอรอลสูง
  • ออกกำลังกาย และรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการอยู่ในพื้นที่ที่มีควันเยอะ
  • ระวังการเกิดอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนสมอง
  • หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี และติดตามอาการโรคประจำตัวอยู่เสมอ

เป็นยังไงบ้างคะกับโรคอัลไซเมอร์ โรคที่ตอนนี้เรียกได้ว่าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ใช่เฉพาะคนสูงวัยอีกต่อไป เพื่อนๆ ต้องหมั่นตรวจสอบสุขภาพและดูแลตัวเองอยู่เสมอจะได้มีร่างกายที่แข็งแรงกันนะคะ 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่