fbpx
Search
Close this search box.

‘เทศกาลเช็งเม้ง’ คืออะไร ทำไมต้องไหว้บรรพบุรุษในหน้าร้อน

เทศกาลเช็งเม้ง
เทศกาลเช็งเม้ง (清明节) หนึ่งในเทศกาลประเพณีที่สำคัญที่สุดในประเทศจีน และชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2567 แต่ส่วนใหญ่เทศกาลเช็งเม้ง จะอยู่ในช่วงวันที่ 4-5 เมษายน ของทุกปี โดยจะเป็นเทศกาลที่ชาวจีนมาแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษกัน แล้วเคยสงสัยไหมว่า ทำไมในช่วงอากาศร้อนสุดโหดนี้ถึงมีการ “ไหว้เช็งเม้ง” ในช่วงนี้ ทำไมไม่ไหว้ในช่วงอากาศเย็น ๆ แทน ? ซึ่งเหตุผลจะเป็นเพราะอะไร เดี๋ยว เอซียู เพย์ จะมาเล่าให้ฟัง

เนื้อหา

วัน “เช็งเม้ง” คือวันอะไร?

“เช็งเม้ง” เป็นเทศกาลที่ชาวจีนไหว้บรรพบุรุษ ณ ที่ฝังศพหรือฮวงซุ้ยในช่วงเดือน 3 ของจีน ซึ่งคำว่า “เช็ง” แปลว่า สะอาด บริสุทธิ์ ส่วนคำว่า “เม้ง” แปลว่า แสงสว่าง

คำว่า “เช็งเม้ง” เป็นสำเนียงมาจากจีนแต้จิ๋ว โดยสำเนียงภาษาจีนกลางจะออกเสียงว่า “ชิงหมิง” (Qingming) ซึ่งในสมัยก่อนคำว่า “เช็งเม้ง” ไม่ได้หมายถึงวันหรือเทศกาลใด เทศกาลหนึ่ง แต่ “เช็งเม้ง” หมายถึง ช่วงเวลาที่กำลังจะเปลี่ยนจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิของจีน ถือเป็นช่วงเวลาที่อากาศดีสดใส 

ทำไมถึงมีการเฉลิมฉลองวันเช็งเม้ง

จริง ๆ แล้วเช็งเม้งแบ่งออกมาจาก 2 เทศกาล นั่นก็คือ เทศกาลกินเย็น (หานสือเจี๋ย) กับ เทศกาลเฉลิมฉลองการเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ (ซ่างสื้อเจี๋ย) 

สำหรับเทศกาลกินเย็น เป็นเทศกาลทานอาหารกันแบบเย็น ๆ ไม่ใช้ไฟในการทำ เพราะในสมัยก่อน ไฟ ถือเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งการให้ความอบอุ่น หุงหาอาหาร โดยทุกหมู่บ้านจะมีการจุดไฟไว้กลางชุมชน ชาวบ้านคนไหนอยากใช้ไฟก็ให้มาต่อไฟจากกลางชุมชน แต่ชาวจีนมีความเชื่อกันว่า ของเก่าเป็นสิ่งไม่ดี การจุดไฟทิ้งไว้ตลอดเวลาย่อมไม่ดี จึงมีการดับไฟและจุดไฟขึ้นมาใหม่ทุก 2-3 ครั้งต่อปี 

แต่การจะดับไฟและจุดไฟที่สำคัญต่อชุมชนขึ้นใหม่ ต้องมีฤกษ์ยามที่ดี ซึ่งในช่วงเวลาเช็งเม้งนี้ เป็นเวลาที่เหมาะเพราะมีอากาศดี ไม่หนาวหรือร้อนเกินไป เลยมีเทศกาลกินเย็นขึ้นนั่นเอง

ส่วน เทศกาลเฉลิมฉลองการเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เชื่อกันว่า วิญญาณจะจำศีลอยู่ในช่วงฤดูหนาว เราจึงต้องมีการปลุกวิญญาณขึ้นมา เพื่อบอกให้ขึ้นมารับเครื่องเซ่นไหว้ที่ลูกหลานส่งมาให้นั่นเอง 

แม้ว่าตอนแรกจะแบ่งเป็น 2 เทศกาลแต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป 2 เทศกาลนี้จึงค่อย ๆ รวมกันกลายเป็นเทศกาลใหม่ที่ชื่อว่า “เช็งเม้ง” โดยเริ่มอย่างเป็นทางการในสมัยราชวงศ์ถัง และแพร่หลายสู่คนทั่วไปในสมัยราชวงศ์ซ่ง จนกลายมาเป็นเช็งเม้งที่ลูกหลานชาวจีนจะมากราบไหว้บรรพบุรุษกันในปัจจุบันนั่นเอง

ทำไมถึงไหว้ “เช็งเม้ง” ในหน้าร้อน

เนื่องจากเทศกาลเช็งเม้ง อยู่ในช่วงที่มีบรรยากาศแจ่มใส อากาศสดชื่นใบไม้ผลิดอก ออกผลกัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของอากาศอบอุ่นในฤดูใบไม้ผลิและเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานในฟาร์ม ชาวจีนในสมัยนั้นจึงถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการไปไหว้บรรพบุรุษ ณ ที่ฝังศพ แทนการไหว้ป้ายวิญญาณในบ้าน

เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อไหว้เสร็จก็จะต้องออกเที่ยวชมธรรมชาติ ที่เรียกว่า “เที่ยวสันต์” ที่ออกเที่ยวกันตั้งแต่ช่วงก่อน-หลังเช็งเม้ง 10 วัน เป็นกิจกรรมที่มีมาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. 1503-1822) และที่นิยมของประชาชนทั่วไป 

นับจากนั้นเป็นต้นมา เมื่อชาวจีนได้มีการอพยพออกสู่โพ้นทะเล ไปตั้งรกรากใหม่ ที่มีสภาพภูมิอากาศแตกต่างไปจากเมืองจีน อย่างเช่น ประเทศไทย ที่มีอากาศร้อนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การ “ไหว้เช็งเม้ง” ในประเทศนี้ ต้องอดทนกับสภาพแดดที่ร้อนตับแตกด้วยเช่นกัน 

ทำไมถึงต้องไหว้ “เช็งเม้ง”

อย่างที่กล่าวไป “วันเช็งเม้ง” คือการรำลึกถึงคุณความดีที่บรรพบุรุษของเราได้กระทำไว้ ได้ดูแลเรา ลำบากเพื่อให้เรามีความเป็นอยู่ที่ดี เป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต “เราสบาย เพราะพ่อแม่ บรรพบุรุษลำบาก” ซึ่งการไหว้บรรพบุรุษยังเป็นการพบปะสังสรรค์กันพร้อมหน้าของญาติพี่น้อง สร้างความสามัคคี นอกจากนี้ยังเป็นการเตือนสติให้กับตนเอง ถึงความตายที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกคน และเป็นธรรมดาของมนุษย์ ที่มีการเกิดและสูญเสีย

สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อกวาดสุสาน

  • อย่ากวาดสุสานหลังเวลา 15.00 น. เพราะเชื่อว่าไม่เป็นมงคล
  • ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่มีสีสันสดใสหรือเสื้อผ้าไม่เรียบร้อย
  • ไม่กินข้าว หัวเราะเสียงดัง หรือพูดกันไม่ดี เมื่อประกอบพิธีกรรม เพราะถือเป็นการไม่เคารพกัน
  • อย่าไปเยี่ยมเพื่อนและญาติในวันสุสานเพราะเป็นวันพิเศษสำหรับการรำลึกถึงผู้จากไป
  • ไม่กวาดหรือนั่งเล่นบนหลุมศพของผู้อื่น เพราะจะนำมาซึ่งโชคร้าย

และทั้งหมดนี้คือประวัติ ความเป็นมา และความสำคัญของ “เทศกาลเช็งเม้ง” วันไหว้บรรพบุรุษของชาวจีน และชาวไทยเชื้อสายจีน ทำให้เรารู้ถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมวันไหว้บรรพบุรุษนี้ ต้องไหว้ในช่วงหน้าร้อนนั่นเอง

อ้างอิงจาก

ผู้เขียน

ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่