fbpx
Search
Close this search box.

‘แพนด้า’ นักการทูตเชื่อมสัมพันธ์ระดับชาติ

เชื่อว่าเมื่อพูดถึงแพนด้า คนไทยเกินครึ่งจะต้องนึกถึง ภาพแพนด้า ‘ช่วงช่วง’ ‘หลินฮุ่ย’ และ ‘หลินปิง’ ประกอบกับเพลง “จั๊ด จัด จา ดา ดา ดา จั๊ด จัด” ที่ชอบเปิดในรายการข่าวทุก ๆ เช้าเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วแน่นอน เรียกได้ว่าช่วงนั้นแพนด้าในไทยฟีเวอร์มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกวดตั้งชื่อ ‘หลินปิง’ คลิปวีดิโอแพนด้าตัวน้อย นอนกลิ้งไปกลิ้งมาทุกเช้า หรือแม้แต่มีช่องตามติดชีวิตแพนด้าแบบ 24 ชั่วโมง วันนี้เอซียู เพย์ จะพามาสำรวจจุดเริ่มต้นของแพนด้า ว่าการส่งตัวแพนด้ามาประเทศต่าง ๆ โดยจีน ยังมีความหมายโดยนัยที่มากกว่าแค่ความน่ารักของสัตว์ขนปุยขาวดำ 

สำหรับ ประเทศจีน นั้นแพนด้าเปรียบเสมือน ‘สมบัติของชาติ’ เป็นตัวแทนที่สะท้อนถึงความสง่างาม ความเป็นธรรมชาติ ความไม่เป็นพิษเป็นภัย และมีประวัติศาสตร์กับวัฒนธรรมจีนมาตั้งแต่โบราณ เพราะเหตุนี้แพนด้าจึงกลายเป็น ‘สัญลักษณ์ทางการทูต’ ของแผ่นดินจีน 

จุดเริ่มต้นของการทูตแพนด้า

‘การทูตแพนด้า’ หรือ ‘Panda Diplomacy’ นั้นมีการจดบันทึกในประวัติศาสตร์จีนมาตั้งแต่ยุคสมัยราชวงศ์ถังที่จักรพรรดิมอบแพนด้าให้กับญี่ปุ่น ยุคเจียงไคเช็กมอบแพนด้า 1 คู่ให้กับสวนสัตว์ในสหรัฐอเมริกาตอบแทนความช่วยเหลือในสงครามกับญี่ปุ่น ก่อนเว้นระยะเวลาไปหลายปี เนื่องจากพบว่า ประชากรแพนด้ายักษ์ในประเทศจีนลดลงถึงขั้นวิกฤต ทำให้จีนหลีกเลี่ยงการส่งทูตแพนด้า 

จนในปี 2527 เป็นต้นมา จีนเปลี่ยนแนวทางเป็นการส่งแพนด้ายักษ์ไปอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในลักษณะสัญญาเช่าเพื่อการอนุรักษ์แทน (Leased) โดยเดินหน้าส่งแพนด้ากว่า 10 ตัวไปสู่สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน และเม็กซิโกในทศวรรษต่อมา แพนด้าจึงกลายเป็น Soft Power ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ต่อพันธมิตรชาตินั้น ๆ

ย้อนเส้นทางการทูตแพนด้าในเมืองไทย

ย้อนกลับไปในปี 2544 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ได้เริ่มต้นเจรจาขอแพนด้าจากจีนมาอยู่ไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศ

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2546 ทางจีนได้ส่งมอบแพนด้ายักษ์ 1 คู่ ชื่อว่า ‘ช่วงช่วง’ กับ ‘หลินฮุ่ย’ มาอยู่บนประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในฐานะทูตสันถวไมตรีไทย-จีน เป็นสัญญาเช่าระยะเวลา 10 ปี (และมีการต่อสัญญาเมื่อครบวาระ) โดยสวนสัตว์เชียงใหม่เป็นผู้ดูแลแพนด้าทั้งสองตัว 

ต่อมาหลินฮุ่ยคลอดลูกแพนด้ายักษ์เพศเมียชื่อ ‘หลินปิง’ ในเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการผสมพันธุ์เทียมครั้งแรกประเทศเขตศูนย์สูตร ในเดือนนอกฤดูผสมพันธุ์ของแพนด้าอีกด้วย และสร้างปรากฏการณ์แพนด้าฟีเวอร์ไปทั่วเมือง

หลังจากนั้นประมาณ 4 ปี ‘หลินปิง’ ได้ถูกส่งกลับจีนไปยังศูนย์วิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้า เมืองเฉิงตู เพื่อไปหาคู่ เนื่องจากข้อกำหนดจากทางการจีนที่ว่า ลูกของแพนด้ายักษ์ที่เกิดระหว่างสัญญา ให้ถือเป็นทรัพย์สินของประเทศจีน ซึ่งหลินปิงคลอดลูกแฝดเมื่อปี 2560

ต่อมาก็เกิดข่าวร้ายสำหรับคนรักแพนด้า เมื่อปี 2562 ‘ช่วงช่วง’ ในวัย 19 ปี ได้จากไปด้วยสาเหตุจากภาวะหัวใจล้มเหลว และเมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ‘หลินฮุ่ย’ ก็ได้จากไปในวัย 21 ปี ด้วยอาการป่วยตามอายุขัยเช่นกัน ถือว่าเป็นการปิดตำนานคู่รักแพนด้านักการทูต ที่อยู่ในประเทศไทยเป็นเวลามากกว่า 20 ปี 

ทั้งนี้งบประมาณการดูแลแพนด้าน้ันได้ใช้เงินจำนวนมาก จากข้อมูลโครงการอนุรักษ์แพนด้าของ CWCA ได้รับเงินสำหรับสัญญาทั้งสองระยะรวมกัน กับงบประมาณที่หน่วยงานต่างๆ เบิกใช้ตั้งแต่ที่แพนด้าเข้ามาอยู่ในไทยถึงปี 64 พบว่าไทยใช้เงินไปอย่างน้อย 360.59 ล้านบาท กับนโยบายการทูตแพนด้า แต่ในขณะเดียวกันการทูตแพนด้าก็ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับสวนสัตว์ได้ไม่น้อย จากข้อมูลสวนสัตว์เชียงใหม่ ระบุว่า นับตั้งแต่ตุลาคม 2546 ถึงเดือนสิงหาคม 2565 ส่วนจัดแสดงแพนด้าต้อนรับผู้เข้าชมอย่างน้อย 7.4 ล้านคน  

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่