fbpx
Search
Close this search box.

ให้โดยเสน่หา เสียภาษีไหม ต้องเสียเท่าไหร่

แฟน หรือพ่อแม่ให้ของขวัญ หรือสิ่งของต้องเสียภาษีไหม รู้หรือไม่ว่าบ้าน ที่ดิน เงินสด รถยนต์ เครื่องประดับ ที่ให้โดยพ่อแม่ หรือคนรัก โดยเสน่หา จะต้องเสียเงินได้ที่เรียกว่า ภาษีการรับให้ ซึ่งรายละเอียดจะเป็นอย่างไร เดี๋ยว ACU PAY จะมาสรุปให้แบบเข้าใจง่ายกัน

ภาษีการรับให้ คืออะไร

ภาษีการรับให้ (Gift Tax) คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เรียกเก็บจากการที่ บุคคลธรรมดาได้รับทรัพย์สินโดยเสน่หา ก่อนผู้ให้เสียชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีการรับมรดก โดยจะเรียกเก็บภาษีที่จะต้องเสียจากทรัพย์สิน ได้แก่ สังหาริมทรัพย์ทุกประเภทที่คำนวณเป็นเงินได้ และอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท 

ทรัพย์สินอะไรบ้างที่ต้องเสียภาษี

  • สังหาริมทรัพย์ทุกประเภทที่คำนวณเป็นเงินได้ เช่น เงินสด รถยนต์ ทองคำ เครื่องประดับ

โดยหน้าที่เสียภาษี คือ ผู้ที่ได้รับทรัพย์สินนั้นไป แบ่งออกเป็น 2 กรณี

    • กรณีที่ 1 ผู้ได้รับเงินได้จากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจาก บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสจะมีการคำนวณการให้โดยเสน่หา ในอัตราภาษี 5% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาท ในแต่ละปีภาษี
    • กรณีที่ 2 ผู้ได้รับเงินจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีจาก บุคคลอื่น ที่ไม่ใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสจะมีการคำนวณการให้โดยเสน่หา ในอัตราภาษี 5% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านบาท ในแต่ละปีภาษี
  • อสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท เช่น บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ที่ดิน

    โดยหน้าที่เสียภาษี คือ บิดาและหรือมารดาผู้โอนกรรมสิทธิ์ให้บุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม โดยกฎหมายถือว่าเป็น “ผู้ขาย” อสังหาริมทรัพย์ จึงมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย และนำส่งเจ้าพนักงานในขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิหรือนิติกรรมตามกฎหมายที่ดิน


    จะมีการคำนวณการให้โดยเสน่หา ในอัตราภาษี 5% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาท ในแต่ละปีภาษี

การยื่นภาษี

การให้ทรัพย์สินที่เข้าข่ายต้องชำระภาษีการรับให้ ต้องเสียภาษีในรูปแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายในวันที่ 31 มี.ค. ของปีถัดไป

เนื่องจากการรับการให้เป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ดังนั้น การต้องยื่นแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 โดยสามารถเสียภาษีในอัตรา 5% เฉพาะมูลค่าสินทรัพย์ที่ได้รับในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท และ 20 ล้านบาท ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด หรือจะเลือกนำไปคำนวณกับเงินได้ทั้งหมดก็ได้ 

แต่ถึงอย่างนั้น ภาษีการให้รับก็มีการ ‘ยกเว้น’ การจัดเก็บภาษี เฉพาะเงินอัดฉีดที่มอบให้นักกีฬา สต๊าฟโค้ช ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ นั่นหมายความว่า ถ้าผู้รับเป็นนักกีฬา สต๊าฟโค้ช และเงินที่ได้รับเป็นเงินอัดฉีดเกิน 10 ล้านบาท จะได้รับยกเว้นภาษีให้เป็นกรณีพิเศษ โดยไม่ต้องนำเงินอัดฉีดส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ผู้เขียน

ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่