fbpx
Search
Close this search box.

5 สัญญาณเตือน ‘Gaslighting’ การถูกปั่นหัวในความสัมพันธ์

“คิดไปเองรึเปล่า ?”

“ก็เพราะเธอไง เรื่องมันถึงเป็นแบบนี้”

“ทำไปเพราะเป็นห่วง”

“เรื่องแค่นี้เอง จะโวยวายทำไม”

ให้ลองนับดูว่าเราเจอประโยคคล้าย ๆ แบบนี้ในความสัมพันธ์ มาแล้วกี่ครั้ง ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อย ๆ แถมทุกครั้งเรายังเป็นคนผิดเสมอ นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ความสัมพันธ์นี้เริ่มไม่เฮลตี้แล้วล่ะ

ครั้งนี้ เอซียู เพย์ จะพามาทำความรู้จัก ‘Gaslighting’ การถูกปั่นหัวหรือหลอกลวงในความสัมพันธ์ ที่หลายคนหรือตัวเราเอง อาจกำลังทำพฤติกรรมเหล่านี้อยู่

ทำความรู้จัก Gaslight

Gaslighting เป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมทางจิตใจ (psychological manipulation) โดยการปลูกฝังหรือชักจูงความคิดคนให้เกิด ‘ความรู้สึกผิด’ จนทำให้เกิดข้อสงสัยในตัวเองว่า “เพราะเราเป็นคนผิดเองใช่ไหม” ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกความสัมพันธ์ทั้งคู่รัก ครอบครัว เจ้านาย-ลูกน้อง หรือเพื่อน 

คำว่า Gaslight ที่แปลว่าตะเกียงนั้น ถูกใช้เพื่อเปรียบเปรยภาวะการถูกชักใยจากคนอื่น โดยจะทำให้เหยื่อรู้สึกสับสนเกี่ยวกับความทรงจำ หรือการรับรู้ของตนเอง ซึ่งคำนี้มีที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง ‘Gaslight’ (1944) ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสามีที่ต้องการฮุบสมบัติของภรรยา โดยการทำให้ภรรยาหลงคิดว่าตัวเองเป็นคนบ้า

ซึ่งเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นการ Gaslighting ในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือฉากที่สามีกำลังแอบหรี่แสงตะเกียง แต่ภรรยาบอกสามีว่าทำไมแสงตะเกียงถึงมืดลง สามีกลับกล่าวหาว่า เธอบ้าคิดไปเอง ทำให้ฝ่ายภรรยาเริ่มคิดว่า ตัวเองเป็นบ้าไปจริงๆ เพราะสามีเอาแต่พูดแบบนี้กับเธอเป็นประจำ ทั้งๆ ที่จริง ๆ แล้วทั้งหมดสามีเป็นคนสร้างสถานการณ์ขึ้นมา ให้ภรรยารู้สึกสับสน จนต้องพึ่งพาสามีไปเรื่อย ๆ

สัญญาณเตือนของ Gaslighting มีอะไรบ้าง

 

  • โกหกหน้าตาย

ทั้งที่เรารู้ว่าเขาโกหก แต่อีกฝ่ายยังคงโกหกแบบหน้าตาย ซึ่งสาเหตุที่ทำไมเขาถึงกล้าทำขนาดนี้ นั่นก็เพราะว่าเมื่อถึงครั้งที่เขาโกหกเราแบบจริงจังต่อไปเรื่อย ๆ เราจะเริ่มสับสนไม่แน่ใจว่าอันไหนที่เป็นความจริงกันแน่ ทำไมเรารู้สึกไม่มีความมั่นใจ หรือมั่นคงในความคิดนั้น

  • รู้สึกว่าทำอะไรก็ผิดตลอดเวลา

ปัญหาทุกอย่างกลายเป็นสิ่งเราที่ต้องรับผิด ต้องเป็นคนขอโทษตลอดเวลา แม้ว่าความจริงแล้วเราจะไม่ได้ทำผิดเลยก็ตาม แต่เราก็ยังผิดอยู่ดี ยิ่งนานวันเข้าเราก็ยิ่งติดกับดัก กลายเป็นว่าเรามักจะชอบหาข้ออ้างให้เขาอีกต่างหาก เพราะเราถูกเสี้ยมมาตลอดว่า เราเป็นฝ่ายผิดอยู่ฝ่ายเดียวเท่านั้น 

  • พูดบิดเบือนความจริง เช่น ‘ไม่เคยพูด’ ถึงเราจะมีหลักฐานก็ตาม

เรารู้และจำได้ว่าอีกฝ่ายเคยพูดอะไรบ้าง แต่เขามักปฏิเสธเสมอว่า ไม่เคยพูด หรือ เคยทำ เรื่องนั้น ซึ่งถ้าเกิดแบบนี้ขึ้นบ่อย ๆ จะทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าความจริงคืออะไร ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อย เราก็จะยอมรับว่าเราผิด และเข้าใจว่าเรื่องที่เขาพูดนั้นถูกเสมอ

  • พูดจาดูถูก ย้ำปมด้อยเรา

ถ้าเรามีปมด้อยในเรื่องอะไรก็ตาม อีกฝ่ายมักจะหยิบปมด้อยมาซ้ำเติมจนเราเสียศูนย์ หรือพูดย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ จนเรารู้สึกไร้ค่า ไร้ตัวตน การพูดบ่อย ๆ นี้เอง จะทำให้เราเชื่อแบบนั้นไปจริง ๆ จนไม่กล้าที่จะตัดสินใจหรือคิดอะไรด้วยตัวเอง และใช้ชีวิตประจำวันได้ยากขึ้นด้วย 

  • รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่เหลือใคร

ยิ่งเราไม่เหลือใคร อีกฝ่ายก็จะคุมเราได้ง่ายขึ้นเท่านั้น โดยพวกเขาจะเริ่มด้วยการใส่ร้ายคนที่เรารัก คนที่หวังดีกับเรา ด้วยการกล่าวหาว่าคนพวกนั้นไม่จริงใจ อิจฉาเรา หรือไม่หวังดีกับเรา มีแต่เขาที่คิดดีกับเราเสมอ ทำให้เราเริ่มตัดขาดกับคนรอบข้าง ไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคม และเริ่มระแวงไม่ไว้ใจใครนอกจากอีกฝ่ายนั่นเอง 

วิธีรับมือกับ Gaslighting ต้องทำอย่างไร

อลิซาเบธ ลอมบาร์โด นักจิตวิทยา อธิบายว่า เป็นเรื่องปกติที่เราจะเผชิญกับอารมณ์หลากหลาย เมื่อเจอการถูก Gaslighting อย่างอารมณ์โกรธ ไม่สบายใจ กังวล โศกเศร้า กลัว และอื่นๆ ซึ่งการรู้สึกถึงอารมณ์เหล่านี้เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ต้องระวังมาก ๆ เลยคือ ‘อย่าปล่อยให้มันควบคุมเรา’

การที่จะหลุดพ้นจากความสัมพันธ์แสนท็อกซิกนี้ คือเราใจเย็นและมีสติ เพื่อที่เราจะได้โฟกัสกับ ‘ความจริง’ ที่เกิดขึ้น และไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังชักจูงให้เราเชื่อ

ยิ่งกว่านั้น เมื่อถูก Gaslighting ให้เลิก ‘ยอม’ เพราะการกลัวที่จะตอบโต้ วิธีสู้ที่ดี คือเราต้องกล้าที่จะตอบด้วยประโยคปฏิเสธไปเลย เช่น 

 

“ฉันไม่เห็นด้วย”

 

“ฉันจะไม่รับผิดชอบในสิ่งที่ฉันไม่ได้ทำหรอกนะ”

 

“นั่นคือความคิดเห็นของคุณเอง”

หรือพูดให้เขารู้ตัวชัดเจนไปเลยว่าสิ่งที่เขาพูดมันก็คือความเห็นของเขา ไม่ใช่ความจริง จากนั้นลองถอยห่างจากคนที่ทำให้เรารู้สึกไม่มีค่า หรือลองเก็บหลักฐานที่เขาเคยพูดเคยทำ เพื่อคลายข้อสงสัยในเรื่องนั้น ๆ กับตัวเอง

ทั้งนี้การรับมือกับ Gaslighting นั้นต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจอย่างมาก หากเป็นไปได้การเลือกเดินออกมาจากความสัมพันธ์แสนจะท็อกซิก ยังดีกว่าการทนอยู่หรือนิ่งเฉยต่อไปแน่นอน หรือถ้าคิดว่ายากเกินกว่าจะรับมือไหวลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ยิ่งกว่านั้นกำลังใจจากเพื่อนและครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญในการกล้าที่จะออกจากตรงนี้เช่นกัน 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่