fbpx
Search
Close this search box.

รู้ก่อน รอดก่อน!!! 7 งูพิษอันตราย ที่พบบ่อยในประเทศไทย

หลายคนอาจจะเคยเจองูกันมาบ้าง แต่รู้หรือเปล่าคะว่างูที่เราเห็นนั้นมีพิษหรืออันตรายแค่ไหน ยิ่งช่วงฝนตก น้ำท่วม หรือคนที่มีไร่มีสวน บอกเลยค่ะว่าสัตว์มีพิษเยอะมาก และสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังเลย นั่นก็คือ เจ้างูตัวร้าย นี่ล่ะค่ะ วันนี้เอซียูเพย์ รวบรวม 7 งูพิษที่อันตราย จะมีลักษณะยังไงบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

เนื้อหา

งูมีพิษ กับ งูไม่มีพิษ แตกต่างกันอย่างไร

ความแตกต่างระหว่าง งูมีพิษ กับ งูไม่มีพิษ นอกจากจะสามารถดูที่ภายนอกได้แล้ว งูทั้ง 2 ชนิดนี้ ยังมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน คือ โดยทั่วไปงูพิษจะสู้เมื่อโดนทำให้ตกใจหรือทำให้โกรธ แต่หากเป็นงูไม่มีพิษมักจะมีความดุร้ายมากเป็นพิเศษในช่วงฤดูการผสมพันธุ์และจะสู้คนมากกว่า

รอยแผลที่เกิดจากการโดนงูกัดไม่ว่าจะเป็นงูมีพิษหรืองูที่ไม่มีพิษจะมีรอยที่แตกต่างกัน หากถูกงูมีพิษกัด จะพบรอยเขี้ยวเป็นจุด 2 จุด ตรงบริเวณที่ถูกกัด พิษของงูจะซึมเข้าไปในผิวหนัง เยื่อเมือกหรือดวงตาของผู้ที่ถูกกัด และพิษจะทำลายระบบต่างๆของร่างกาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ เนื้อเยื่อ เลือดในร่างกาย เส้นประสาทและกล้ามเนื้อ โดยเหยื่อที่ถูกกัดจะมีอาการปวด บวม และมีรอยแดงบริเวณที่ถูกกัด หายใจลำบาก ฯลฯ นอกจากนี้แล้วอาจถึงขั้นหมดสติหรือเสียชีวิตได้

ลักษณะ 7 งูพิษอันตราย

1. งูเห่า (Siamese)

งูเห่า เป็นงูที่ออกหากินตามพื้นดินตอนกลางคืน ชอบอาศัยอยู่ตามจอมปลวก ทุ่งนาหรือบริเวณที่มีความชื้นสูง ลักษณะลำตัวมีความยาวประมาณ 100-180 เซนติเมตร มีสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม สีเหลืองนวลหรือสีดำ เมื่อมีอาการตกใจหรือต้องการขู่ศัตรู งูเห่ามักจะทำเสียงขู่ฟู่ ๆ โดยจะพ่นลมออกมาทางรูจมูกและจะแผ่แผ่นหนังที่อยู่หลังบริเวณคอออกเป็นแผ่นด้านข้างเรียกว่า “แม่เบี้ย” โดยการตั้งส่วนหัวและคอขึ้น มีลายรูปวงแหวนสีขาว-ดำ อยู่ตรงกลางด้านหลังของส่วนคอ เรียกว่า ลายดอกจัน

2. งูจงอาง (King Cobra)

งูจงอาง เป็นงูที่มักอาศัยอยู่ตามป่าทึบและใกล้แหล่งน้ำ ตัวคล้ายงูเห่าแต่ขนาดใหญ่กว่า งูจงอางมีลำตัวยาวประมาณ 200-540 เซนติเมตร พบได้ทุกภาคของประเทศไทย หัวกลมทู่ใหญ่ เมื่อถูกรบกวนงูจงอางจะแผ่แม่เบี้ย ซึ่งสามารถแผ่แม่เบี้ยได้เหมือนกับงูเห่า แต่แม่เบี้ยของงูจงอางจะแคบกว่าแม่เบี้ยของงูเห่า ทำเสียงขู่คล้ายกับงูเห่า เป็นงูที่มีสีน้ำตาลแดงอมเขียวเป็นส่วนมาก สีอื่นก็มีขึ้นอยู่กับถิ่นที่อยู่อาศัย ท้องของงูจงอางจีสีเหลืองเกือบขาว ใต้คอมักมีสีแดงหรือส้ม นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นอีกหนึ่งอย่าง คือ มีเกล็ดท้ายทอยขนาดใหญ่ 1 คู่ ที่เรียกว่า “occipital scales”  อยู่บนศีรษะค่อนไปทางด้านหลังของเกล็ดกระหม่อม

3. งูสามเหลี่ยม (Banded Krait)

งูสามเหลี่ยม เป็นงูที่ออกหากินตอนกลางคืน เชื่องช้าตอนกลางวัน พบมากในประเทศอินเดีย บังกลาเทศ แต่ก็สามารถพบได้ทุกภาคของประเทศไทยเหมือนกัน ชอบอาศัยอยู่บริเวณที่ลุ่ม ทุ่งนาและป่าชายเลน เป็นหลัก ลำตัวยาวประมาณ 100-180 เซนติเมตร บางตัวอาจยาวถึง 200 เซนติเมตร เพศผู้จะมีขนาดค่อนข้างเล็กกว่าเพศเมีย ลำตัวมีสีดำสลับสีเหลืองสลับกัน โดยสีของส่วนท้องจะจางกว่าส่วนบน มีกระดูกสันหลังยกตัวสูงนูน เห็นเป็นลักษณะสามเหลี่ยมชัดเจน

4. งูทับสมิงคลา (Malayan Krait)

งูทับสมิงคลา เป็นงูที่ออกหากินตอนกลางคืน มีความว่องไวและมีพิษรุนแรงกว่างูสามเหลี่ยม มักจะอาศัยอยู่ตามพื้นดิน ใกล้แหล่งน้ำ และมีความชื้นสูง ลำตัวมีความยาวประมาณ 100-150 เซนติเมตร ลักษณะค่อนข้างกลม ลำตัวมีสีขาวสลับสีดำเป็นปล้อง ๆ ไม่มีสันที่หลังชัดเจน โดยในส่วนของเกล็ดสีขาวอาจจะมีสีดำปนอยู่บ้าง หัวเป็นสีดำปนเทา บริเวณท้องเป็นสีขาว หางเรียวยาวเล็กแหลม

5. งูแมวเซา (Russell’s Viper)

งูแมวเซา เป็นงูที่ออกหากินตอนกลางคืน มักจะอาศัยอยู่ตามโพรงดิน ซอกหิน พุ่มหญ้า ทุ่งนา และที่แห้ง เวลาตกใจหรือถูกรบกวน ก่อนที่จะโจมตีศัตรูมักจะขดตัวเป็นวงแล้วทำเสียงขู่คล้ายแมวหรือเสียงของยางรถยนต์รั่ว แม้ลำตัวจะดูเทอะทะไปหน่อยเพราะมีลำตัวอ้วนป้อม ลำตัวสั้น ความยาวประมาณ 90-150 เซนติเมตร แต่นี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะงูแมวเซาจู่โจมค่อนข้างเร็ว หัวเป็นทรงสามเหลี่ยม มีลายสีน้ำตาลเข้มคล้ายหัวลูกศร เกล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีลายเป็นรูปกลมสีน้ำตาลเข้ม 

6. งูกะปะ (Malayan Pit viper)

งูกะปะ เป็นงูที่ออกหากินตอนกลางคืน สามารถพบได้ทั่วประเทศ ชอบขดตัวนิ่งตามซอกหิน หรือใต้กองใบไม้ ชอบอาศัยในดินปนทรายตามสวนไร่และพื้นที่ลุ่มในป่าชื้น ลำตัวยาวประมาณ 50-80 เซนติเมตร บางตัวอาจจะยาวได้ถึง 100 เซนติเมตร เพศเมียจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าเพศผู้ ลักษณะลำตัวเป็นสีน้ำตาลแดงหรือสีน้ำตาลเทา มีลายสามเหลี่ยมสีน้ำตาลเข้ม มีขอบขาวเรียงเป็นแถวสองฝั่งของลำตัว หัวสีน้ำตาลเข้ม มีเส้นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีขาวพาดผ่านปลายจมูกและปากแหลม พิษของงูกะปะจัดเป็นพวกมีพิษทางโลหิต ( hemotoxin )แสดงอาการคล้ายพิษของงูแมวเซาแต่จะรุนแรงน้อยกว่า

7. งูเขียวหางไหม้ (White-lipped Pit viper)

งูเขียวหางไหม้ เป็นงูที่ออกหากินตอนกลางคืนตามพื้นดิน มักอาศัยอยู่ตามต้นไม้หรือใกล้แหล่งน้ำ พบบ่อยในสวนหรือใกล้บ้านคน เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ โดยเพศผู้มีความยาวเฉลี่ยอยู่ที่ 70 เซนติเมตร ส่วนเพศเมียความยาวประมาณ 90 เซนติเมตร ลักษณะลำตัวค่อนข้างอ้วนใหญ่ รูปร่างหัวเป็นรูปสามเหลี่ยม หางสั้น หัวและลำตัวสีเขียว ท้องสีเขียวอ่อน ผิวเรียบ ช่วงลำตัวจะใหญ่กว่าคออย่างเห็นได้ชัด ริมฝีปากและคางมักมีสีเหลือง สีขาว หรือสีเขียวอ่อนแต่จะอ่อนกว่าสีของลำตัวเล็กน้อย ปลายหางสีน้ำตาลแดง นอกจากนี้เพศผู้มักมีเส้นขาวพาดเกล็ดลำตัวแถวนอกสุดตั้งแต่คอถึงหาง

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

  • พยายามมีสติให้มากที่สุด ตั้งสติ หากใส่เครื่องประดับ หรือเสื้อผ้าที่กดรัดรอยแผลงูกัด ให้รีบถอดออกทันที
  • หากมีน้ำสะอาดและสบู่อยู่ ให้รีบล้างแผลทันที เนื่องจากสามารถลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือพิษงูที่ได้รับ
  • ให้ดามบริเวณที่ถูกงูกัด ด้วยผ้ายืดกระชับกล้ามเนื้อ ดามด้วยวัสดุที่มีลักษณะแข็ง เช่น ท่อนไม้ ท่อ PVC หรือกระดาษม้วนให้แข็ง เพื่อให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด
  • พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด เนื่องจากการเคลื่อนไหวหรือการหดตัวของกล้ามเนื้อจะทำให้พิษงูถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เร็วขึ้น
  • วางอวัยวะส่วนที่ถูกงูกัดให้ต่ำกว่าหรือให้อยู่ระดับเดียวกับหัวใจ
  • รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือเรียกรถพยาบาลมารับโดยทันที

ไม่ว่าจะเป็นงูพิษหรืองูไม่มีพิษ พวกเราก็อย่าได้ไว้ใจหรือประมาทโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัย หรือว่าใครที่ชอบเดินป่า หรือคนที่มีไร่ มีสวน ก็ต้องระมัดระวังด้วยเช่นกัน ไม่งั้นคุณอาจจะได้เจอกับ เจ้างูตัวร้ายพวกนี้ก็ได้นะคะ

ผู้เขียน

ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่