fbpx
Search
Close this search box.

วิธีจัดการเงินฉบับมหาเศรษฐี

หลายคนอาจคิดว่ามหาเศรษฐีหรือคนที่ร่ำรวยหลายคนเขาคงใช้เงินกันอย่างสนุกสนาน เอาไปใช้ชีวิตกันหรูหรา แต่หนึ่งในบทสัมภาษณ์ของนักวางแผนการเงิน ที่วางแผนให้กับเศรษฐีมากมาย กลับพบว่าที่จริงแล้วเศรษฐีเงินล้านเหล่านี้กลับมีวินัยในการใช้จ่าย และมีการบริหารจัดการเงินที่ดี จนเราคาดไม่ถึง

ซึ่งความมั่งคั่งสร้างความยั่งยืนมากกว่าการร่ำรวย เหล่าเศรษฐีหลายคนจึงต้องมีการวางแผนบริหารจัดการเงินที่ดี เพื่อให้นำเงินนั้นไปต่อยอดจนเกิดเป็นความมั่งคั่งไปเรื่อย ๆ ซึ่งครั้งนี้ ACU PAY จะมาเล่าเทคนิควิธีการจัดการเงินฉบับมหาเศรษฐี ที่ไม่มีสอนในโรงเรียน พร้อมแล้วเตรียมจดไปใช้ได้เลย

เทคนิคนี้มาจากบทสัมภาษณ์ของสำนักข่าว CNBC กับ คุณ Faron Daugs นักวางแผนการเงิน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัทที่ชื่อว่า Harrison Wallace Financial Group 

ซึ่งจากประสบการณ์ 30 ปี ที่เขาทำงานกับลูกค้าที่ส่วนใหญ่มีทรัพย์สิน มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 35 ล้านบาทขึ้นไป พบว่าลูกค้าผู้ร่ำรวยของเขาส่วนใหญ่ มีพฤติกรรมการใช้เงิน และบริหารจัดการเงิน ต่างจากที่เราคิดอยู่มาก ซึ่งมีทั้งหมด 5 ข้อตามนี้

1. ไม่ใช้จ่ายเกินตัว

การมีเงินแล้วนำเงินไปใช้จ่ายกับความสุขของตัวเองไม่ใช่เรื่องที่ผิด ถ้าเรามีรายได้ที่เพียงพอและไม่ใช้จ่ายเกินตัว จนตัวเองเดือดร้อนไม่มีเงินเก็บ หรือขั้นแย่ที่สุดคือการติดหนี้

โดยลูกค้าของคุณ Daugs ถึงจะเป็นคนที่มีรายได้สูง สามารถใช้จ่ายเท่าไหร่ก็ได้ตามใจชอบ แต่พวกเขากลับใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อความสบายให้ตัวเองบ้าง และไม่ใช้จนเกินตัว 

เช่น พวกเขาจะเลือกซื้อรถยนต์มือสองที่ผ่านการตรวจเช็กรับรองแล้ว แทนการซื้อรถยนต์มือหนึ่ง หรือเลือกซื้อตั๋วเครื่องบินชั้น Economy Plus ที่ราคาประหยัดกว่าชั้น First Class อีกทั้งอาจใช้โทรศัพท์เครื่องเดิม ไม่เปลี่ยนไปตามเทรนด์

2. ใช้บัตรเครดิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หลายคนอาจมองบัตรเครดิตในแง่ร้าย เพราะเป็นตัวสร้างหนี้ได้ถ้าใช้จ่ายไม่ระวัง แต่อีกด้านหนึ่ง บัตรเครดิตนั้นมีข้อดีอยู่ ถ้าเราใช้จ่ายให้เป็น แถมยังได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ กลับมาด้วย อย่างเช่น สามารถนำคะแนนบัตรเครดิตไปใช้แลกรางวัล ส่วนลด หรือเงินคืนต่าง ๆ ได้

ด้วยเหตุนี้ ลูกค้าผู้ร่ำรวยของคุณ Daugs หลายคน จึงวางแผนการใช้จ่าย ด้วยการจ่ายผ่านบัตรเครดิตมากกว่าการใช้เงินสด เพราะได้รับสิทธิประโยชน์เหล่านี้ และพวกเขายังไม่ลืมที่จะชำระยอดบัตรเครดิตเต็มจำนวนทุกเดือน เพื่อหลีกเลี่ยงการคิดดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียม

3. จ่ายเงินให้ตัวเองก่อน

การหักเงินออมไว้ก่อน ค่อยนำเงินที่เหลือไปจ่าย เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เรามีเงินเก็บ และสบายใจในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินเหลือใช้ในช่วงสิ้นเดือน 

ซึ่งการหักเงินค่อยใช้นี้ ทำให้เหล่าลูกค้าของคุณ Daugs เอาเงินที่เหลือไปใช้จ่ายตามใจชอบ ด้วยความสบายใจว่ามีแผนการออมเงินในระยะสั้นและระยะยาวสำรองไว้อยู่ และมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นทุกปี

4. เก็บเงินฉุกเฉินไว้เสมอ

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการเก็บเงิน คือการมีเงินสำรองฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ หรือตกงาน เป็นต้น ดังนั้นการมีเงินออมฉุกเฉินให้พอใช้จ่ายในแต่ละเดือน เป็นเรื่องสำคัญมาก

โดยทั่วไปผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินแนะนำให้มีเงินออมฉุกเฉินไว้ 3 – 6 เดือน ซึ่งลูกค้าของคุณ Daugs ส่วนใหญ่ จะมีเงินฉุกเฉินประมาณ 6 – 9 เดือน แต่จำนวนเงินที่เลือกออมนั้นขึ้นอยู่กับรายได้และระดับความสะดวกสบายของแต่ละคน

แต่คุณ Daugs นั้นแนะนำไม่ให้เก็บเงินฉุกเฉินไว้เพียงบัญชีธนาคารอย่างเดียว แต่ให้แบ่งเงินฉุกเฉินเก็บไว้เป็นชั้น ๆ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทน เช่น

  • ชั้นที่ 1 คือ เก็บเป็นเงินสดในบัญชีธนาคาร สำหรับถอนเงินออกมาใช้ได้ทันที
  • ชั้นที่ 2 คือ เก็บเป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าการฝากเงินในธนาคาร แต่ยังคงมีสภาพคล่อง ถอนออกได้ง่าย
  • ชั้นที่ 3 คือ เก็บเป็นกองทุนรวมดัชนี (Index Fund) เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว เหมาะกับเงินเย็น

5. มีหนี้แบบมีกลยุทธ์

ลูกค้าส่วนใหญ่ของคุณ Daugs มักจะไม่ก่อหนี้กับทรัพย์สินที่เสื่อมค่าได้ง่าย อย่างเช่น รถ หรือยานพาหนะอื่น ๆ แต่จะก่อหนี้กับทรัพย์สินที่มีโอกาสที่จะมีมูลค่าสูงขึ้น หรือนำไปใช้หาผลตอบแทนได้ อย่างเช่น บ้านและที่อยู่อาศัย แทน

อีกสิ่งที่สำคัญคือ พวกเขาจะรีบปิดหนี้บ้านให้เร็วที่สุด เพื่อลดการจ่ายดอกเบี้ยที่ไม่จำเป็น จากการเพิ่มขึ้นตามระยะเวลา

จะเห็นได้ว่า เศรษฐีหลายคนมีการวางแผนการเงินที่เรียบง่าย ไม่ต่างกันกับคนทั่วไปเลย ทั้งการควบคุมการใช้จ่าย มีเงินเก็บสำรองฉุกเฉิน และลงทุนกับหนี้ดี ก็สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับพวกเขาได้ไม่ยาก แล้วลองนำเทคนิคดี ๆ นี้มาปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเองดู รับรองว่าความมั่งคั่งเกิดขึ้นกับเราได้อย่างแน่นอน

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่