fbpx
Search
Close this search box.

รู้จัก ‘Greedflation’ เงินเฟ้อลด แต่ค่าครองชีพไม่ลด

รู้จัก ‘Greedflation’ เงินเฟ้อลด แต่ค่าครองชีพไม่ลด
เมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่ออัตราเงินเฟ้อมีการปรับลดลง ทำให้ค่าครองชีพไม่ลดตาม ครั้งนี้ ACU PAY จะพามาทำความรู้จักภาวะ ‘เงินเฟ้อจากความโลภของบริษัท’ หรือที่เรียกกันว่า ‘Greedflation’

เนื้อหา

ภาวะเงินเฟ้อเงินเฟ้อคืออะไร ?

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ภาวะเงินเฟ้อนั้น เกิดจาก ภาวะที่ข้าวของแพงขึ้นจากความต้องการสินค้าในตลาดที่สูงขึ้น และต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าสูงตาม

แต่ก็มีเงินเฟ้ออีกหนึ่งประเภทที่เหล่านักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์กำลังค้นพบถึงสัญญาณเงินเฟ้อนี้ว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความโลภของบริษัท เรียกว่า ‘Greedflation’ 

Greedflation คืออะไร ?

Greedflation คือ ภาวะที่ผู้ประกอบการหาเหตุผลในการขึ้นราคาสินค้าในอัตราที่สูงขึ้น โดยอ้างจากภาวะเศรษฐกิจและสงครามของเหตุการณ์โลก เช่น วัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคเชื่อว่าการขึ้นราคาสินค้ามีความสมเหตุสมผล จึงยอมจ่ายราคาที่สูงขึ้น จนสุดท้ายแล้วผู้ประกอบการสามารถขึ้นราคาสินค้ามากกว่าราคา ทำให้อัตรากำไร (Profit Margin) ปรับตัวขึ้นตามมา พร้อมทำให้ภาวะเงินเฟ้อเลวร้ายลง 

แต่เมื่อต้นทุนกลับมาลงตามปกติ ราคาสินค้าเหล่านี้กลับไม่ลงตาม ซ้ำยังคงราคาเดิมไว้ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าค่าครองชีพ ‘สูงขึ้น’ทุกปี กลายเป็นภาระของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายนี้ต่อไป และนี่จึงเป็นคำที่มาของคำว่า ‘Greedflation’ ซึ่ง Greed แปลว่า ความโลภ ที่เกิดจากองค์กร/บริษัท นั่นเอง

ภาวะเศรษฐกิจ กับ โอกาสทองในการ ‘เพิ่มกำไร’

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ มานูเอ็ล อัลบีเคซิส (Manuel Albecasis) เขาคาดการณ์ว่า อัตรากำไรบริษัทยังคง ‘สูง’ ในปี 2567 แม้ว่าต้นทุนได้ลดลง 3% ตั้งแต่ปีที่แล้วก็ตาม สาเหตุก็เป็นเพราะหลายบริษัทเลือก ‘คงราคาขาย’ ที่ปรับขึ้นนี้ไว้ แม้ว่าต้นทุนลดลงหรือห่วงโซ่อุปทานกลับมาปกติแล้วก็ตาม

จากข้อมูลรายงานของ KGI Wealth Management Research ระบุว่า กำไรต่อหน่วยของบริษัท (Unit Profit) เร่งตัวขึ้นเร็วกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 14 %  โดยบริษัทเหล่านั้นให้เหตุผลกับผู้บริโภคว่า พวกเขามีต้นทุนสูงขึ้นจากทั้งมาตรการล็อกดาวน์ช่วง COVID-19 และถูกซ้ำเติมโดยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้อัตรากำไรต่อหน่วย (Unit Profit Margin) ของบริษัทพุ่งสูงจากระดับก่อน COVID-19 ที่ 12.1% จนล่าสุดอยู่ที่ 14.7% (เคยทำระดับสูงสุดที่ 16.4 % ในไตรมาส 1 ปี 2021) 

นอกจากนี้ ตามผลการศึกษาของกลุ่มคลังสมอง The Institute for Public Policy Research ที่ได้สำรวจ 1,350 บริษัททั่วสหรัฐ สหราชอาณาจักร ยุโรป บราซิล และแอฟริกาใต้ พบว่า กำไรของบริษัท โดยเฉพาะบริษัทด้านพลังงาน ได้เพิ่มขึ้น 30% ระหว่างปี 2562-2565 จนแซงหน้าอัตราเงินเฟ้อ 

ประเด็นข้อถกเถียงของ Greedflation

ที่ผ่านมาซีอีโอบริษัทรายใหญ่ ได้ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อว่าเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของบริษัท แต่นักวิเคราะห์บางคนอย่าง อัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ดส์ (Albert Edwards) จาก โซซิเอเต้ เจเนเรล (Société Générale บริษัทข้ามชาติสัญชาติฝรั่งเศสในธุรกิจธนาคารและการจัดการการเงิน) ออกมาวิจารณ์ซีอีโอเหล่านั้นใช้สงครามเป็นข้ออ้างในการเพิ่มราคาเพื่อหากำไรมากกว่า ที่ควร และควรมีการตรวจสอบที่ชัดเจน ไม่อย่างนั้นสิ่งนี้อาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจได้

แต่ถึงอย่างนั้น ในอีกด้านหนึ่งกลับมีนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่า ไม่ใช่ทุกบริษัทจะผลักภาระให้ผู้บริโภค แต่เพราะด้วยการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายกว่าแต่ก่อน การขึ้นราคาสินค้าเหล่านี้อาจทำให้บริษัทสูญเสียส่วนแบ่งตลาดได้ เพราะพวกเขาต้องแบกรับทั้งต้นทุนที่สูงขึ้นและต้องกังวลถึงการเสียลูกค้าจากการขึ้นราคาได้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับธุรกิจที่มีคู่แข่งจำนวนมาก   

อ้างอิงจาก

ผู้เขียน

ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่