fbpx
Search
Close this search box.

NFT มีมูลค่าจากอะไร? หากต้องการลงทุนยังมีอุปสรรคอะไรบ้าง?

       ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาสินทรัพย์ดิจิตอล (Digital asset)ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และค่อนข้างที่จะมีมูลค่าพอสมควร หนึ่งในนั้นที่มาแรง และเป็นกระแสอยู่คือ NFT ซึ่งเราจะคุ้นเคยกันดีว่าเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะในรูปแบบดิจิตอล ที่ไม่แพงแค่เก็บความสวยงาม แต่ยังเก็บมูลค่าไว้มากมาย เรามาลองดูกันครับว่า เพราะอะไร NFT ถึงมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน และยังมีอุปสรรคอะไรบ้างที่กำจัดการเติบโตของ NFT  

NFT

NFT คืออะไร ?

     ” NFT ย่อมาจากคำว่า Non-fungible tokens ” ซึ่งแปลความหมายคร่าวๆ ได้ว่า “โทเคนที่ไม่สามารถทดแทนได้” จัดเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งซึ่งสามารถใช้รับรองความถูกต้อง (Certificate of authenticity) และพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ (Proof of ownership) หรือให้สิทธิในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาทางดิจิทัล (Digital content) อาทิ รูปภาพ ภาพถ่าย ดนตรี หรือสินทรัพย์ทางกายภาพ (Physical asset) เช่น ที่ดิน หรืออาจกล่าวได้ว่า NFT ทำหน้าที่เหมือนหนังสือเอกสารสิทธิ์ที่อยู่ในรูปแบบโทเคนดิจิทัล 

      นอกจากนี้ NFT แต่ละโทเคนมีลักษณะเฉพาะซึ่งแตกต่างจากโทเคนอื่น ทำให้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนหรือทดแทนด้วยโทเคนอื่นหรือแบ่งแยกเป็นหน่วยย่อยได้ แต่สามารถซื้อขายและระบุเงื่อนไขสัญญา/ ข้อตกลงบน Smart contract[2] ได้ 

      โดย NFT จะทำการบันทึกลักษณะเฉพาะของโทเคนนั้นๆ บนเครือข่ายบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งตั้งอยู่บนเทคโนโลยี DLT (Distributed Ledger Technology) ทำให้ทุกคนในระบบสามารถเห็นข้อมูลและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลนั้นได้

NFT มีมูลค่าจากอะไร ?

      จากงานวิจัยกรุงศรีเผยแพร่รายงาน Research Intelligence สรุปปัจจัยที่ผลักดันมูลค่าของ NFT เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ ดังนี้

  • ความชื่นชอบและคุณค่าทางจิตใจต่อผลงานหรือศิลปิน เช่น รูปศิลปะของศิลปินระดับโลก หรือการสนับสนุนศิลปิน นักร้อง นักกีฬาที่เป็นที่ชื่นชอบ
  • สิทธิประโยชน์จากการถือครอง NFT เช่น ผู้ถือครองจะได้รับสิทธิ์ในการได้รับสินค้าหรือบริการ ได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นสัดส่วนตามที่ระบุไว้หากสินทรัพย์นั้นก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต ได้สิทธิ์ในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์นั้น หรือสิทธิ์อื่นๆ ที่เฉพาะเจาะจง
  • สถานภาพทางสังคม โดยการถือครอง NFT อาจสะท้อนภาพลักษณ์ในฐานะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทันสมัย กล้าลองเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีเงิน
  • การก่อให้เกิดชุมชน (Community) ที่ชื่นชอบหรือสนใจในสิ่งเดียวกัน ซึ่งสมาชิกในชุมชนมักจะพยายามเกื้อหนุนให้ชุมชนนั้นอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน ราคาของ NFT จึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนสมาชิกในชุมชนหรือการสนับสนุนของคนในชุมชน
  • การเก็งกำไรและขายต่อในอนาคต เนื่องจาก NFT มีลักษณะเฉพาะและมีจำนวนจำกัด นักลงทุนจึงเข้าซื้อโดยหวังว่าจะได้ผลตอบแทนจากการถือครองหรือได้กำไรเมื่อขายต่อในอนาคต

NFT ยังมีอุปสรรคอะไรบ้าง? หากต้องการให้ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย

       จากงานวิจัยกรุงศรีเผยแพร่รายงาน Research Intelligence สรุปปัจจัยที่ทำให้ NFT ยังใช้ในวงจำกัดอยู่ ดังนี้

1. การฟอกเงิน (Money Laundering)

       เนื่องจากแพลทฟอร์ม NFT ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มีขั้นตอนการทำความรู้จักลูกค้า (Know-your-customer: KYC) น้อยมากหรือแทบไม่มีเลย เช่น แพลทฟอร์ม OpenSea ตรวจสอบลูกค้าผ่านเงื่อนไขการมีกระเป๋าเงิน Ethereum (Ethereum wallet) เท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลอื่นเพิ่มเติมเลยหากต้องการขาย NFT และรับค่าตอบแทนเป็นเงินคริปโต นอกจากนี้ การซื้อขายดังกล่าวทำบนเทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้ทั้งคนซื้อและคนขายไม่สามารถระบุตัวตนของอีกฝ่ายได้และไม่มีการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินตลอดจนการประเมินมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ที่ซื้อขายว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ อีกทั้งข้อกฎหมายและกฎระเบียบปัจจุบันยังเข้าไม่ถึงตลาด NFT หน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศจึงกังวลว่าจะอาจมีการใช้ตลาดซื้อขาย NFT เป็นแหล่งฟอกเงิน ทั้งนี้ในอนาคต มีความเป็นไปได้ว่าอาจต้องกำหนดให้ผู้ซื้อและผู้ขาย NFT ต้องทำ KYC เบื้องต้น อย่างการระบุ ชื่อ-นามสกุลจริงของผู้ซื้อและผู้ขาย การพิสูจน์แหล่งที่มาของเงิน และเอกสารต่างๆ ก่อนที่การซื้อขายแลกเปลี่ยนจะเกิดขึ้น ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้อาจขัดกับหลักการกระจายศูนย์ของตลาด NFT ได้

2. ความปลอดภัย (Security Concerns)

       เมื่อตลาด NFT เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของการซื้อขายบนตลาด NFT ตลอดจนการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของที่แท้จริงย่อมเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในการถูกขโมยข้อมูลบัตรเครดิตไปซื้อ NFT และโอน NFT นั้นออกไปจากบัญชีผู้ซื้อ การขโมย NFT โดยตรง การเลียนแบบ NFT ต้นฉบับ หรือการนำสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ของตัวเองมาสร้าง NFT โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ เป็นต้น ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยเหล่านี้จึงยังเป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่งที่ต้องแก้ไขก่อนที่จะมีการใช้ NFT อย่างแพร่หลาย

แนวทางการแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นไปได้หลากหลายวิธี เช่น 

    1. การแก้ปัญหาการถูกโจรกรรมข้อมูลด้วยระบบการยืนยันตัวตนสองชั้น หรือ 2FA (Two-factor authentication) เพื่อเข้าบัญชีหรือซื้อขาย NFT เหมือนระบบที่ธนาคารพาณิชย์ใช้ในปัจจุบัน 
    2. การแก้ไขปัญหาการปลอม NFT ด้วยกระบวนการตรวจสอบจากหน่วยงานกลางก่อนที่จะนำ NFT ขึ้นระบบ หรือกำหนดระยะเวลารอคอยเพื่อตรวจสอบการซื้อขายก่อนที่จะมีการโอนสิทธิ์จริง (After-sale cooling period) เพื่อกันการหลอกลวงผู้บริโภค โดยในปัจจุบัน โลกของสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะเงินคริปโตส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกกำกับด้วยหน่วยงานกลาง ผู้สร้างแพลตฟอร์ม NFTM จึงควรพยายามสร้างระบบดูแลความปลอดภัย ทั้งด้านข้อมูลและสินทรัพย์ของลูกค้าอย่างเคร่งครัด

3. ความเชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริงในระดับต่ำ (Difficult real-world linkage)

      NFT ทำหน้าที่เหมือนโฉนดที่ดินหรือใบกรรมสิทธิ์ ซึ่งในโลกความเป็นจริง โฉนดที่ดินหรือใบกรรมสิทธิ์ไม่ใช่สินทรัพย์ แต่เป็นเพียงหลักฐานที่ระบุสิทธิ์ให้คนที่มีชื่อบนโฉนดที่ดินหรือใบกรรมสิทธิ์นั้นมีสิทธิ์ความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์นั้นๆ ตามที่ระบุไว้ แม้ว่า NFT บางโปรเจคจะให้สิทธิ์ในสินทรัพย์จริงอย่างที่ดินหรือสินค้าอื่นๆ แก่ผู้ครอบครอง NFT แต่ในปัจจุบัน NFT ส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีกฎหมายรองรับ การจะถือครองสิทธิ์ในสินทรัพย์จริงผ่าน NFT จึงไม่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย แต่เป็นเพียงข้อตกลงที่ไม่เป็นทางการระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเท่านั้น จึงยากที่จะบังคับใช้ในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ การซื้อขายข้ามพรมแดนอยู่ภายใต้กฎหมายที่มีการกำหนดสิทธิ์ที่แตกต่างกัน การซื้อขายดังกล่าวผ่าน NFT จึงต้องอาศัยความร่วมมือและมาตรฐานระหว่างประเทศที่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนา อีกประเด็นที่มีการกล่าวถึงคือการตรวจสอบสิทธิ์ความเป็นเจ้าของใน NFT ในปัจจุบันก็ยังทำได้จำกัดแม้กระทั่งภายในแพลตฟอร์ม NFTM เดียวกัน ความเสี่ยงของผู้ซื้อจึงขึ้นอยู่กับความปลอดภัยและเสถียรของแพลตฟอร์มนั้นๆ

4. การเข้าถึงที่ยังคงจำกัด (Inaccessibility)

      NFT ส่วนใหญ่ตั้งเงื่อนไขให้ผู้ใช้ต้องมีกระเป๋าเงินคริปโตจึงจะสามารถซื้อขาย NFT ได้ ในขณะเดียวกันศิลปินหรือผู้สร้าง NFT จำเป็นต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับบล็อกเชนเพื่อสามารถตัดสินใจกำหนดคุณลักษณะต่างๆ ของ NFT ที่จะสร้างได้ เช่น จะสร้าง NFT บนบล็อกเชนใด จะเลือกมาตรฐานของโทเคนแบบไหน จะระบุสัญญาอย่างไร หรือจะเลือกรับเงินในสกุลใด เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้ ณ ขณะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่คุ้นเคยและเข้าใจเกี่ยวกับเงินคริปโต และคุ้นเคยกับการใช้แอปพลิเคชันแบบไม่มีตัวกลาง หรือ DApps (Decentralized applications) อยู่แล้ว กลุ่มผู้ใช้ในปัจจุบันจึงกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนหัวก้าวหน้า (Early Adopters) หรือกลุ่มเฉพาะที่มีเป้าหมายร่วมกันเท่านั้น ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจยังไม่เข้าใจหรือไม่เชื่อถือในเทคโนโลยีหรือประโยชน์ที่จะได้จากการถือครอง NFT อย่างไรก็ตาม ผู้สร้าง NFT พยายามจะบรรเทาปัญหานี้ด้วยการออกแบบแพลตฟอร์มให้ง่ายต่อการใช้ และเพิ่มประสบการณ์ที่ดี (User Experience: UX) ให้แก่ผู้ใช้งานเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานในระบบ เช่น Nifty Gateway อนุญาตให้ซื้อ NFT ได้ด้วยการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต หรือ OpenSea ที่เพิ่งเปิดให้ผู้ซื้อสามารถชำระค่า NFT ด้วยบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือ Apple Pay ได้ เพื่อตัดกระบวนการเกี่ยวกับการถือครองเงินคริปโตออกไป

      อย่างไรก็ตามโลกของเราพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อนๆ คาดว่าเมื่อเราสามารถที่จะเข้าไปอยู่ในโลกดิจิตอลได้เหมือนโลกปกติ การใช้ชีวิต หรือแม้แต่การสร้างหรือซื้อสินทรัพย์ดิจิตอลของเราจะเป็นอย่างไรบ้างครับ

เพื่อนๆสามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่

บทความที่เกี่ยวข้อง