fbpx
Search
Close this search box.

อัตราดอกเบี้ยมีกลไกทำงานทำอย่างไร ก่อนจะส่งผลมาถึงเรา

อัตราดอกเบี้ยมีกลไกทำงานทำอย่างไร ก่อนจะส่งผลมาถึงเรา​

             อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือของธนาคารแห่งประเทศที่ใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินเพื่อไม่ให้เกิดสภาวะที่เลวร้ายต่อเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ สงสัยไหมครับว่าแล้วอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหล่านี้จะมารักษาเสถียรภาพได้อย่างไร และส่งผ่านมาถึงเราได้อย่างไร วันนี้เราลองมาดูกันครับ

สารบัญ

อัตราดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร

         “อัตราดอกเบี้ย” คือ ต้นทุนที่ผู้กู้ต้องจ่ายเมื่อกู้เงิน หรือ ผลตอบแทนที่ผู้ฝากได้รับเมื่อฝากเงิน ซึ่ง “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” นั้นจะกำหนดโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ อย่างประเทศไทยก็คือ ธนาคารแห่งปรเทศไทย สหรัฐฯเราจะเรียกว่า “เฟด” ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญเป็นอย่างมากเพราะจะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจตามในหลายๆด้าน หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายเปรียบเสมือนฐานดอกเบี้ยในประเทศนั้นๆ นั่นเอง 

           อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นอัตราที่ธนาคารกลาง ในแง่การฝากเงิน หรือการกู้เงิน ธนาคารกลางจะจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ที่นำเงินมาฝาก หรือธนาคารกลางเป็นคนเก็บดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลต่อไปยังอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้าที่เป็นผู้กู้หรือผู้ฝากเงินต่อไปนั่นเอง

การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยทำได้อย่างไร

 การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยจะส่งผลกระทบผ่านระบบการเงินในช่องทางต่าง ๆ 5 ช่องทาง ได้แก่

    1. ช่องทางอัตราดอกเบี้ย (Interest rate channel)
    2. ช่องทางสินเชื่อ (Credit channel)
    3. ช่องทางราคาสินทรัพย์ (Asset price channel)
    4. ช่องทางอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange rate channel)
    5. ช่องทางการคาดการณ์ (Expectations channel)

         โดยการส่งผ่านภายใต้ช่องทางเหล่านี้จะขยายวงกว้างไปสู่การเปลี่ยนแปลงของการใช้จ่ายและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจและจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตและอัตราเงินเฟ้อในที่สุด

อัตราดอกเบี้ยมีกลไกทำงานทำอย่างไร ก่อนจะส่งผลมาถึงเรา​

1. ช่องทางอัตราดอกเบี้ย (Interest rate channel)

          เมื่อธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายโดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินปรับตัวลดลงตาม ราคาที่มีความหนืด (Sticky price) จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ยในรูปตัวเงิน (nominal interest rate) หักด้วยผลของเงินเฟ้อ ปรับลดลงในระยะสั้นก่อนแล้วจึงจะส่งผลถึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาว นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยสามารถอธิบายได้จากการบริหารงานของสถาบันการเงิน กล่าวคือ เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินลดลง สถาบันการเงินจะมีการปรับการบริหารสินทรัพย์ของตนเองใหม่ (portfolio adjustment) ให้เกิดความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและการทำกำไร และส่งผลให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ลงในที่สุด

          จากที่กล่าวมา การปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะส่งผลให้ต้นทุนในการบริโภคและลงทุนต่ำลง ส่งผลให้การลงทุนและการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศสูงขึ้นและเป็นแรงกดดันทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัว

            กระบวนการส่งผ่านของช่องทางนี้สามารถอธิบายได้อีกทางหนึ่งจากการคาดการณ์ระดับราคา (Expected price level) กล่าวคือ

            ผลของนโยบายที่ผ่อนคลายทำให้การคาดการณ์ระดับราคา (Expected price level) และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ (Expected inflation) สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจึงลดลงและส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวดังที่กล่าวมาแล้ว

2. ผลจากช่องทางสินเชื่อ (Credit channel)

        เมื่อธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายโดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในตลาดเงินปรับลดลง ภาระหนี้สินของภาคธุรกิจจะบรรเทาลงตามไปด้วยและส่งผลให้ฐานะการเงินของภาคธุรกิจเข้มแข็งขึ้น สถาบันการเงินก็จะยินดีที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจมากขึ้นเนื่องจากความเสี่ยงลดลง ทำให้ภาคธุรกิจสามารถขยายการลงทุนและสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัว​

3. ผลจากช่องทางมูลค่าสินทรัพย์ (Asset price channel)

           เมื่อธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายโดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินปรับลดลง ประชาชนจะหันไปออมเงินในรูปแบบอื่นแทนการออมในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยมากขึ้น อาทิ บ้าน ที่ดิน หุ้น เป็นต้น ความต้องการถือครองสินทรัพย์เหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ราคาสูงขึ้นด้วย ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีความมั่งคั่ง (Wealth) มากขึ้น และมีส่วนช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ สำหรับนอกจากนี้ การที่ราคาหลักทรัพย์ของธุรกิจสูงขึ้น จะทำให้มูลค่าของธุรกิจ (Market value of firm) เพิ่มขึ้นเช่นกันและเพิ่มความคุ้มค่าต่อการขยายการลงทุน ทั้งนี้ การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนจะส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศและผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศขยายตัวสูงขึ้นในที่สุด

4. ผลช่องทางอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange rate channel)

          เมื่อธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายโดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินปรับลดลง ผลตอบแทนของการลงทุนในประเทศที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศจะก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปยังประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ทั้งนี้ การไหลออกของเงินทุนจะเป็นแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง ส่งผลให้การส่งออกเพิ่มขึ้นและเป็นการสร้างงานและรายได้ กอปรกับช่วยกระตุ้นให้เกิดการอุปโภคบริโภคมากขึ้น ขณะเดียวกัน ค่าเงินที่อ่อนลงจะทำให้การนำเข้าลดลงอีกทางหนึ่ง ดังนั้น การส่งออกสุทธิ (Net export) ของประเทศจึงเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศโดยรวมขยายตัวสูงขึ้น

5. ผลจากช่องทางการคาดการณ์ (expectations channel)

          การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินจะส่งผลกระทบต่อการคาดการณ์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประชาชน ประกอบด้วยภาวะเงินเฟ้อ การจ้างงาน การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ รายได้ในอนาคต และผลกำไร/ขาดทุน ซึ่งผลกระทบต่อการคาดการณ์นี้จะมีส่วนกำหนดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ของภาคเอกชน ทั้งนี้ ผลกระทบของนโยบายการเงินผ่านช่องทางนี้ มีความไม่แน่นอนสูงกว่าช่องทางอื่นๆ เนื่องจากขึ้นอยู่กัยการตีความของภาคเอกชนเกี่ยวกับผลกระทบของการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน เช่น ตลาดอาจจะมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของทางการเป็นการส่งสัญญานว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวสูงขึ้นในอนาคตจากผลของนโยบาย ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจที่จะบริโภคและลงทุนมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ตลาดอาจมองว่าเศรษฐกิจจะอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจและทำให้มีการชะลอการบริโภคและลงทุนในที่สุด

         สำหรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ หรือ Inflation forecast เป็นแนวทางในการสร้างอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectations) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดอัตราการเพิ่มของค่าแรงงานและอัตราเงินเฟ้อ (ที่เกิดขึ้นจริง) ในแต่ละปี และเป็นปัจจัยที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของระบบอีกด้วย ดังนั้น ประเทศที่ใช้กรอบ Inflation targeting เป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงิน จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Anchor inflation expectation) ของตลาดและภาคเอกชนไว้ ด้วยการประกาศเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ (Inflation target) 

           เป็นอย่างไรบ้างครับพอจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นไหมครับว่าการขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ยจะถูกส่งผ่านมาหาเราอย่างไร ถึงจะเป็นในแง่ของมหภาค เป็นส่วนที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ส่งที่เราควรทำคือปรับตัวไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อรับให้ดีที่สุด ณ ช่วงเวลานั้นๆ

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆสามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่